กมธ.ยกร่างฯ เชื่อสปช.ผ่านร่างธน.เพื่อใช้เป็นเข็มทิศเดินหน้าประเทศ
ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งพาชาติเดินหน้ายั่งยืน กมธ.ยกร่างฯเชื่อสปช.ผ่านร่างรัฐธรรมนูญเพื่อใช้เป็นเข็มทิศเดินหน้าประเทศ
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาเตรียมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ คณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้จัดเวทีเสวนาพบสื่อมวลชน ในหัวข้อ “ปฏิรูปก่อนหรือหลังเลือกตั้ง ต้องปฏิรูป” ณ ห้องสารนิเทศ ชั้น 1 อาคารรัฐสภา 1
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานอนุกมธ. กล่าวถึงการปฏิรูปลดความเหลื่อมล้ำถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าไม่มีการปฏิรูปประเทศก็จะล้าหลังกว่าหนึ่งทศวรรษ และอาจนำไปสู่รัฐล้มเหลว ทั้งนี้ ตอนร่างรัฐธรรมนูญช่วงแรก มีการเขียนระบุไว้ 15 มาตรา เขียนเต็มที่เท่าที่จะบรรจุไว้ได้ในรัฐธรรมนูญ
เมื่อนำส่งร่างให้ สปช. และ คสช. พิจารณา มีสปช. 8 กลุ่ม และอีก 1 กลุ่ม คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอคำขอแก้ไขเข้ามา ซึ่งมีประเด็นขอแก้ไขมากมาย และก็ได้เชิญมาชี้แจงว่ามีการปรับหรือไม่ปรับแก้อะไรบ้าง ความพยายามทำมาเห็นผล โดยทุกกลุ่มที่มารับฟังพอใจ อาจมีบางกลุ่มตั้งคำถาม กลุ่มสุดท้าย คือ คณะรัฐมนตรีมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนก็พอใจพร้อมเสนอคำขอแก้มา แต่ไม่ได้หมายความว่าพอใจทั้งฉบับ
ในร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้ นพ.ชูชัย กล่าวว่า บทบัญญัติด้านปฏิรูปจะมี 4 มาตรา ประกอบด้วย 4 กลุ่ม คือ 1.การเมือง-การปกครอง 2.สังคม-วัฒนธรรม 3.เศรษฐกิจ 4. สิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์ แม้เคยร่วมเขียนรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ก็ไม่เคยเห็นว่า การเขียนเรื่องเศรษฐกิจจะครบถ้วนเท่าครั้งนี้ เพราะที่ผ่านมามีแต่เรียกร้องประชาธิปไตยทางการเมืองเท่านั้น แต่ฉบับนี้เน้นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ การเมืองภาคพลเมือง ฐานล่าง และเศรษฐกิจ พลังงาน สิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
นพ.ชูชัย กล่าวอีกว่า สิ่งที่ไม่สามารถเขียนได้ในข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ แต่ก็ได้บันทึกในเจตนารมณ์ไว้ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 ทำแต่ก็ยังมีจุดอ่อน โดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้มีนักวิชาการเข้าร่วมทำงานแก้เรื่องดังกล่าว เพื่อนำไปสู่วาระปฏิรูปต่อไป
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายหรือตรากฎหมายใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ก่อนประกาศใช้ แล้วถ้าไม่ดำเนินการ ตามมาตราที่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือได้กำหนดไว้ ส.ส. ส.ว. ผู้มีหน้าที่เสนอและพิจารณากฎหมาย จงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ จะนำไปสู่การถอดถอนได้
นพ.ชูชัย กล่าวถึงประเด็นปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ถือเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากมีภารกิจจำนวนมาก และเป็นต้นทางกระบวนการยุติธรรมยุติธรรม เพราะหากต้นทางไม่ดี ก็ไม่ต้องหวังปลายทาง เพราะสตช.ทำหน้าที่ทั้งป้องกัน ปราบปราม และคดีอาญา ต้องทำให้ลดน้อยถอยลง เพราะบางเรื่องไม่ต้องถึงสตช. ทั้งนี้ ให้มีเจ้าหน้าที่เฉพาะดำเนินการ เช่น พนักงานสอบสวน ควรต้องแยกเติบโตในหน้าที่การทำงาน เพราะเป็นต้นทางกระบวนการยุติธรรมต้องเติบโต แยกหรือไม่แยกออกจากสตช. รวมถึงการบริหารงานบุคคล การแต่งตั้งต้องเป็นไปโดยยุติธรรม ส่วนงบประมาณจำเป็นต้องจัดลงให้เพียงพอ
สำหรับเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติด แม้มีประมวลกฎหมายยาเสพที่บังคับทั้งคดีแพ่ง อาญา ปกครอง แต่ก็ยังจำเป็นที่ต้องได้รับการปฏิรูปทั้งจากต้นทางและปลายทาง ส่วนเรื่องการทุจริตได้ปฏิรูปผ่านรัฐธรรมนูญ โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอตั้งศาลพิเศษเรื่องทุจริต และหลังจากนั้น 4 ปีก็จะลงไปประเมินการทำงาน
"วันนี้แม้มีองค์กรตรวจสอบ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตภาครัฐ (ปปท.) แต่ปปท.ยังไม่ใช่องค์กรอิสระ ดังนั้น รัฐธรรมนูญปรับปรุงให้มีความเป็นอิสระ และมีการแบ่งแยกให้ชัดเจน ป.ป.ช.ตรวจสอบระดับอธิบดีขึ้นไป ปปท.ตรวจสอบรองอธิบดีลงมา"นพ.ชูชัย กล่าว และว่า การส่วนร่วมภาคประชาชน ซึ่งพลเมืองเป็นใหญ่ด้วยตัวเองไม่ได้ ดังนั้น จำเป็นต้องมีสื่อนำเสนอในเรื่องนี้ และการปฏิรูปโดยใช้กระบวนการสมัชชาพลเมือง ดั้งนั้น กระบวนการต่างๆจะได้ปรับให้ดีขึ้นทั้งหมด และเชื่อว่าสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) น่าจะผ่านร่างรัฐธรรมนูญ เพราะการปฏิรูปเป็นงานหลักของสปช. ทั้ง 18คณะ แต่หลังจากนี้ เมื่อผ่านความเห็นชอบของ สปช. ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชนในการทำประชามติ หากผ่านก็จะสามารถพาประเทศเดินหน้าปฏิรูปต่อไปได้
ขณะที่ ศ.บรรเจิด สิงคะเนติ รองประธานอนุกมธ. คนที่หนึ่ง กล่าวถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เกิดความเท่าเทียม เนื่องจากที่ผ่านมาการเข้าถึงเรื่องดังกล่าวยังไม่เสมอภาคจนกลายเป็นปัญหาว่า คุกมีไว้ขังคนจน ดังนั้น ต้องปฏิรูปกฎหมายในการใช้บังคับคดีแพ่ง อาญา มหาชน หรือ ให้มีอำนาจเท่าเทียมกันในการต่อสู้ในชั้นศาล
“กระบวนการยุติธรรมทางเลือก สมานฉันท์ ประนีประนอม คดีอาญาเวลาขึ้นศาลต้นทุนใช้แสนบาท คดีแพ่งหกหมื่นบาทแต่เราไม่มีกระบวนการยุติข้อพิพาทก่อนมาศาล ซึ่งจำเป็นต้องปฏิรูป เพราะจะทำให้กระบวนการยุติธรรมดีขึ้น”ศ.บรรเจิด ระบุ
นายอมรวิชช์ นาครทรรพ อนุกมธ. กล่าวถึงการศึกษาจำเป็นต้องได้รับปฏิรูป ไม่ใช่จัดแบบเดิม ควรกระจายอำนาจลงพื้นที่ รัฐส่วนกลางจะมาทำคนเดียวไม่ได้ แต่ละภาคส่วนต้องช่วยกันทำ ไม่จำเป็นต้องรอปรับโครงสร้าง ปรับให้ตอบโจทย์กับพื้นที่ ถือเป็นเรื่องดีต่อการตอบโจทย์ชาติ
การปฏิรูปด้านการศึกษามี 10 เรื่อง ที่ไม่ทำไม่ได้ ต้องทำตั้งแต่ในรัฐบาลนี้ อาทิ 1.ล้างบางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ทำงานเป็นปัญหาหมักหมมจนครูเป็นหนี้ 2.คุรุสภา องค์กรปกป้องวิชาชีพ กลับไม่มีการถอดถอนครูทำผิด 3.โรงพิมพ์องค์การค้าคุรุสภา ต้องยุบ เพราะไม่มีคุณภาพในการจัดพิมพ์ จนกลายเป็นการทุจริตมหาศาล 4.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ต้องปฏิรูปรื้อระบบ เช่น ยกเลิกระบบโอเน็ต รวมถึงเลิกการใช้ระบบดังกล่าวมาประเมินผู้บริหาร และ5.สำนักงานบุคลากรครูเพื่อการศึกษา ต้องรื้อ เพราะระบบนี้ไม่สามารถทำให้ครูได้สอน เพราะมีหน้าที่เดินงานอีเว้นท์เท่านั้น รวมถึงการโอน การโยกย้ายครู ต้องปรับ
ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ เลขานุการอนุกมธ. กล่าวถึงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาถือเป็นปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยที่มีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้น เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน เขื่อนขนาดใหญ่ ฯลฯ เป้าหมายในการปฏิรูป คือ การพัฒนายั่งยืน และเป็นการพัฒนาภายใต้ศักยภาพของระบบนิเวศน์ ซึ่งกฎหมายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ กว่า 50 ฉบับ ไม่มีความทันสมัย ดังนั้น ต้องปรับปรุง รวมทั้งต้องมีกฎหมายเพื่อรับความเปลี่ยนแปลง อาทิ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ปัญหาขยะอีเล็กทรอนิกส์ อีกทั้ง เครื่องมือดูแลจัดการให้มีความทันสมัยมากขึ้น เช่น EIAที่ผ่านมากลายเป็นปัญหาจนเป็นกับดักตัวเอง
นอกจากนี้ ระบบกองทุนสิ่งแวด้อม นายบัณฑูร กล่าวว่า ต้องได้รับการปฏิรูปมากกว่าปัจจุบัน รวมถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งการกระจายอำนาจทั้งหมด อยากเห็นประเทศพัฒนาเดินหน้าไปได้ แม้จะเดินช้าตอนต้น แต่วิ่งเร็วตอนปลาย และเป็นการพัฒนาไปอย่างยั่งยืน
ศ.อุดม ทุมโฆสิต อนุกมธ. กล่าวว่า การบริหารราชการแผ่นดิน และองค์กรท้องถิ่น ทัองถิ่นเหมือนเครื่องยนต์ของรัฐทำหน้าที่เดินไปสู่เป้าหมาย การปรับปรุงส่วนนี้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ คุณภาพรัฐ และสำคัญมาก กลไกของรัฐดี สามารถก้าวข้ามปัญหาได้ หากปฏิรูปโดยไม่ใส่ใจอาจไม่เกิดผล
การปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดิน ประเด็นแรก การทำยุทธศาสตร์ชาติ เหมือนแผนที่เดินทาง ถ้าไม่มีอาจหลงทาง ด้อยประสิทธิภาพ ยุทธศาสตร์เป็นการคิดล่วงหน้า ลำดับอะไรควรทำก่อนหลัง การปฏิรูปเที่ยวนี้ดี เพื่อเป็นหลักประกันประเทศ ว่าเดินหน้าไปอย่างประสิทธิภาพ ยิ่งหากให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถจัดตั้งงบประมาณเองได้จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเกิดความทันสมัย เป็นความสัมพันธ์เชิงแนวราบซึ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
“ประชาชนฐากราก เข้าไม่ถึงการตัดสินใจ ทำให้รู้สึกร้องขอ ประชาชนอ่อนแอนำไปสู่ปัญหา รัฐธรรมนูญมุ่งเน้นเรื่องพลเมืองเป็นใหญ่ มีความรู้ความสามารถมากขึ้น ด้วยการมีส่วนร่วม การสร้างพลเมือง มาจากกลไกปกครองท้องถิ่น หลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ หลักปกครองตัวเองของประชาชน เป็นรากฐานสำคัญของรัฐ และประชาชนต้องรับผิดชอบต่อรัฐ เช่น การจ่ายภาษี”ศ.อุดม กล่าว
สุดท้ายรศ.ดร.ศักรินทร์ ภุมรัตน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) วิทยาศาสตร์ กล่าวว่า เป้าหมายหลักการปฏิรูป คือ นำสังคมไปสู่ฐานความรู้ เศรษฐกิจ และนวัตกรรม ซึ่งมองว่าการปฏิรูปประเทศจะนำไปสู่มั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน เพราะเรื่องนี้สำคัญ แต่จะไปไม่ได้ถ้าโครงสร้างพื้นฐานไม่เข้มแข็งพอ ดังนั้น ต้องใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเพื่อให้คนประกอบอาชีพที่ดี สิ่งแวดล้อมดีขึ้น
ทั้งนี้ การเรียนรู้วิทยาศาสตร์จำเป็นต้องปรับให้สอดคล้องกับความต้องการประเทศ และพัฒนาคนเพื่อใช้ประโยชน์ให้ได้ และกลไกสร้างความรู้เข้มแข็ง ซึ่งหลักต้องเริ่มมาตังแต่นโยบายประเทศ เพื่อมองสมรรถะประเทศ เช่น การสร้างรถไฟความเร็วสูง จะทำอย่างไรให้ประเทศมีการพัฒนา
อย่างไรก็ดี แม้เทคโนโลนีเป็นเรื่องพื้นฐานสากล จำเป็นต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด แต่สังคมก็ต้องเลือกใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจำเป็นต้องวางยุทธศาสตร์ประเทศ วางแผนทำอะไรอย่างเป็นระบบ ข้อมูลเชื่อมโยงต่อกันถูกต้อง ทันสมัย เป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ เพราะทันทีเชื่อมโยงได้ ทำให้เกิดการวิจัยน่าเชื่อถือและสามารถวิเคาระห์ตรวจสอบได้เป็นอย่างดี
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองประธานอนุกมธ. คนที่สาม กล่าวถึงประเด็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะขีดความสามารถด้านการแข่งขัน เพราะที่ผ่านมาถอยหลังลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับคู่แข่ง เช่น จีน ความเป็นที่หนึ่งด้านต่างๆ อย่างข้าว ไทยแพ้เวียดนาม รวมถึงท่องเที่ยวก็แพ้ย่างกุ้ง และเป็นปัญหาระยะยาวต่อไป
ทั้งนี้ ความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจไทยแบ่งเป็นบนยอดพีระมิดกับฐานพีระมิด ยิ่งเฉพาะรายได้ยอดบน 54% กับฐานล่าง 4% ต่างกันสิบเท่า ขณะคนมีที่ดินของคนที่อยู่บนยอดครอบครองไว้80% ส่วนฐานล่าง 0.27% ต่างกัน 400 เท่าของประเทศ
นายกอบศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ดังนั้นต้องปรับปรุงโครงสร้างด้วยการเพิ่มขีดความสามารถ พึ่งวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ต้องจัดการสอนด้านกฎหมายแข่งขันทางการค้า นอกจากนี้ จำเป็นต้องทำให้รัฐวิสาหกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้า เช่น ให้เป็นเกษตรแปรรูป ภาคบริการ ภาคท่องเที่ยว รวมถึงการปฏิรูประบบขนส่ง เพื่อวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานรับเข้าเออีซี
“แม้สิงคโปร์จะนำหน้าทุกคนในภูมิภาคนี้ แต่ฐานผลิต เช่น รถยนต์ อยู่ที่ไทย เราจึงเป็นศูนย์การทำอาเซียนตอนบน ดังนั้น จำเป็นต้องทำให้เรื่องเหล่านี้ให้สำเร็จ”นายกอบศักดิ์ กล่าว