"ถวิลวดี บุรีกุล" ไขปม กก.ยุทธศาสตร์ฯ กลไกแก้วิกฤติชาติ - ป้องกันปฏิวัติ
ไอเดียการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง ที่บรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงข้อเสนอทำประชามติประเด็น "รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ" กลายเป็นประเด็นร้อนกลางฝนในเดือนสิงหาคมของบ้านเรา
เสียงวิจารณ์เชิงลบจากฝ่ายต่างๆ ดังระงม โดยเฉพาะการไม่เคารพเสียงประชาชน ไม่เป็นประชาธิปไตย และเป็นการเปิดทางให้เกิดการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.
น่าสนใจว่าที่มาของนวัตกรรมใหม่ทางการเมืองดังกล่าวเป็นเช่นไร และคนที่นั่งอยู่ในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมวงประชุมด้วยทุกนัด มีมุมมองอีกด้านหนึ่งอย่างไร
ดร.ถวิลวดี บุรีกุล หนึ่งในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แจกแจงให้ฟังว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง ถูกบรรจุอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของการปฏิรูปและการปรองดอง เป็นไปตามแนวคิดของการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปและเสริมสร้างความปรองดองในบ้านเมือง
"โจทย์มันมาแบบนี้ คือทำอย่างไรให้เกิดการปรองดอง ที่ผ่านมาก็มีไอเดียเยอะ มีข้อเสนอว่าต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาทำงาน ทีแรกก็คิดว่าน่าจะมีคนละชุดไปเลย คือ ปรองดองชุดหนึ่ง ปฏิรูปอีกชุดหนึ่ง แต่ตอนหลังได้ข้อสรุปว่ามีชุดเดียวดีกว่า ส่วนจะมีอนุกรรมการย่อยไปทำแต่ละเรื่องก็ว่าไป"
ดร.ถวิลวดี กล่าวต่อว่า การปฏิรูปจะทำให้เกิดเป็นจริงขึ้นมาได้ ต้องมีคณะกรรมการในลักษณะที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ คือต้องเอาคนที่มีอำนาจในประเทศมารวมกัน ดึงมาจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่รัฐบาล ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ศาล รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ จะได้อำนวยการเพื่อสร้างความปรองดองและการปฏิรูป ปรองดองต้องเอาคนที่มีบารมี มีอำนาจพอสมควร ไม่อย่างนั้นจะเกิดได้อย่างไร
อำนาจหน้าที่ดังที่ ดร.ถวิลวดี อธิบาย เป็นหน้างานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯในภาวะปกติ แต่หากเกิดวิกฤติ คณะกรรมการชุดเดียวกันก็จะมีอำนาจหน้าที่อีกระดับหนึ่ง
"สมมติเกิดวิกฤติ รัฐบาลทำงานไม่ได้ คณะกรรมการชุดนี้จะมาช่วยเป็นกลไกในการคลี่คลายสถานการณ์ ในอดีตบ้านเมืองถึงทางตัน หาทางออกไม่ได้ สุดท้ายทหารก็ออกมายึดอำนาจ เราจึงสร้างคณะกรรมการชุดนี้ให้เป็นกลไกเข้ามาช่วยเหลือ ใช้การตกลง ต้องมีการประชุม ปรึกษากับศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่าแนวทางที่จะดำเนินการมันชอบหรือไม่"
"องค์ประกอบของคณะกรรมการฯ มีทั้งนายกฯ มีประธานรัฐสภา ถือเป็นการให้หลายฝ่ายมาช่วยกันคิด รวมทั้งทหาร ตำรวจ ไม่ใช่ใช้อำนาจโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ใช้อำนาจร่วมกัน ใช้เสียงเยอะ (เสียง 2 ใน 3 ของคณะกรรมการฯ) ถือเป็นการปกป้องรัฐธรรมนูญ ป้องกันการปฏิวัติ เพราะมีทหารอยู่ในคณะกรรมการฯด้วย ผลคือจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้ ไม่ถอยหลังในลักษณะที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อธิบาย
อย่างไรก็ดี เธอยอมรับว่าบางคนอาจรังเกียจแนวคิดเช่นนี้ แต่ในความเห็นของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ มองว่าเรามีอดีตที่เห็นกันอยู่ ความขัดแย้งเกิดมาเยอะแล้ว เราจะรังเกียจได้อย่างไร จะกลับไปวังวนเดิมหรือ ฉะนั้นต้องมีนวัตกรรม เราเคยผ่านกระบวนการรัฐประหาร แล้วกลับไปสู่ประชาธิปไตย แล้วก็กลับไปสู่การรัฐประหารอีก เป็นวงจรแบบนี้กี่รอบแล้ว ฉะนั้นการจะออกจากวงจรนี้ ต้องมีกลไกทำงานในช่วงบ้านเมืองวิกฤติ
"หลายประเทศก็มีกลไกแบบนี้ แต่ไม่ได้เหมือนกับที่เราเสนอเสียทีเดียว เพราะเราออกแบบให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อให้เกิดความปรองดองในประเทศ ไม่อย่างนั้นก็กลับไปอย่างเก่า เสียงข้างมากไม่ได้รับการยอมรับ เสียงข้างน้อยก็ลงถนน ขณะที่เสียงข้างมากก็ไม่ฟังใคร การถ่วงดุลก็มีปัญหา ภาคประชาชนก็ไม่เข้มแข็งเพียงพอที่จะถอดถอนอะไรได้จริง การทุจริตก็เยอะ"
ดร.ถวิลวดี ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้าด้วย ยังอ้างผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่จัดทำโดยสถาบันพระปกเกล้า เพื่อสนับสนุนแนวคิดของเธอว่า ได้ทำสำรวจโดยสอบถามประชาชนว่า คิดว่าประเทศไทยขณะนี้เป็นประชาธิปไตยแค่ไหน ปรากฏว่าผลที่ออกมาอยู่ในระดับกลางๆ คือ 5-6 คะแนนจาก 10 คะแนน
"จากผลสำรวจแสดงว่าคนก็ยังมีความหวังกับสภาพบ้านเมืองที่เป็นอยู่ เสรีภาพก็ยังพอมี ไม่ได้ถึงกับไม่มีเลย ประชาชนอยากให้นำพาประเทศกลับสู่สังคมสันติสุขมากกว่า ไม่อย่างนั้นก็กลับสู่วงจรเดิม ฉะนั้นต้องสร้างกลไกให้ผู้มีอำนาจทุกฝ่ายมาช่วยกันคิด ไม่อย่างนั้นก็ติดกับดักกฎหมาย ไม่มีใครกล้าทำอะไร เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว"
ดร.ถวิลวดี บอกอีกว่า เครื่องมือและอำนาจพิเศษที่สร้างขึ้นนี้ ไม่ได้ใช้อย่างพร่ำเพรื่อ แต่มีอายุแค่ 5 ปี ถ้าถึงเวลานั้นแล้วยังไม่เลิกทะเลาะกัน และมีประชาชนเห็นว่าจำเป็นที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯต้องอยู่ต่อ ก็ต้องไปลงประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชน แต่ถ้า 5 ปีจบ ก็เรียบร้อย คณะกรรมการฯก็เลิกไป
ส่วนข้อเสนอเรื่องรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ดร.ถวิลวดี บอกว่า ไม่ใช่มติของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ แต่มีการพูดคุยและเสนอโดยอนุกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ชุดที่มี ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน ซึ่งการตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง แต่เรื่องนี้ไม่ได้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เป็นความเห็นของ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ กับ ดร.เอนก 2 คนเท่านั้น
"ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ เป็ฯคนละอย่างกับรัฐบาลแห่งชาติ เพราะยังมีฝ่ายค้าน เสียงข้างมากก็ยังเป็นรัฐบาล จะได้สร้างความสามัคคี สร้างชาติด้วยกัน พรรคการเมืองต้องทำงานด้วยกัน พาประเทศเดินหน้าไปให้ได้ แต่การจะเกิดรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ต้องให้สภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอเป็นคำถามให้ประชาชนลงประชามติ"
"ข้อเสนอนี้ไม่ได้แปลว่าไม่มีเลือกตั้ง แต่มีเลือกตั้งแล้วค่อยมาตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ และไม่เกี่ยวกับทหาร หรือ คสช. เป็นเรื่องของนักการเมือง ถ้าคุณทำงานดี คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯก็จะทำเฉพาะการปฏิรูปกับเรื่องปรองดอง แต่ถ้าบ้านเมืองเกิดวิกฤติที่หาทางออกไม่ได้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯจึงจะยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ไข" ดร.ถวิลวดี กล่าว และว่าหากประชาชนลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หรือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ทุกอย่างก็จบ
กับข้อวิจารณ์เรื่องเปิดทางสืบทอดอำนาจ ดร.ถวิลวดี ยอมรับว่า คนที่คิดก็สามารถคิดได้ แต่อย่าลืมว่าในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ แม้จะมีผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง แต่ตำแหน่งพวกนี้ก็เกษียณอายุราชการกันทุกปี ไม่ได้เป็นคนเดิมตลอดไป จึงไม่ทราบว่าจะเป็นการสืบทอดอำนาจตรงไหน
คสช.ในปัจจุบันที่เป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพก็กำลังจะเกษียณ ก็ไม่มีสิทธิ์มาตั้งเป็นกรรมการ นอกเสียจากมาอยู่ในกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ก็ไม่มีอำนาจอะไร เพราะการตัดสินใจขึ้นกับเสียงข้างมาก ที่สำคัญฝ่ายการเมืองก็อยู่ในนั้น
"เราคิดว่ากลไกแบบนี้มีความจำเป็นในยุคเปลี่ยนผ่าน ควรมีพี่เลี้ยงคอยระวังไม่ให้เด็กสองคนทะเลาะกันสักระยะหนึ่ง เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย พี่เลี่ยงก็กลับบ้านไป"
เมื่อซักว่า กลไกแบบนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย ดร.ถวิลวดี กล่าวว่า ถ้าใช้กลไกประชาธิปไตยแบบตะวันตก ถามว่าคนในประเทศพร้อมหรือไม่ มีจิตสำนึกสาธารณะหรือเปล่า มีความสามารถพาประเทศเดินหน้าได้เมื่อไร
"ถ้าเรามีคุณสมบัติพวกนั้น ก็ไม่ต้องมีกลไกที่กำลังพูดถึงกันอยู่นี้เลย ตอนนี้อีกด้านหนึ่งเราก็พยายามสร้างภาคประชาชนให้เข็มแข็ง มีสมัชชาพลเมือง มีการตรวจสอบโดยประชาชน ออกแบบวุฒิสภาให้มีความหลากหลาย 123 คนมาจากสาขาอาชีพต่างๆ แต่อยู่แค่ครึ่งวาระในช่วงเปลี่ยนผ่าน ส่วนอีก 77 คนเป็นตัวแทนจังหวัด มาจากการเลือกตั้ง ที่เสนอแบบนี้ก็เพื่อให้แน่ใจว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านจะไม่เกิดปัญหา ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นขั้วเดียวกับสภาผู้แทนฯ กลายเป็นสภาผัวเมีย เป็นนอมินีเต็มไปหมด แก้ปัญหาประเทศไม่ได้"
ดร.ถวิลวดี กล่าวทิ้งท้ายว่า ข้อเสนอทั้งหมดนี้ นักการเมืองไม่ชอบใจแน่นอน และจะต้องออกมาต่อว่า แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะสุดท้ายอาจจะเห็นด้วยก็ได้ เนื่องจากปัญหาบ้านเมืองร้ายแรงจนประเทศเดินหน้าไม่ได้จริงๆ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็ไม่เป็นไปตามโรดแมพ การเลือกตั้งก็จะทอดเวลาให้ยาวออกไปอีก ฉะนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกันพิจารณา
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ดร.ถวิลวดี บุรีกุล