ทำไมก.พ.อ.ต้องออกประกาศเข้มอาจารย์ (ขรก.) มหาวิทยาลัย ?
“การกำหนดระเบียบมาตรฐานใหม่ออกมานั้น เพราะที่ผ่านมามีข้าราชการบางกลุ่มเข้าใจสถานะภาพที่มั่นคงของราชการว่า ไม่มีใครจะย้ายออกหรือเอาผิดได้ง่ายๆ จึงทำให้เกิดการหลงลืมหน้าที่บางคนไม่สอนเลย"
จากกรณี ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เรื่อง มาตรฐานภาระงานทางวิชาการของผู้ตําแหน่งอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2558 สาระสำคัญ คือ ให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ต้องมีภาระงาน ไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง ทั้ง ภาระงานสอน ภาระงานวิจัยและงานวิชาการอื่น ภาระงานบริการวิชาการ ภาระงานทํานุบํารุงศิลปวัฒนธรรม และภาระงานอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับพันธกิจของสถาบันอุดมศึกษา (อ่านประกอบ:ก.พ.อ.เข้มอาจารย์มหาวิทยาลัย ต้องมี‘ภาระงาน’ไม่น้อยกว่า35 ชม./สัปดาห์)
ผศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประกาศ ก.พ.อ.มาตรฐานภาระงานทางวิชาการฯ ว่า มีข้อแตกต่างจากปี 2551 2 ส่วน อย่างแรกคือระเบียบเก่าของปี 2551 จะใช้บังคับมหาวิทยาลัยเพียงบางแห่ง เช่น ราชภัฏ เทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติเกินไป และสองคือมีการกำหนดภาระงานที่ต้องทำว่าใน 1 ภาคการศึกษาให้มีภาระหน้าที่การสอนอย่างน้อย 2 รายวิชา ดังนั้นในความเป็นจริงคำว่าอย่างน้อย 2 รายวิชา อาจจะสอน 4 หรือ 3 รายวิชาก็ได้ นี่คือระเบียบเดิม แต่เมื่อเปลี่ยนมาล่าสุดว่าจะต้องมีภาระงานอย่างน้อย 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ดูมีความเป็นธรรมและมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น โดยการกำหนดในลักษณะนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า มหาวิทยาลัยใดจะนำไปแบ่งและบริหารงานแบบไหน
ผศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวถึงคำว่าอย่างน้อย 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นั้น เฉลี่ยแล้วคืออาจารย์ต้องทำงานวันละ 7 ชั่วโมง นี่ถือเป็นเรื่องปกติที่ควรจะต้องทำอยู่แล้วจะสอนวันหนึ่งกี่ชั่วโมง และทำการศึกษาวิจัยค้นคว้ากี่ชั่วโมงนั่นคือเขาให้อิสระในการที่จะไปออกแบบบริหาร
“การกำหนดระเบียบมาตรฐานใหม่ออกมานั้น เพราะที่ผ่านมามีข้าราชการบางกลุ่มเข้าใจสถานะภาพที่มั่นคงของราชการว่า ไม่มีใครจะย้ายออกหรือเอาผิดได้ง่ายๆ จึงทำให้เกิดการหลงลืมหน้าที่บางคนไม่สอนเลย หรือบางคนสอนต้นเทอมแล้วมาเจอนักศึกษาอีกทีตอนสอบ ดังนั้นเพื่อให้ข้าราชการเข้าใจหน้าที่ของตนเองมากขึ้นจึงมีมาตรฐานออกมาเพื่อกระตุ้นให้อาจารย์ที่อาจจะเคยหลงลืมหน้าที่ตัวเองไปบ้างกลับมาตระหนักในบทบาทของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง” ผศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าว และว่า ประกาศนี้จะนำมาใช้กับกลุ่มข้าราชการเพียงอย่างเดียว เนื่องจากพนักงานในมหาวิทยาลัยหรือพนักงานในกำกับของรัฐ มีระเบียบบังคับในเรื่องภาระงานอย่างชัดเจนอยู่แล้ว แต่ของข้าราชการในอดีตไม่ได้กำหนดชัดเจน วันนี้จึงเป็นการทำให้บทบาทหน้าที่ของข้าราชการและบทบาทหน้าที่ของพนักงานมหาวิทยาลัยมีความเท่าเทียมในภาระงาน และสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น
ผศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาเมื่อไม่ได้กำหนดภาระหน้าที่งานอย่างชัดเจน จึงมีอาจารย์ข้าราชการบางกลุ่มเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน มหาวิทยาลัย ก.จ้างอาจารย์มหาวิทยาลัยข.มาเป็นอาจารย์พิเศษ และมหาวิทยาลัย ข.ก็เชิญมหาวิทยาลัย ก.ไปสอนบ้าง แบบนี้และทำให้ไม่ได้ทำหน้าที่ให้กับสถาบันตัวเอง ดังนั้นวันนี้ทุกคนต้องทำงานของตัวเองวันละ 7 ชั่วโมง ส่วนเวลาที่เหลือจะเอาไปทำอะไรนั้นก็เป็นสิทธิของท่าน มาตรฐานมีเพียงเท่านี้เอง
ขณะที่รศ.ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กล่าวถึงประกาศ ก.พ.อ.มาตรฐานภาระงานทางวิชาการฯ ฉบับนี้ ถือเป็นการกระตุ้นให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่เหลืออยู่ประมาณ 2.7 หมื่นคนที่ยังไม่มีระเบียบมากำกับ ขณะที่พนักงานมหาวิทยาลัยหรือพนักงานสัญญาจ้างมีกฎระเบียบบังคับใช้อยู่แล้ว
ปัจจุบันบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ 1.3 แสนคน เหลือเป็นข้าราชการ 2 หมื่นกว่าคน รศ.ดร. วีรชัย กล่าวว่า ประกาศนี้จึงมาคุมข้าราชการ 2.7 หมื่นคน บุคลากรในอุดมศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะอาจารย์ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด เช่น หากไม่ทำ ผศ.ภายใน 5 ปี ถูกไล่ออก เป็นต้น
“ประกาศนี้จึงถือว่า เป็นการยกมาตรฐานให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ใช้บังคับกับข้าราชการที่เช้าชามเย็นชาม และถือเป็นการขันน็อตให้แน่นขึ้น ทำให้ข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษาต้องแอ็คทีฟตัวเองมากขึ้น”รศ.ดร. วีรชัย กล่าว และว่า มหาวิทยาลัยหลักๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ มหิดล ออกนอกระบบหมดแล้ว จึงเหลือมหาวิทยาลัยในกลุ่ม “ราชภัฎ” และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา หมายถึงอาจารย์ที่อยู่ใน 80 มหาวิทยาลัย ทั้งมหาวิทยาลัยหลัก (ที่มีข้าราชการเหลืออยู่) มหาวิทยาลัยราชภัฎ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล นับเป็นโอกาสที่ทำให้บุคลากรทำผลงานมากขึ้น
เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กล่าวด้วยว่า จากประกาศกำหนมาตรฐานภาระงานยังทำให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัย มีภาระงานทางวิชาการ ทำวิจัย สอน และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมด้วย เป็นจรรยาบรรณที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยต้องทำ แต่ที่ผ่านมาบางแห่งก็ไม่ทำ เลยต้องออกกฎบังคับให้ทำ
“ ประกาศนี้เหมือนยาแรงที่ถูกนำมาใช้กับข้าราชการ เช่นเดียวกับพนักงานมหาวิทยาลัยที่ถูกกฎเกณฑ์ ระเบียบบังคับที่เข้มงวดมาก่อนหน้านี้”
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายน 2558 ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร (อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) กล่าวในการประชุมก.พ.อ. ครั้งที่ 4/2558 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง มาตรฐานภาระงานทางวิชาการของผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. .... ซึ่งได้มีการปรับแก้ตามข้อสังเกตของ ก.พ.อ.แล้ว เช่น การเพิ่มเติมอารัมภบทให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมให้คณาจารย์และนักวิจัยไปปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรม (Talent Mobility) และเรื่องจิตสำนึกของการเป็นครูในการดูแลนักศึกษา การปรับปรุงคำนิยมของ ภาระงานสอน ให้ครอบคลุมถึงรูปแบบการสอนที่อาจมีเพิ่มเติมในอนาคตและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบการสอนต่างๆ แก่สถาบันอุดมศึกษา
โดยเฉพาะภาระงานด้านวิจัย ปรับเป็น "ภาระงานวิจัยและงานวิชาการอื่น" และภาระงานด้านบริการวิชาการและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ขยายความคำนิยามเพิ่มเติมว่า "เป็นงานหรือกิจกรรมเพื่อทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมที่ดำรงไว้ซึ่งคุณค่า เอกลักษณ์ของชาติ รวมทั้งปลูกฝังความเป็นชาติในลักษณะต่างๆ" เป็นต้น