ไขปริศนาเงิน 2 หมื่นล้านล่องหนจากกองทุนมาเลย์ฯ สู่เกาะเคย์แมน?
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตำรวจกองปราบจับกุมชายสัญชาติสวิสวัย 49 นามว่า ซาเวียร์ อองเดร จัสโต้ ที่บ้านพักหรูบนเกาะสมุยในข้อหาพยายาม “แบล็คเมล์” ผู้บริหารของบริษัทปิโตรซาอุดิ อินเตอร์เนชั่นแนล หลังจากนั้นไม่นาน ในวันที่ 17 สิงหาคมศาลอาญาใต้กรุงเทพฯตัดสินจำคุก 3 ปีหลังจากเขาให้การรับสารภาพ
ปิโตรซาอุดิอินเตอร์เนชั่นแนล เป็นบริษัทสัญชาติซาอุดิอารเบีย มีสาขาอยู่หลายแห่งรวมทั้งที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และเกาะเคย์แมนซึ่งเป็นเขตจัดตั้งบริษัทนอกอาณาเขตใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ซึ่งมีกฎหมายพิเศษให้เป็นพื้นที่ปลอดภาษีและปกปิดความลับของบริษัทเอกชน นายจัสโต้ทำงานในตำแหน่งบริหารที่ปิโตรซาอุดิสาขากรุงลอนดอน ก่อนจะออกมาเมื่อ พ.ศ. 2556
สื่อมวลชนหลายแขนงโดยเฉพาะจากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียตีพิมพ์ข้อมูลจากฝ่ายตำรวจไทยว่า นายจัสโต้สารภาพว่า เมื่อปี 2556 ตนเองได้เรียกร้องเงินจำนวน 90 ล้านบาทจากบริษัทปิโตรซาอุดิที่เพื่อแลกเปลี่ยนกับการนำข้อมูลของบริษัทไปเปิดเผยต่อกับบริษัทคู่แข่ง
การจับกุมนายจัสโต้เป็นข่าวที่ไม่มีความหมายอันใดในประเทศไทยแต่เรื่องนี้กลับเป็นข่าวการเมืองใหญ่ในประเทศมาเลเซีย เนื่องจากเชื่อมโยงโดยตรงกับความมั่นคงของเก้าอี้ผู้นำสูงสุด คือ นาย นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรี
ข้อหาแบล็คเมล์ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องของคนโกงบริษัทธรรมดา ๆ แต่ที่จริงแล้วสิ่งที่นายจัสโต้ทำลงไปเป็นเรื่องใหญ่กว่านั้น เพราะแทนที่จะส่งข้อมูลบริษัทให้แก่คู่แข่งทางธุรกิจเขากลับส่งให้องค์กรสื่อสององค์กร คือ เว็บไซต์ชื่อว่าซาราวักรีพอร์ตซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ กับ หนังสือพิมพ์ธุรกิจรายสัปดาห์ “ดิเอดจ์” ตีพิมพ์ในมาเลเซีย
ข้อมูลที่ว่านี้เป็นเรื่องการเดินทางของเงินจำนวนเกือบ 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 24,000 ล้านบาทที่เดินทางออกจากบริษัทเพื่อการลงทุนแห่งชาติ 1 Malaysia Development Berhad หรือ 1MDB ในสังกัดกระทรวงการคลังของมาเลเซีย ไปยังบริษัทปิโตรซาอุดิ แล้วเดินทางต่อไปยังบัญชีลึกลับของบริษัทนอกอาณาเขตบนเกาะเคย์แมนอีกบริษัทหนึ่งด้วยสาเหตุอันคลุมเครือ จนกระทั่งป่านนี้ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าเงินก้อนนี้อยู่ที่ไหนกันแน่ และถูกใช้ในกิจการอันใดด้วยเหตุผลอะไร
เงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินอีกก้อนหนึ่งที่แยกจากกรณีอื้อฉาวเรื่องเงินในบัญชีนายกรัฐมนตรี เพียงแต่ว่าจำนวนเงินทั้งสองก้อนบังเอิญใกล้เคียงกัน กรณีเงินมีขาเดินได้เพียงสองกรณีแสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยๆ บริษัท 1MDB มีรูรั่วเรื่องการบริหารอย่างน่ากลัว และอาจเป็นเหมือนแหล่งหาเงินเข้ากระเป๋านักการเมืองระดับสูงอย่างเย้ยฟ้าท้าดิน
สิ่งที่น่าตกใจคือขณะนี้ 1MDB มีภาระหนี้สินล้นพ้นตัวถึง 4.2 หมื่นล้านริงกิตมาเลเซีย หรือราวๆ 362,880 ล้านบาท หนี้สินทั้งหลายมาจากการกู้ยืมทั้งในรูปของการออกพันธบัตรและกู้จากบริษัทเอกชนทั้งในและนอกประเทศ
1MDB คืออะไรกันแน่
1MDB แปรโฉมมาจากหน่วยงานด้านการลงทุนของรัฐตรังกานู (Terengganu Investment Authority -TIA) ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียตั้งขึ้นมาช่วงต้นปี 2551 เพื่อเป็นตัวบริหารรายได้ห้าเปอร์เซ็นต์จากการขุดเจาะน้ำมันในตรังกานูไปใช้ในการพัฒนารัฐ ในขณะที่รายได้อีก 95 เปอร์เซนต์เป็นของประเทศ
ก่อนหน้านั้นรัฐบาลของรัฐตรังกานูเป็นผู้บริหารจัดการเงินจำนวนนี้เองโดยไม่ต้องผ่านหน่วยงานใด แต่เมื่อพรรคฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งในตรังกานูเมื่อต้นปี 2551 นายนาจิบ ราซัค หัวหน้าพรรคอัมโนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก รัฐบาลกลางที่ยังอยู่ในมือของอัมโนก็เปลี่ยนกฎเสียทันใดด้วยการตั้ง TIA ขึ้นในตรังกานูเพื่อเป็นหน่วยงานบริหารรายได้จากน้ำมันเสียเอง
TIA ตั้งมาได้ไม่ถึงปี ก็ถูกดึงออกจากมือของรัฐตรังกานู แล้วกลายร่างเป็นบริษัท 1MDB ในสังกัดกระทรวงการคลัง มีหน้าที่หาช่องทางลงทุนเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ
การเกิดของ 1MDB เป็นไปพร้อมความประจวบเหมาะบางประการ
ประการแรก คือ นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก บังเอิญควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกตำแหน่งหนึ่ง ส่งผลให้เขานั่งเก้าอี้ประธานบอร์ดผู้มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจใน 1MDB โดยอัตโนมัติ
ประการที่สอง ในเวลานั้น บุคคลที่ไม่มีตำแหน่งใดๆ แต่เป็นตัวตั้งตัวตีในการก่อตั้ง TIA เป็นหนุ่มจีนอายุยี่สิบปลายๆ ชื่อว่า โจ เตี๊ยก โล หรือ โจโล ผู้บังเอิญเป็นเพื่อนสนิทร่วมมหาวิทยาลัยของบุตรชายบุญธรรมของนายกฯนาจิบ เกิดจากสามีเก่าของนางรอสมา มันโซ ภรรยา
นายโจโลมีประวัติตกเป็นข่าวใหญ่ในหนังสือพิมพ์ตะวันตกเมื่อเขาเป็นนายหน้าวิ่งเต้นซื้อขายอสังหาริมทรัพย์มูลค่ามหาศาลในสหรัฐอเมริกาให้แก่บุตรบุญธรรมของท่านนายกฯ ผู้นี้
ใครที่ชอบภาพยนตร์ The Wolf of Wall Street นำโดยพระเอกหนุ่ม ลีโอนาโด ดีคาปรีโอ โปรดทราบด้วยว่านายโจโลและคู่หูคือผู้ออกทุนในการสร้าง จึงไม่แปลกที่โจโลจึงปรากฏตัวเป็นข่าวปาร์ตี้กระหน่ำอยู่กับดารานางแบบรวมทั้งสาวสังคมอย่าง ปารีส ฮิลตัน อยู่เรื่อยๆ
โฆษกส่วนตัวของโจโลเปิดเผยต่อหนังสือพิมพ์เซ้าธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ที่อ่องกงว่าโจโลเป็นคนช่วยก่อตั้ง TIA ในปี 2551 จริง โดยดึงเอาร่วมกับธนาคารและบริษัทเพื่อการลงทุนใหญ่ๆ เช่น โกลด์แมน แซคส์ แมคคินซี่ คอนซัลติ้ง และบอสตันคอนซัลติ้งกรุ๊ปเข้ามาร่วมด้วย ก่อนจะย้ายนิวาสถานไปอยู่ฮ่องกง อย่างไรก็ตาม เมื่อ TIA กลายร่างเป็น 1MDB แล้ว นายโจโลก็บังเอิญมีพรรคพวกเพื่อนฝูงจำนวนหนึ่งนั่งอยู่ในกลุ่มผู้บริหารของบริษัทใหม่นี้ด้วย
ปิโตรซาอุดิกับ 1MDB
นายจัสโต้ส่งข้อมูลของบริษัทปิโตรซาอุดิให้กับ แคลร์ ริวคาสเติ้ล-บราวน์ บรรณาธิการเว็บไซต์ซาราวักรีพอร์ต กับผู้จัดการหนังสือพิมพ์ ดิเอดจ์ ของมาเลเซีย ในการพบปะกับบุคคลทั้งสองสิงคโปร์ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้
หลังจากนั้นไม่นานสื่อทั้งสองค่ายก็ทยอยตีพิมพ์ข้อมูลความไม่ชอบมาพากลกรณีการร่วมทุนของ 1MDB กับ ปิโตรซาอุดิออกมาเป็นระยะ สร้างผลสะเทือนทางการเมืองในประเทศมาเลเซียอย่างสูง
ข้อมูลจากนายจัสโต้ระบุว่า เมื่อเดือนกันยายน 2552 มีการโอนเงินจาก 1MDB จำนวน 1,830 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้กับบริษัทปิโตรซาอุดิโฮลดิ้ง สาขาเกาะเคย์แมน ซึ่งเป็นบริษัทลูกของปิโตรซาอุดิ อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อใช้ในโครงการร่วมทุนสำรวจน้ำมันในประเทศเวเนซูเอลา โดย 1MDB กับปิโตรซาอุดิ ได้ตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ขึ้นชื่อว่าบริษัท 1MDB ปิโตรซาอุดิ
อย่างไรก็ตาม ซาราวักรีพอร์ต ระบุว่า ข้อตกลงในการร่วมทุนที่ทำไว้อย่างซับซ้อนซ่อนเงื่อนเปิดช่องให้เงินจำนวน 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 24,000 ล้านบาท แปรสภาพเป็นเงินที่ต้องจ่ายคืนเงินกู้ ที่อ้างว่า 1MDB กู้มาจากบริษัทปิโตรซาอุดิ สาขาเกาะเคย์แมน
เงินจำนวนดังกล่าวถูกโอนไปยังบัญชีชื่อบริษัทโกลด์สตาร์ลิมิตเต็ดที่กรุงซูริคประเทศสวิตเซอร์แลนด์ บริษัทโกลด์สตาร์ลิมิตเต็ดเป็นบริษัทจดทะเบียนที่เกาะเคย์แมน โดยผู้มีชื่อเป็นผู้บริหารบริษัทไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นนายโจโลนั่นเอง
หนังสือพิมพ์เดอะสตาร์ของมาเลเซียรายงานในภายหลังว่า ผู้บริหารระดับสูงของ 1MDB สองคน เรียกร้องให้จัดการโอนเงินจำนวนนี้เข้าไปยังบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่แต่ไม่เป็นผล ทั้งสองจึงลาออกจากตำแหน่งเพื่อประท้วงความไม่ชอบมาพากลนี้
ซาราวักรีพอร์ต อ้างว่า เอกสารที่ได้จากนายจัสโต้ประกอบด้วยข้อความติดต่อทางอีเมล์ระหว่างปิโตรซาอุดิ กับนายโจโล และเอกสารหลักฐานอื่นๆ ของปิโตรซาอุดิแสดงชัดเจนว่า นายโจโลผู้นี้มีบทบาทเป็นผู้วิ่งเต้นระหว่างนายกฯนาจิบ และบริษัทปิโตรซาอุดิที่มีบทบาทในการล่องหนของเงินสองหมื่นกว่าล้านบาทนี้
ในขณะที่ หนังสือพิมพ์ ดิเอดจ์ฟันธงว่า โครงการร่วมทุนกับปิโตรซาอุดิไม่ใช่อื่นใดนอกจากเป็นแผนดึงเงิน 1.83 พันล้านเหรียญสหรัฐฯออกจากมาเลเซีย โดยมีนายโจโลเป็นตัวกลางวิ่งเต้นนั่นเอง
การเปิดโปงครั้งนี้โด่งดังไปทั่วโลกเนื่องจากไม่เพียงแต่จะเกี่ยวเนื่องกับประเด็นการเมืองในมาเลเซีย แต่ยังเกี่ยวพันกับผู้เล่นในหลายประเทศ หนังสือพิมพ์ใหญ่ๆ ในหลายประเทศต่างหยิบข่าวนี้มาติดตามอย่างกว้างขวาง
หลังจากที่นิวยอร์คไทมส์ตีพิมพ์เรื่องนี้ ผู้บริหาร 1MDB ได้ส่งเอกสาร “แก้ข่าว” ถึงหนังสือพิมพ์โดยกล่าวว่า บริษัทโกลด์สตาร์ลิมิดเต็ดบนเกาะเคย์แมนนั้น ที่แท้เป็นของปิโตรซาอุดิ ไม่ใช่ของนายโจโล และว่าเงินที่โอนไปนั้นใช้ในการทำธุรกิจไม่ใช่ในฐานะเงินกู้
อย่างไรก็ตามไม่มีการแจกแจงรายละเอียดใดมากไปกว่านั้น ทั้งยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าขณะนี้เงินก้อนดังกล่าวอยู่ที่ใด และถูกใช้ไปในกิจกรรมธุรกิจอันใดกันแน่
ข้อมูลบิดเบือน?
นายจัสโต้พบกับ นางแคลร์ ริวคาสเติ้ล-บราวน์ บรรณาธิการเว็บไซต์ซาราวักรีพอร์ตที่สิงคโปร์ในเดือนกุมภาพันธ์ แคลร์เป็นชาวอังกฤษแต่เกิดที่เกาะซาราวักของมาเลเซีย เธอแต่งงานกับน้องชายของนายกอร์ดอน บราวน์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ และได้เปิดเว็บไซต์ซาราวักรีพอร์ตเพื่อรายงานข่าวเกี่ยวกับซาราวักบ้านเกิดมาหลายปีแล้ว
หลังการจับกุมนายจัสโต้ นักการเมืองและสื่อมวลชนในสังกัดรัฐบาลก็เริ่มสร้างกระแสว่าข้อมูลที่ได้จากนายจัสโต้เป็นข้อมูลที่ถูกบิดเบือน เริ่มจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยมาเลเซียที่ออกมาให้ความเห็นว่า เนื่องจากนายจัสโต้เป็นผู้มีข้อมูลนี้อยู่ในมือ เขาจึงสันนิษฐานอื่นใดไม่ได้นอกจากว่า นายจัสโต้ได้บิดเบือนข้อมูลนี้ไปเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามเขาบอกว่าเรื่องนี้คงด่วนสรุปไม่ได้นอกจากให้เป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจตรวจสอบ
พูดง่ายๆ ว่าแทนที่จะติดตามตรวจสอบการไหลของเงินจาก 1MDB ในกรณีนี้ นักการเมืองผู้นี้และนักการเมืองพรรคอัมโนอีกหลายคนกลับเรียกร้องให้มีการสอบสวนนายจัสโต้แทน ถึงขั้นที่ส่งคณะตำรวจมายังประเทศไทยเพื่อของหลักฐานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เมื่อนายจัสโต้ปฏิเสธว่า ตนเองไม่ได้ตกแต่งข้อมูลแต่ประการใด ข้อกล่าวหานี้จึงตกไปสู่ซาราวักรีพอร์ต และ ดิเอดจ์ หลังจากนั้นอีกไม่นาน รัฐบาลมาเลเซียจัดการระงับใบอนุญาตการพิมพ์ของดิเอดจ์ชั่วคราวเป็นเวลาสามเดือน ในข้อหาตีพิมพ์ข้อความอันเป็นเท็จ น่าหวาดเสียวว่า หากรัฐบาลจะต่อเวลาการระงับใบอนุญาตการพิมพ์ครั้งนี้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายธุรกิจของหนังสือพิมพ์ค่ายนี้อย่างร้ายแรง
แคลร์ ริวคาสเติ้ล - บราวน์ ชี้แจงในเอกสารแถลงข่าวที่ส่งจากลอนดอนให้สื่อมวลชนในมาเลเซียว่าตนเองเป็นผู้แนะนำนายจัสโต้ให้ผู้จัดการหนังสือพิมพ์ดิเอดจ์ของมาเลเซีย ในการนัดพบปะกันที่สิงคโปร์
ในการพบปะครั้งนั้น มีการคัดลอกเอกสารจากนายจัสโต้เป็นสามชุด ให้แก่ซาราวักรีพอร์ต ดิเอดจ์ และชุดสุดท้ายเป็นเอกสารสำรองซึ่งเก็บไว้ในที่ปลอดภัย ภายหลังซาราวัตรีพอร์ตได้ใช้ข้อมูลชิ้นของตนร่วมกับหนังสือพิม์ซันเดย์ไทมส์ของอังกฤษ เนื่องจากต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ของซันเดย์ไทมส์ในการเปิดดูเอกสารที่ถูกตั้งรหัสลับล็อกเอาไว้
ในขณะเดียวกัน ดิเอดจ์ได้ใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ของตน จัดการถอดรหัสเอกสารที่มาเลเซีย ปรากฏว่าข้อมูลที่ได้ตรงกับซาราวักรีพร์ตและซันเดย์ไทมส์ ซึ่งรายงานข่าวด้วยข้อมูลที่ตรงกัน
แคลร์ผู้ซึ่งขณะนี้ได้รับความคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอังกฤษหลังเธอเข้าแจ้งความเรื่องถูกชายแปลกหน้าชาวเอเซียติดตามสอดส่อง ชี้ว่าถ้าหากหนังสือพิมพ์ฉบับใดฉบับหนึ่งบิดเบือนข้อมูลจริง เหตุใดข้อมูลในรายงานข่าวจึงตรงกันได้
ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก
เรื่องการจับกุมนายจัสโต้ และข้อถกเถียงระหว่างนักการเมืองฝั่งรัฐบาลกับเว็บไซต์ซาราวักรีพอร์ตยังไม่ทันจะลงเอย หนังสือพิมพ์ดิวอลสตรีทเจอร์นัลก็โยนระเบิดลูกใหญ่เข้ากลางวง
นั่นก็คือการเปิดโปงเรื่องเงินสองหมื่นกว่าล้านบาทอีกก้อนหนึ่ง ซึ่งดิวอลสตรีทเจอร์นัลขี้ว่าไหลจากบัญชี 1MDB เข้าบัญชีส่วนตัวของนายกฯนาจิบ
เรื่องนี้ทำเอาทุกคนลืมนายจัสโต้ไปเสียสนิท ปล่อยให้เขาเลือกการรับสารภาพและรับโทษจำคุกสามปีที่เมืองไทย โดยโทษจำคุกนี้อาจเป็นหกปีหากเขาไม่ให้ความร่วมมือ
นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค เลือกวิธีการกำจัดศัตรูทางการเมืองด้วยการปิดหนังสือพิมพ์ จับกุมโยกย้ายนักการเมืองและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ในเวลาที่เศรษฐกิจมาเลเซียกำลังเดินหน้าสู่จุดต่ำสุดเกือบเทียบเท่ากับยุคต้มยำกุ้ง
นอกจากปฏิกิริยาต่อต้านของประชาชน ที่กำลังรวมตัวกันประท้วงใหญ่ปลายเดือนนี้แล้ว สิ่งที่น่ากลัวกล่าวคือความขัดแย้งแตกแยกภายในพรรคอัมโนเอง ที่อาจเป็นตัวตัดสินที่แท้จริงว่านายนาจิบจะอยู่หรือไป
O O O O O O O
www.scmp.com
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมาเลเซียมีมติให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สอบสวนนายโจโลในกรณีข้อสงสับเรื่องการฟอกเงินในกระบวนการการใช้เงินกองทุน 1MDB ซื้อบริษัทบริหารจัดการเงินลงทุน UBGBhd ของอดีตมุขมนตรีรัฐซาราวัคในราคา 260 ล้านเหรียญสหรัฐอันเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาด
ในปีถัดมา โจโลก็ย้ายนิวาสถานไปอยู่ฮ่องกง แล้วตั้งบริษัทชื่อ Jynwel Capital จดทะเบียนในฮ่องกง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทชื่อเดียวกันที่จะทะเบียนในเกาะบริติชเวอร์จิ้นของอังกฤษ
www.nytimes.com/2015/06/18
นิวยอร์คไทมส์พยายามติดต่อนายโจโลเพื่อการสัมภาษณ์ แต่ไม่ได้รับคำตอบ อย่างไรก็ตาม โฆษกของเขาเคยยอมรับว่าแม้โจโลจะไม่มีตำแหน่งใดๆ ใน 1MDB แต่เขามีเพื่อนหลายคนนั่งอยู่ในนั้น
ดิวอลสตรีทเจอร์นัล อ้างเอกสารคณะทำงานตรวจสอบของมาเลเซียว่า มีการโอนเงินทั้งหมดห้าก้อนเข้าบัญชีส่วนตัวของนายนาจิบ ราซัค เงินก้อนใหญ่ที่สุดสองก้อนคือ 620 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 61 ล้านเหรียญสหรัฐ ถูกโอนจากบริษัทแห่งหนึ่งบนเกาะบริติชเวอร์จิ้น ผ่านสาขาที่สิงคโปร์ของธนาคารฟัลคอนซึ่งเป็นธนาคารสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ เข้าบัญชีนายกฯ เจ้าของธนาคารฟัลคอน คือกองทุนแห่งหนึ่งจากอาบูดาบี
กองทุนนี้ชื่อว่า International Petroleum Investment Co. หรือ IPIC เป็นผู้ค้ำประกันพันธบัตรมูลค่ามหาศาลที่ออกโดย 1MDB ในเดือนพฤษภาคม ดิวอลสตรีทเจอร์นัลรายงานว่า IPIC อาจอัดฉีดเงินอีกพันล้านเหรียญสหรัฐฯเข้า 1MDB เพื่อช่วยในการแก้ปัญหาหนี้สิน
เงินอีกก้อนหนึ่งจำนวน 42 ล้านริงกิตเป็นการโอนจากบัญชีภายในประเทศมาเลเซียของบริษัท SRC International Sdn. Bhd. ซึ่งเป็นบริษัทของกระทรวงการคลังมาเลเซีย ผ่านบริษัทภายในประเทศสองสามบริษัท ก่อนจะร่อนลงในบัญชีนายกฯ
เงินจาก SRC International เป็นเรื่องใหญ่ เพราะในปี 2554 SRC กู้เงินจำนวนสี่พันล้านริงกิตมาเลเซีย หรือราว 34,800 ล้านบาทจากกองทุนบำนาญข้าราชการ Kumpulan Wang Persaraan (KWAP)โดยที่ไม่มีรายงานว่าเอาเงินจำนวนนี้ไปทำอะไร จนกระทั่งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงการคลังภายใต้นายนาจิบก็ประกาศว่า เงินก้อนนี้ส่วนใหญ่ใช้ไปในการร่วมทุนกับบริษัทน้ำมันในมองโกเลีย
อย่างไรก็ตาม ซาราวัครีพอร์ตและดิวอลสตรีทเจอร์นัลรายงานตรงกันว่า ระหว่างเดือนธันวาคมปีที่แล้ว กับ เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้เอง เงิน42 ล้านริงกิต ถูกโอนเข้าบัญชีส่วนตัวของนายกฯ
เมื่อแรกตั้ง 1MDB นายนาจิบสัญญาว่าจะใช้โครงการนี้ทำให้มาเลเซียเป็นจุดศูนย์กลางการเงินของโลก อย่างไรก็ตาม นับแต่นั้นเป็นต้นมา 1MDB ก็ลงทุนในกิจการที่ขาดทุนมาเรื่อย นับตั้งแต่การซื้อโรงงานผลิตไฟฟ้าในต่างประเทศ ลงทุนกับปิโตรซาอุดิลอื่น ๆ ทำให้ต้องผลัดการชำระหนี้ในปีนี้
เดอะวอลสตรีทเจอร์นัลรายงานวิธีการผันเงินจาก 1MDB ไปช่วยการเลือกตั้งของพรรคอัมโนกรณีหนึ่งว่า มีการใช้ก้อนหนึ่งจาก 1MDB ไปซื้อโรงงานผลิตไฟฟ้าของบริษัทเอกชนบริษัทหนึ่งในราคาสูงกว่าราคาตลาด หลังจากนั้นบริษัทแห่งนี้ได้ “บริจาค” เงินจำนวนมหาศาลให้กับองค์กรการกุศลที่เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรี โดยองค์กรนี้ทำหน้าที่บริจาคเงินแก่คนยากจน และทำงานอื่นๆ เช่น สร้างโรงเรียน เป็นต้น
ขอบภาพประกอบจาก : www.malaysiakini.com