7 วันบอมบ์ราชประสงค์ ปมการเมืองแซงหน้าอุยกูร์?
ครบ 7 วันแล้วสำหรับเหตุระเบิดครั้งรุนแรงที่ลานศาลพระพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ ย่านเศรษฐกิจสำคัญกลางกรุงเทพฯ ที่คร่าชีวิตผู้คนทั้งไทยและเทศไปถึง 20 ราย บาดเจ็บกว่าร้อย
เหตุร้ายแรงครั้งประวัติศาสตร์ไม่ได้จบลงแค่เสียงตูมสนั่นที่ราชประสงค์ แต่ยังมีเหตุแถมท้ายต่อเนื่องมา ทั้งระเบิดที่ท่าเรือสาทร และการวางวัตถุต้องสงสัยในลักษณะ "ป่วนเมือง" รายวัน
ครบ 7 วันแล้ว ต้องพูดกันตรงๆ ว่าจากข้อมูลทางการที่เปิดเผยกับสื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ตำรวจยังจับกุมใครไม่ได้ โดยเฉพาะ "ชายเสื้อเหลือง" หน้าคล้ายชาวตะวันตกหรือแขกขาว ที่ถูกออกหมายจับในฐานะ "มือระเบิด" โดยนำระเบิดซุกเป้ไปวางไว้ที่ม้านั่งริมรั้วศาลพระพรหม
แต่ละวันที่ผ่านไป มีข่าวคราวและคลิปวีดีโอ ตลอดจนภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือซีซีทีวี ถูกปล่อยออกมาให้ดูเหมือนมีความคืบหน้าเป็นระยะ แต่จนแล้วจนรอดภาพและข้อมูลเหล่านั้นก็ยังไม่มีน้ำหนักเชิงนัยสำคัญกับคดี
ไม่ว่าจะเป็น ภาพชายเสื้อแดง ชายเสื้อขาว ผู้หญิงชุดดำ ที่ยืนใกล้ชายเสื้อเหลืองขณะนำเป้ไปวางทิ้งไว้ที่ศาลพระพรหม ซึ่งสุดท้ายได้ข้อสรุปว่าเป็นกลุ่มไกด์และนักท่องเที่ยว
ขณะที่คลิปชายต้องสงสัยเขี่ยวัตถุลงน้ำบริเวณท่าเรือสาทร ก็ยังมีคำถามตามมาไม่น้อย โดยเฉพาะระเบิดมันตูมตามขึ้นจากใต้น้ำจริงหรือ เพราะคลิปในวันเกิดเหตุ 18 สิงหาคม เหมือนระเบิดจะแตกจากบนอากาศมากกว่า ถึงมีการตั้งประเด็นในเบื้องแรกว่าคนร้ายปาระเบิดลงมาจากสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือสะพานสาทร
เช่นเดียวกับชื่อของชายเสื้อเหลือง ที่มีสื่อต่างประเทศระบุใช้ชื่อตามพาสปอร์ตว่า โมฮัมเหม็ด มูเซยิน โดยอ้างข้อมูลจากปากคำรถรับจ้างที่ไปส่งผู้ต้องหารายนี้ ก็ยังไม่มีการขยายผลต่อจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบให้เห็นความคืบหน้าใดๆ
ส่วนข้อสันนิษฐานจากฝ่ายตำรวจ ในฐานะผู้รับผิดชอบหลัก ก็ยังมีลักษณะ "ให้ข่าวรายวัน" และสะเปะสะปะพอสมควร เช่น พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ บอกว่าคนร้ายไม่ได้ทำคนเดียว แต่ทำในลักษณะขบวนการ มีผู้ร่วมกระทำการเป็นสิบคน ทว่าเมื่ออประเด็นนี้เป็นข่าวใหญ่ ก็มาอธิบายใหม่อีกวันหนึ่งว่า ไม่ได้หมายความว่ามี 10 คน แต่มีหลายคน ยังไม่รู้กี่คน เป็นต้น
ปัญหาก็คือ ถึงวันนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบทุกหน่วยตั้งหลักตรงกันแล้วหรือยังว่า มูลเหตุจูงใจที่นำมาสู่การลอบวางระเบิดครั้งรุนแรงมาจากเรื่องใด การเมืองภายใน หรือก่อการร้ายข้ามชาติบุกไทย เพราะตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมายังออกแนว "กั๊ก" ไม่ฟันธง ไม่ตัดประเด็นใดทิ้ง แต่ก็พูดเป็นนัยว่าโยงการเมืองและความขัดแย้งในประเทศมากกว่า
ข้อมูลและบทวิเคราะห์ที่หน่วยงานความมั่นคงสรุปได้จนถึงขณะนี้ จำกัดวงมูลเหตุเบื้องหลังที่นำมาสู่การลอบวางระเบิดเพียง 2 ประเด็น คือ ประเด็นอุยกูร์ กับปัญหาขัดแย้งภายในประเทศ
ส่วนประเด็นกลุ่มก่อการร้ายสากลเข้ามาปฏิบัติการนั้น ฝ่ายความมั่นคงตัดทิ้งไปแล้ว เพราะเป้าหมายที่ก่อเหตุ รูปแบบระเบิดที่ใช้ และแนวปฏิบัติ เช่น การประกาศความรับผิดชอบหลังปฏิบัติการ รวมถึงเครือข่ายสนับสนุนภายในประเทศที่มีไม่มากพอ ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบ ยากที่จะเป็นก่อการร้ายสากล
สำหรับเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ น้ำมันเถื่อน และอื่นๆ ที่เสียประโยชน์จากนโยบายและมาตรการของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ก็ยังเป็นไปได้น้อย โดยเฉพาะความเชื่อมโยงกับเครือข่ายในไทย เนื่องจากฝ่ายความมั่นคงให้น้ำหนักการก่อเหตุครั้งนี้ว่า "ไม่ได้ทำคนเดียว" แต่ทำเป็นกลุ่ม เป็นขบวนการ มีผู้เกี่ยวข้องหลายคน
ข้อมูลหลักฐานที่รวบรวมได้จนถึงขณะนี้ สันนิษฐานว่า ชายเสื้อเหลืองน่าจะรับระเบิดมาจากคนในขบวนการ โดยนัดรับกันที่หัวลำโพง จากนั้นจึงเรียกรถตุ๊กตุ๊กให้ไปส่งที่ราชประสงค์
วิเคราะห์พฤติกรรมผู้ต้องหา ปฏิบัติการอย่างเป็นธรรมชาติ นิ่ง ไม่มีท่าทีตกใจ ทำตัวกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ไม่เป็นที่สังเกต และระเบิดทำงานหลังจากนำเป้ไปวางไม่ถึง 5 นาที โดยที่มือวางระเบิดไม่ได้แสดงท่าทีตื่นกลัว ทั้งๆ ที่ตัวเองก็มีความเสี่ยง แต่กลับเดินเรื่อยๆ ไม่เร่งร้อน แสดงว่าเป็นมืออาชีพ มีความเชี่ยวชาญสูงมาก
การเปิดเผยหน้าตา ไม่สวมหมวกปิดบังใบหน้า ทำให้เชื่อได้ว่ามีความมั่นใจในสถานที่ซ่อนตัว สอดรับกับข้อสังเกตที่ว่าหากเป็นชาวต่างชาติลักลอบเข้ามาโดยไม่มีเครือข่ายในประเทศสนับสนุน จะต้องไปพักตามเกสต์เฮาส์ หรือแหล่งที่มีชาวต่างประเทศพลุกพล่าน ซึ่งตำรวจน่าจะติดตามจนพบที่พักหรือที่หลบซ่อนก่อนปฏิบัติการแล้ว
ข้อมูลและข้อสังเกตดังกล่าวจึงยิ่งสนับสนุนว่า มือระเบิดไม่ได้ทำงานคนเดียว ยกเว้นเขาใส่วิก และปลอมตัวได้อย่างแนบเนียนสุดๆ
ย้อนกลับไปที่ 2 ประเด็นซึ่งฝ่ายความมั่นคงให้น้ำหนักมากที่สุด มีมุมวิเคราะห์ดังนี้
1.ประเด็นอุยกูร์ ซึ่งหมายถึงผู้ปฏิบัติการไม่พอใจที่รัฐบาลไทยส่งมุสลิมอุยกูร์กลับไปยังประเทศจีน หากสันนิษฐานว่าเป็น ขบวนการอิสลามเตอร์กิสถานตะวันออก หรือ ETIM ที่เคลื่อนไหวต่อสู่และแบ่งแยกดินแดนมณฑลซินเจียงออกจากประเทศจีน พบว่าแกนนำและเครือข่ายสำคัญๆ จำนวนหลายสิบคนไม่ได้พำนักอยู่ในประเทศไทยในช่วงจังหวะเวลาที่เกิดเหตุเลย
ฉะนั้นประเด็นอุยกูร์ จึงเหลือความเป็นไปได้ 2 แนวทาง คือ เครือข่ายมุสลิมหัวรุนแรงอื่นๆ ปฏิบัติการแทน หรือเป็นพวก "โลน วูล์ฟ" ซึ่งเป็นทฤษฎีก่อการร้ายสมัยใหม่ที่อธิบายว่า ใครๆ ก็เป็นผู้ก่อการร้ายได้ คนกลุ่มนี้จะเก็บตัว รับข้อมูลข่าวสารด้านเดียว และมีแนวคิดใช้ความรุนแรง แต่ก็ยังมีคำถามเรื่องศักยภาพว่าสามารถทำระเบิดได้ขนาดนี้ และหนีหายไปอย่างไร้ร่องรอยเลยหรือ
2.ประเด็นขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งล่าสุดฝ่ายความมั่นคงให้น้ำหนักมากกว่าประเด็นอุยกูร์ เพราะที่ผ่านมา การก่อเหตุรุนแรงโดยพุ่งเป้าศาสนสถาน ก็ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้น กรณีพยายามใช้อาวุธหนักยิงใส่วัดพระแก้วก็เคยมีมาแล้ว ระเบิดในรถยนต์ หรือ "คาร์บอมบ์" ก็เคยมีทั้งที่ถูกตรวจยึดได้ก่อนปฏิบัติการ หรือระเบิดทำงานจริงๆ (สมัยการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ใกล้กับที่ทำการพรรคชาติไทย และที่หน้าอาบอบนวดชื่อดังริมถนนรัชดาภิเษก)
หรือแม้แต่การใช้ความรุนแรงโดยไม่สนใจว่าจะมีใครต้องสังเวยชีวิต ก็เคยเกิดขึ้นมาหลายครั้ง โดยเฉพาะแก๊งยิงเอ็ม 79
สาเหตุที่เลือกวางระเบิดที่ศาลพระพรหม ก็เพื่อทำลายการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า เศรษฐกิจประเทศภายใต้การบริหารของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ยังยืนอยู่ได้เพราะการท่องเที่ยวค้ำอยู่ โดยเฉพาะเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวจีน ในขณะที่การส่งออกพังพาบ ทั้งจากการลดค่าเงินหยวนของจีน และการถูกแบล็คลิสต์เรื่องค้ามนุษย์และประมงผิดกฎหมาย
หากทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวลงได้ เศรษฐกิจไทยก็จะถึงจุดวิกฤติ
แต่ประเด็นที่ทุกหน่วยยังขบกันไม่ตกผลึกก็คือ เหตุใดมือวางระเบิดจึงหน้าตาคล้ายฝรั่งหรือแขกขาว หนำซ้ำยังปฏิบัติการแบบมืออาชีพ จนอาจถึงขั้นเป็น "นักรบรับจ้าง" คำถามก็คือความขัดแย้งทางการเมืองของไทยถึงขั้นต้องจ้าง "นักรบรับจ้าง" มาปฏิบัติการกันแล้วหรือ
ปิดท้ายด้วยข้อสังเกตที่น่าสนใจ ไม่ว่างานนี้จะเป็นการกระทำจากกลุ่มใด ก่อการร้ายสากล อุยกูร์ หรือการเมืองก็ตาม โอกาสการจับกุมคนร้ายได้น่าจะมีเปอร์เซนต์น้อยมากๆ แล้ว เพราะดูจากจังหวะก้าวของรัฐบาลที่พยายามพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ชูแคมเปญสร้างสามัคคี จับมือเดินไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งด้วยกัน (stronger together)
พร้อมๆ กับการเร่งสร้างประเด็นข่าวอื่นๆ ขึ้นมากลบเสียงระเบิด ทั้งการเร่งปรับคณะรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวจะปรับหลังโยกย้ายข้าราชการเรียบร้อยก่อน, การเปิดรายชื่อ ครม.ใหม่ด้วยภาพถ่ายที่แพร่กันทางโซเชียลมีเดีย ที่เรียกกันว่า "โผนิ้วกุด" หรือแม้แต่ปฏิบัติการปูพรมตรวจค้นจับกุมเครือข่ายยาเสพติดข้ามชาติ 46 จุดทั่วประเทศ ฯลฯ
รวมถึงการพยายามให้ข่าวเพื่อให้เข้าใจได้ว่าเป็น "ระเบิดการเมือง" ดิสเครดิตกลุ่มการเมืองฝ่ายต่อต้าน คสช.ว่าทำลายชาติ
ต้องบอกว่างานนี้รัฐบาลและ คสช.พลิกเกมจะรับเป็นรุกได้อย่างรวดเร็ว จึงเก็บเกี่ยวคะแนนนิยมไปได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ทำให้เมื่อสิ้นเสียงระเบิด รัฐบาลจึงมีแต่ได้กับได้ แทบไม่มีเสียอะไรเลย...หรือไม่จริง!