องค์กรรัฐ-เอกชนหนุนร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ยันป้องฮั้ว-ช่วยเซฟเงิน
กพร.-UNDP จับมือ กรมบัญชีกลาง-คกก.รัฐวิสาหกิจ-องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น จัดเสวนาความเสี่ยงธรรมาภิบาลในการจัดซื้อจัดจ้าง ยกมือหนุนร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ยันป้องกันการฮั้ว ช่วยรัฐเซฟเงินได้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2558 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาติ (UNDP) ภายใต้การสนับสนุนของกรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการกำกับรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนในนามองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ร่วมกันจัดงานสัมมนารายงานการประเมินความเสี่ยงในด้านธรรมาภิบาลในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของไทย
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวถึงวัตถุประสงค์และหลักการร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารการพัสดุ พ.ศ. …. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ภายหลังคณะรัฐมนตรีมติเห็นชอบแล้วว่า เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดคุณค่าในเชิงภารกิจของรัฐ สำหรับรายละเอียดวิธีปฏิบัติจะออกเป็นระเบียบและกฎกระทรวง เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการปฏิบัติงาน ซึ่งระเบียบที่ออกมาตามความในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ให้บังคับใช้กับหน่วยงานรัฐทุกแห่ง ยกเว้น รัฐวิสาหกิจไหนต้องการจะจัดระเบียบหรือข้อบังคับขึ้นมาใช้เอง ก็ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายให้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา
นายมนัส กล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ หน่วยงานรัฐจะได้พัสดุที่มีคุณภาพตามวัตถุประสงค์ มีความคุ้มค่า มีราคาที่เหมาะสม โดยไม่ต้องถือราคาต่ำสุดในการเสนอราคาเสมอไป รวมถึงผู้ประกอบการก็จะมีความเชื่อมั่น และประสงค์จะเข้าร่วมแข่งขันมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้มากยิ่งขึ้น ผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชนที่มีต่อรัฐ
“ระบบอีบิดดิ้ง(E-Bidding) ทำให้ไม่สามารถรู้ได้ว่าใครเข้ามาประกวดราคาบ้าง เพราะฉะนั้นไม่สามารถฮั้วกันได้ ทำให้ราคาถูกลง ช่วยให้รัฐเซฟเงินได้มากขึ้น” นายมนัส กล่าว
ส่วน นายขวัญพัฒน์ สุทธิธรรมกิจ ตัวแทนจาก UNDP กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานและการวิเคราะห์ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยพิจารณาสี่เสาหลักของระบบ ได้แก่ 1.กรอบกฎหมายและระเบียบปฏิบัติ 2.กรอบโครงสร้างขององค์กรและศักยภาพขององค์กร 3.ศักยภาพในการดำเนินงานและกลไกตลาด และ 4.โครงสร้างในการควบคุมและกลไกการสร้างความซื่อตรงและความโปร่งใส
“คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้แล้ว เมื่อ 7 ก.ค. 58 ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาร่างที่คณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนนี้ (ส.ค.) หลังจากนั้นส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อ และจะมีผลบังคับใช้ เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่1 ต.ค. 58” นายขวัญพัฒน์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริการพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ... ถูกเสนอโดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อลดปัญหาการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างที่เกิดจากหน่วยงานของรัฐ ที่ไม่มีระบบการรวมศูนย์ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง และการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ