นักวิจัยชี้ฉากทัศน์อนาคตสังคมไทยติดกับดักทรัพยากรมนุษย์
เมธีวิจัยอาวุโส สกว.ชี้ฉากทัศน์ไทยใน 30 ปีข้างหน้า ถึงโชติช่วงแต่ไม่ชัชวาล ยังติดกับดักรายได้ปานกลางและทรัพยากรมนุษย์ เมืองจะกลืนชนบทและยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ผลิตภาพต่ำ อุตสาหกรรมไม่ตายแต่เลี้ยงไม่โต
ศ. ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด เมธีวิจัยอาวุโส สกว. กล่าวถึงฉากทัศน์ของประเทศไทยใน 30 ปีข้างหน้า ระหว่างการประชุมระดมความคิดเห็นและสรรหานักวิจัยรุ่นกลางและรุ่นใหม่ ภายใต้โครงการความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยในปริทรรศน์ประวัติศาสตร์ ซึ่งจัดโดยฝ่ายวิชาการ สกว. ว่า เป้าหมายของการวิจัยนี้คือ การเข้าใจปัจจุบันเพื่อสร้างอนาคต โดยการประมวลและจัดการความรู้เพื่อเสนอประเด็นนโยบายสาธารณะที่ดีสำหรับอนาคต และสร้างฉากทัศน์เกี่ยวกับอนาคตและจุดคาดงัดของการเปลี่ยนแปลง
งานวิจัยฉากทัศน์เป็นการมองอนาคต โดยใช้กระบวนการคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคตอย่างเป็นระบบ และคำนึงถึงปัจจัยรอบด้านที่เป็นทั้งแรงผลักดันให้เหตุการณ์เกิด อุปสรรค และความไม่แน่นอนที่อาจพลิกผัน มีการเล่าเหตุการณ์ที่เป็นไปได้อนาคตทำให้สามารถจินตนาการเป็นภาพในใจที่จดจำง่าย
โดยสามารถสรุปได้ว่า ประเทศไทยวันนี้โชติช่วงแต่ไม่ชัชวาล เพราะทรัพยากรและการสำรองปิโตรเลียมจะหมดสิ้นใน 18 ปีข้างหน้าถ้าใช้มากเกินไป จึงต้องเร่งสร้างพลังงานทางเลือก
ความสามารถในการแข่งขันของไทยยังเดินถอยหลังขณะที่ชาติอื่นวิ่ง ไทยจึงติดกับดักรายได้ปานกลาง ไม่สามารถก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างรวดเร็วได้ ต้องใช้เวลากว่า 20-30 ปี โดยสาเหตุหลักคือ กับดักทรัพยากรมนุษย์ที่ขาดทักษะแรงงาน ระบบการศึกษาและการฝึกอบรมขาดความต่อเนื่อง งบวิจัยและพัฒนาต่ำ มหาวิทยาลัยไม่ทำวิจัย ชีวิตบริบูรณ์ขึ้นแต่อบอุ่นน้อยลง เกษตรกรไม่ใช่รายได้หลัก ครอบครัวแหว่งกลาง ค่าใช้จ่ายเหล้าบุหรี่สูง สถิติผู้ติดเชื้อเอชไอวีสูงที่สุดในอาเซียน สาเหตุการตายเกิดจากอุบัติเหตุ พฤติกรรมและพันธุกรรม สุขภาพจิตมีแนวโน้มน่ากังวลและพยายามฆ่าตัวตายมากขึ้น
ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ เกิดสึนามิประชากรและภาวะทุพพลภาพ การศึกษาก็มีผลลัพธ์ต่ำลงทั้งที่ไม่มีปัญหางบประมาณ เกิดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงเพราะการอุดหนุนในระดับต่ำทั้งประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอุดมศึกษา จึงต้องปฏิวัติการศึกษาใหม่
ด้านระบบราชการในอนาคตจะรวมศูนย์แต่แยกส่วน เกิดการกระจายอำนาจเพราะเป็นรากฐานของประชาธิปไตย ยกภาระให้แต่ไม่ให้งบประมาณ
ด้านทรัพยากรธรรมชาติยังขาดการบูรณาการทั้งที่ดินและน้ำ ต้องมีการทำงานร่วมกับมวลชนและบูรณาการกับโลจิสติกส์
ด้านแรงงานข้ามชาติ 3-5 ล้านคน มองแรงงานต่างด้าวอย่างไร้ตัวตน กดขี่ข่มเหง ยกปัญหาให้สังคม จะมีแรงงานข้ามชาติรุ่นสอง เป็นพลเมืองทางวัฒนธรรมแต่ไม่ใช่พลเมืองตามกฎหมาย
ในอนาคตคนไทยจะเป็นคนเมืองหมด เมืองกลืนชนบท กรุงเทพฯ ยังเป็นเอกนคร อีสานจะรุ่งโรจน์มากขึ้น ความท้าทายของสังคมคือความเหลื่อมล้ำ คนรวยมีรายได้มากกว่าคนจน 11 เท่า ชนบทไทยเป็นชีวิตในทวิภพ เป็นตลาดอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ มีการขยายตัวของภาคบริการ แรงงานรับเหมาโดยพ่อค้าเกษตร ถือครองที่ดินโดยคนเมืองและคนต่างชาติ เกิดเกษตรไทยโฉมใหม่แต่ใช้นโยบายเก่า เกษตรดั้งเดิมทยอยเกษียณ เปลี่ยนเป็นเกษตรเชิงพาณิชย์และเกษตรทางเลือกมากขึ้น นโยบายประชานิยมไม่แก้ปัญหาที่เหตุ ภาคอุตสาหกรรมผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ใช้แรงงานเข้มข้นมากขึ้นแต่ไม่ใช้ทักษะสูง แรงงานแพงกว่าเพื่อนบ้าน ต่างด้าวย้ายกลับ ขาดเทคโนโลยีของตัวเอง เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ตายแต่เลี้ยงไม่โต
ท่ามกลางกระแสบูรพาภิวัตน์ อิทธิพลของจีนมีผลกระทบอย่างมหาศาล จึงต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ทำเมืองชายแดนให้เป็นฮับ มองเพื่อนบ้านในแง่มุมของโอกาสและความร่วมมือไม่ใช่คู่แข่ง ปัญหาเศรษฐกิจไทยอาจต้องใช้ปัจจัยภูมิเศรษฐศาสตร์มาแก้ไข ทั้งจีนและอินเดียจะเข้ามาแทรกซึมทั้งระดับรากหญ้า ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมขนานใหญ่ ปรากฏการณ์ใหม่ของฉากทัศน์ในอนาคต คือ การเหินของภาคการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากขึ้นเพราะค่าเงินบาทถูก แต่ปัญหาคือ เกิดความเหลื่อมล้ำ มีการซื้อขายที่ดินเพื่อทำแหล่งท่องเที่ยวมากขึ้น แต่ยังไม่มีระบบรองรับที่ดี เมื่อมองประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับความสามารถในการแข่งขัน พบว่าไทยมีผลิตภาพการผลิตต่ำและการเคลื่อนย้ายของแรงงานทักษะสูง
ด้าน ผศ. ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการสำรวจวิจัยและพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญพบว่ามีสองฉากทัศน์ที่สะท้อนความเป็นไปได้ของประเทศไทย คือ “ซิมโฟนีปี่พาทย์” เป็นชีวิตที่อยู่ภายใต้ระบบระเบียบที่ชัดเจน แต่ละคนมีหน้าที่และความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง รู้หน้าที่และบทบาทของตนเองภายในสังคม เป็นชีวิตที่อยู่ในองค์กรอย่างเป็นระเบียบและเป็นทางการ มีวาทยกรกำกับดูแลให้สังคมเดินไปตามข้อกำหนด
"สังคมไทยในอนาคตยังคงมีวัฒนธรรมของภาคกลางผสมผสานกับตะวันตก มีกฎระเบียบที่ชัดเจน คาดเดาว่าในอนาคตจะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง มีการกลับมาของรัฐพัฒนา ต้องมีรัฐราชการที่เข้มแข็งและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักนี้ได้ แต่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำอยู่และอาจเพิ่มขึ้น เพราะเลือกเฉพาะบางกลุ่มในสังคมเพื่อให้เศรษฐกิจไหลริน โดยมีนัยที่เชื่อว่า คนเราเกิดมานิ้วมือยาวไม่เท่ากัน แต่ละคนมีความถนัดไม่เท่ากัน ส่วนสุขภาพคนไทยจะมีชีวิตยืนยาวเท่าที่จ่ายได้เพราะเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยไม่เท่ากัน เกิดปัญหา “แก่ เดียวดาย ชายขอบ” เป็นระบบสังคมปัจเจก เป็นชีวิตเมืองภายใต้ยานยนต์ภิวัตน์ คลื่นต่อไปผู้ขับขี่จักรยานยนต์จะหันมาขับรถมากขึ้นทั้งในเมืองและชนบทเพราะมีรายได้มากขึ้น และมีชีวิตเสมือนกับดักดิจิทัล ใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากขึ้น"
อีกฉากทัศน์หนึ่งคือ “แจ๊สหมอลำ” ซึ่งเป็นชีวิตที่เป็นไปตามความคิดที่เน้นความเป็นอิสระ ก้าวพ้นกับดักทุนนิยม กระจายอำนาจและงบประมาณสู่เทศบาลภิวัฒน์ ท้องถิ่นใดมือยาวสาวได้สาวเอา ใช้ชีวิตอิสระเสรีเหนืออื่นใด คนเมืองทันสมัยแต่อยู่ในชนบท ในน้ำปีปลาแต่ในนาไม่มีคนทำเพราะไม่มีแรงงาน เป็นดิจิทัลท้องถิ่นเช่นเดียวกับคนเมือง ใต้ร่มธงไทยนั้นปวงชนทุกคนคือไทย เกิดคนไทยรุ่นใหม่ที่พ่อแม่เป็นต่างด้าว