จะช่วยชาวประมงอย่างไรให้อยู่รอดโดยถูกกฎหมาย
ปัจจุบันเราทราบกันดีว่าชาวประมงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพไม่ถูกกฎหมาย อันเนื่องมาจากคนไทยไม่ยอมทำงานหนักจึงขาดแคลนแรงงานด้านประมง การแก้ปัญหาจึงได้นำคนต่างด้าวมาทำงานแต่แรงงานต่างด้าวก็ไม่เพียงพอ ผู้ประกอบอาชีพประมงจึงตกเป็นเบี้ยล่างของแรงงาน แต่ข่าวที่ออกไปเป็นเรื่องนายจ้างเอาเปรียบแรงงานต่างด้าว จึงเป็นส่วนหนึ่งของการกล่าวหาว่าการประมงของไทยค้ามนุษย์ ซึ่งทุกอาชีพย่อมมีผู้กระทำผิดกฎหมายบ้างแต่เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น แม้จะทำงานตำแหน่งใหญ่โตหรือประชาชนธรรมดาก็มีกระทำผิดให้เห็น
ดังนั้น เราต้องมาดูความจริงแล้วหาทางแก้ปัญหาที่ต้นเหตุและด้วยเหตุด้วยผล ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจทั้งฝ่ายผู้ถูกปกครองและฝ่ายผู้ปกครอง ไม่มีผู้ถูกปกครองรายใดที่คิดจะต่อสู้กับผู้ปกครองหรอกแต่เขาขอให้ผู้ปกครองเข้าใจปัญหาและช่วยแก้ปัญหาให้เขาเพื่อเขาจะได้ปฏิบัติตามอย่างสุจริต เพราะต้องการมีอาชีพเลี้ยงครอบครัวเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆทั่วไป ในฐานะที่ผมเคยเป็นชาวประมงมาก่อน จึงอยากนำเรียนสภาพปัญหาของชาวประมงและวิธีการแก้ไขที่ชาวประมงเขาบอกมาให้ท่านผู้มีอำนาจได้รับทราบ ดังนี้
ข้อเท็จจริงในการประกอบอาชีพประมง สามารถแบ่งประเภทกิจการประมงเป็น 3 ประเภท ดังนี้
(1) ประมงพื้นบ้าน คือ ประมงตามชายฝั่ง กรณีนี้เรือประมงจะเข้าและออกทุกวันเป็นเรือเล็กๆ ยาวประมาณ 4-5 เมตร การประกอบอาชีพจะมีลักษณะเป็นครอบครัว หรือมีลูกเรือประมาณ 3-4 คน กรณีนี้อาจมีแรงงานต่างด้าวบ้าง กรณีนี้ การเดินเรือจะไม่มีเอ็นจิเนียร์ (ผู้ประจำเครื่อง) คงมีแต่นายท้ายเรือ (ผู้ขับเรือ) ทำหน้าที่เป็นอินจิเนียร์ไปด้วย เช่น เรืออวนเคย เรืออวนรุนเล็ก เรืออวนโป๊ะ เป็นต้น กรณีนี้รัฐเข้าใจจึงไม่มีสภาพปัญหา
(2) ประมงขนาดกลาง คือ ประมงที่เป็นเรือขนาดกลาง ยาวประมาณ 6-16 เมตร น้ำหนักประมาณไม่เกิน 60 ตันกรอส ออกไปทำประมงในทะเลที่ไกลจากฝั่ง หลายๆวันจึงจะเข้าฝั่ง มีคนงานประมาณ 5-10 คน ในเรือจะมีไต๋กง (ผู้ชำนาญในการหาปลา) ทำหน้าที่เอ็นจิเนียร์และนายท้ายเรือ คนงานส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างชาติ กรณีนี้รัฐยังไม่มีความเข้าใจโดยนำหลักเกณฑ์ ที่ใช้กับเรือใหญ่มาใช้บังคับ ซึ่งสภาพเรือมีลักษณะแบบเรือเล็ก ต่างกันตรงที่เรือเล็กไม่ต้องมีไต๋กง กิจการประมงประเภทนี้มีจำนวนมาก และประสบปัญหามากที่สุด ได้แก่ เรืออวนไดหมึก เรืออวนปลากะตัก เรืออวนลากขนาดเล็ก เป็นต้น
(3) ประมงขนาดใหญ่ คือ ประมงที่มีขนาดเรือใหญ่ มีน้ำหนักเกินกว่า 60 ตันกรอส ขึ้นไป ออกไปทำประมงในทะเลที่ไกลจากฝั่งหรือมหาสมุทร หลายๆวัน หรือเป็นเดือนจึงจะเข้าฝั่ง มีคนงานประมาณ 10 คนขึ้นไป ในเรือจะมีไต๋กง (ผู้ชำนาญในการหาปลา) ทำหน้าที่สั่งการทั้งหมด มีผู้ทำหน้าที่เอ็นจิเนียร์ และมีผู้ทำหน้าที่นายท้ายเรือ คนงานส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างชาติ กรณีนี้ เรือทุกลำจึงสามารถปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องเอ็นจิเนียและนายท้ายเรือได้ จึงไม่เกิดปัญหาในการที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย
สภาพปัญหาของประมงขนาดกลาง
1. ปัญหาเรื่องนายท้ายเรือและเอ็นจิเนียร์ กล่าวคือ ตัวเรือประมงขนาดกลาง การขับเรือมีนายท้ายทำหน้าที่ขับเรือและที่ใกล้พวงมาลัยขับเรือก็จะมีเกียร์เพื่อบังคับเครื่องให้เดินหน้าหรือถอยหลังและมีคันเร่งเครื่องอยู่ใกล้ๆ (บางคันเร่งก็ใช้มือบังคับหรือบางคันเร่งก็ใช้เท้าบังคับ) นายท้ายเรือจึงทำหน้าที่เอ็นจิเนียร์ไปด้วย การที่กฎหมายบังคับให้เรือประมงขนาดกลางต้องมีทั้งนายท้ายเรือและเอ็นจิเนียเป็นคนละคนกัน จึงขัดกับสภาพตามความเป็นจริง ชาวประม เขาต้องการให้อยู่ในสภาพความเป็นจริงคือนายท้ายเรือและเอ็นจิเนียร์เป็นบุคคลเดียวกัน เช่นเดียวกับการขับรถบรรทุกที่ไม่มีเครื่องมือเครนต่างหากจากรถบรรทุกก็จะมีคนขับรถและคนเครนรถเป็นบุคคลคนเดียวกัน แต่ถ้าเป็นรถบรรทุกที่มีเครื่องเครนต่างหากจากรถบรรทุกและบรรทุกเครื่องเครนอยู่บนรถบรรทุก กรณีนี้ก็จะมีคนขับรถบรรทุกคนหนึ่งและคนขับรถเครนอีกคนหนึ่ง
การที่กำหนดให้เรือประมงขนาดกลางต้องมีเอ็นจิเนียร์ต่างหากจากนายท้ายเรือนั้นไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและ เอ็นจิเนียร์จึงกลายเป็นการจ้างมาเพื่อไม่ให้ถูกจับแต่ไม่ได้ทำงาน ทำให้ประมงขนาดกลางต้องเพิ่มรายจ่ายโดยไม่จำเป็น ทั้งจากความเป็นจริงผู้เป็นนายท้ายและเอ็นจิเนียร์เป็นบุคคลคนเดียวกันอยู่แล้ว และเนื่องจากประเทศเราจะเข้าสู่ AEC แล้วประกอบกับแรงงานส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ดังนั้น นายท้ายเรือ และเอ็นจิเนียร์ ควรจะเป็นคนสัญชาติใดก็ได้ มิฉะนั้น หากนายท้ายเรือหรือ เอ็นจิเนียร์ที่เป็นคนไทยป่วยหรือเปลี่ยนนายจ้าง เรือประมงลำนั้นก็ออกไม่ได้ ทำให้ผู้ประการต้องประสบการขาดทุน เนื่องจากต้องเสียเงินเลี้ยงลูกน้อง (เพิ่มรายจ่ายหรือต้นทุน) เรือไม่ได้ออก (ขาดรายได้)
2. ปัญหาเรื่องแรงงานของชาวต่างชาติ ผู้ประกอบกิจการประมงก็ถูกเอาเปรียบจากแรงงาน กล่าวคือ เมื่อรัฐอนุญาตให้คนต่างชาติเขามาทำงานในประเทศไทยไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง ผู้ประกอบการจึงตกเป็นเบี้ยล่างของแรงงาน นายหน้าผู้หาแรงงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง คือ แรงงานที่ผู้ประกอบกิจการจะได้ต้องผ่านนายหน้า โดยเสียค่านายหน้าเท่ากับเงินเดือน 1 เดือน เมื่อแรงงานทำงานเรือเข้ามา 1 เที่ยว (3-5 วัน) หรืออยู่ 1 เดือน แล้วแรงงานก็หานายจ้างใหม่ เท่ากับว่าผู้ประกอบการต้องจ้างแรงงานแพงเป็นสองเท่า และกรณีแก้ไขใหม่ให้มีคนงานเพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน แต่การให้ผู้ประกอบการต้องแจ้งให้ทราบและกว่าจะอนุญาตให้จ้างแรงงานได้ก็ใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ ทำให้เรือประมงไม่สามารถออกไปจับปลาได้ หากเป็นเช่นนี้ผู้ประกอบการประมงก็ต้องประสบการขาดทุนและไม่สามารถจะแข่งขันกับประมงเพื่อนบ้านได้ ประเทศชาติและประชาชนก็ต้องได้รับผลกระทบด้วย (ต้นทุนสูงขึ้นและขาดรายได้ระหว่างรออนุญาต)
3. ปัญหาการอนุญาตให้ประกอบการประมง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยการออกใบอนุญาตประกอบการประมงให้แก่เรือแต่ละลำเพียงประเภทเดียว แต่ในความเป็นจริงเรือแต่ละลำอาจประกอบกิจการประมงในคราวเดียวกันหลายประเภท
ดังนั้น การอนุญาตให้ประกอบกิจการเพียงประเภทเดียวทำให้ผู้ประกอบกิจการต้องประสบการขาดทุน เช่น เรือลำหนึ่งอาจประกอบกิจการประมงไดหมึก แต่เรือแต่ละลำความสามารถของไตก๋งและพื้นที่ของทะเลแตกต่างกัน ดังนั้นในบริเวณใกล้เคียงกันอาจทำไดหมึกก่อนตอนหัวค่ำ แต่เรือลำที่ได้หมึกไม่มากก็จะเปลี่ยนเป็นตักปลากะตักแทน ดังนั้น การอนุญาตให้เรือลำหนึ่งประกอบกิจการประมงเพียงอย่างเดียวย่อมประสบปัญหากับชาวประมงอย่างแน่นอน (ทำให้ประกอบอาชีพไม่มีประสิทธิภาพและเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ)
รัฐควรแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ด้วยเหตุและผลของการดำรงชีวิต ด้านสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงและปลอดภัย ความยั่งยืนในอาชีพและระบบนิเวศ ซึ่งข้อเสนอที่ผู้ประกอบกิจการประมงร้องขอมา เพื่อให้รัฐลองพิจารณาดูว่าเหมาะสมหรือไม่ และที่ไม่สามารถทำได้เพราะเหตุใด รัฐควรชี้แจงให้ผู้ประกอบกิจการประมงทราบด้วย
ข้อเสนอที่ชาวประมงขอให้รัฐแก้ไขปัญหา ดังนี้
1. เกี่ยวกับเรื่องนายท้ายเรือและเอ็นจิเนียร์ เรือประมงขนาดกลาง (60 ตันกรอสลงมา) ขอให้เป็นบุคคลคนเดียวกันตามสภาพความเป็นจริง เช่นเดียวกับการประกอบกิจการขนส่ง ทั้งให้เป็นบุคคลสัญชาติอื่นได้ด้วย
2. เกี่ยวแรงงานต่างชาติ เมื่อชาวต่างชาติได้รับอนุญาตให้เข้ามาประกอบอาชีพในประเทศไทยได้แล้ว จึงไม่ควรต้องขออนุญาตจ้างในแต่ละรายอีก ควรกำหนดให้แรงงานและนายจ้างแจ้งเจ้าหน้าทราบเท่านั้น มิใช่ขออนุญาต ทั้งกำหนดให้นายจ้างหักภาษีรายเดือนส่งสรรพากรทุกครั้งเมื่อครบกำหนดสิ้นปี หรือทุกครั้งที่มีการเลิกจ้าง
3. เกี่ยวกับการอนุญาตให้ประกอบการประมง เรือลำหนึ่งอาจประกอบกิจการได้หลายประเภทตามที่ผู้ประกอบการประสงค์
เพียงเท่านี้ผู้ประกอบกิจการประมงก็สามารถปฏิบัติตามกฎหมาย ประหยัดรายจ่าย และสามารถแข่งขันกับประมงเพื่อนบ้านหรือนานาชาติได้ ทั้งยังสามารถสร้างความมั่นคงทางด้านแรงงาน ภาษี และการประมงอย่างยั่งยืน อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ และสอดคล้องกับ AEC ในอนาคต
ภาพประกอบจาก ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฏหมาย