นักวิชาการจุฬาฯ ชี้เป็นไปได้น้อยมาก มุสลิมอุยกูร์ เอี่ยวบึมราชประสงค์
ผอ.ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ยันรัฐบาลไทยส่งชาวอุยกูร์ 109 คน กลับจีน ไม่เกี่ยวระเบิดแยกราชประสงค์ ด้าน ดร.สุภางค์ จันทวา นิช แนะรัฐไทยคัดกรอง 59 อุยกูร์ที่เหลืออย่างประณีต แยกให้ชัดผู้ลี้ภัย ไม่ใช่ผู้ลี้ภัย
วันที่ 25 สิงหาคม ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาบงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “ ตุรกี-อุยกูร์-จีน” กับปัญหาผู้อพยพข้ามชาติ และทางออกของไทย ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาฯ
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุภางค์ จันทวานิช รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงปัญหาผู้อพยพข้ามชาติในศตวรรษที่ 21 ว่า ลักษณะการเคลื่อนย้ายจะเล็กลงเรื่อยๆ จากอดีตการเคลื่อนของผู้อพยพมีจำนวนเป็นเรือนแสน ปัจจุบันเหลือจำนวนร้อย หรือพันคน อีกทั้งยังมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้ยากต่อการจัดการปัญหา
สำหรับการปฎิบัติต่อกลุ่มคนอพยพ ผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะชาวอุยกูร์นั้น ศ.กิตติคุณ ดร.สุภางค์ กล่าวว่า ชาวอุยกูร์ ไม่ต่างจากชาวทิเบต แค่ชาวอุยกูร์ ไม่มีผู้นำ อย่างองค์ดาไลลามะ เท่านั้นเอง ส่วนการอพยพของชาวอุยกูร์ ที่ถูกรัฐบาลจีนกดดันนั้นก็ออกมาหลายทิศทาง
“ผู้ลักลอบเข้าเมืองชาวอุยกูร์ รัฐบาลไทยไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ชาวอุยกูร์เป็นใคร จะสื่อสารกันอย่างไร ทำให้ยากต่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เริ่มต้นจึงต้องให้เป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายไว้ก่อน แทนเป็นผู้ลี้ภัย” รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย กล่าว และว่า ฉะนั้นการรับมือปัญหาอพยพข้ามชาติจำเป็นต้องได้รับการฝึกฝน การสื่อสาร ถามให้เป็น เช็คข้อมูลข้อเท็จจริง ก่อนประเมินว่า จะช่วยเหลือผู้อพยพแบบไหน
ศ.กิตติคุณ ดร.สุภางค์ กล่าวด้วยว่า หวังรัฐบาลไทยจะคัดกรอบชาวอุยกูร์ที่เหลือในประเทศโดยประณีต เพื่อแยกผู้ลี้ภัย และไม่ใช่ผู้ลี้ภัย พร้อมกับตั้งคำถามว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ปัจจุบันนี้ยังเหมาะอยู่ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือไม่ หรือควรไปอยู่ตรงอื่นของโครงสร้างในระบบบริหารราชการไทย
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวถึงเหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์ มุมมองในฐานะรัฐศาสตร์ คิดว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเกี่ยวพันกับชาวอุยกูร์ หรือไปเกี่ยวข้องกับการที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยส่งชาวอุยกูร์ 109 คน กลับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
“ไทยไม่ใช่เป้าหมาย ประชากรส่วนใหญ่ก็ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม ไทยเป็นเมืองพุทธ การมาก่อเหตุจึงเป็นการสร้างศัตรูโดยใช่เหตุ ยิ่งทำลักษณะนี้จะเสียการเมืองมาก อีกทั้งขบวนการชาวอุยกูร์ ทราบดีว่า ยังมีชาวอุยกูร์อีก 59 คน ตกค้างอยู่ในประเทศไทย การมาก่อเหตุยิ่งไม่เป็นผลดีใหญ่ และไปเข้าทางรัฐบาลจีนประกาศว่า เป็นขบวนการก่อการร้าย”
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวถึงประเด็นการก่อการร้ายกับชาวสมุสลิมอุยกูร์นั้น ต้องแยกระหว่าง 1.ก่อการร้ายระดับสากล นิยามของประเทศมหาอำนาจสหรัฐฯ กับ 2.กลุ่มติดอาวุธมุสลิมที่เคลื่อนไหวระดับท้องถิ่นเพื่อเรียกร้องเอกราช ซึ่งเราต้องแยกให้ได้ว่า ไม่มีความเชื่อมโยงกัน แม้ว่า ในระดับปัจเจกอาจเชื่อมโยงได้ แต่ไม่ควรเหมารวมทั้งหมด
ด้านนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การส่งชาวอุยกูร์ไปตุรกีทำดีแล้ว แต่การส่งชาวอุยกูร์ 109 คน ส่งกลับประเทศจีนนั้น ไม่ได้มีกระบวนการยุติธรรมให้ผู้ถูกกล่าวหาแสดงตัวตนเพื่อปกป้องตนเองเลย
กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีระบบกลั่นกรอง ทั้งแรงงานข้ามชาติ แรงงานค้ามนุษย์ หรือผู้ลี้ภัย คนเหล่านี้สิ่งไทยควรยึดหลักมนุษยชนมากกว่าตัวบทกฎหมาย หรือนโยบายความมั่นคงอย่างเดียว
“การยึดกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองอย่างเดียวไม่พอ การดูแลคนเหล่านี้ ต้องยึดหลักมนุษยชน และไม่ส่งกลับเมื่อพบว่า เขามีความเสี่ยงต่อชีวิต”นพ.นิรันดร์ กล่าว และว่า ชาวอุยกูร์ที่เหลืออีก 59 คน ประเทศไทยต้องยึดหลักสิทธิมนุษยธรรม เป็นเรื่องของพลเมืองโลก มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่เลือกปฏิบัติ