เครือข่ายภาคประชาสังคม ค้านร่าง พ.ร.บ.ท้องวัยรุ่น ฉบับสนช.
เครือข่ายภาคประชาสังคมยื่นหนังสือค้านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ฉบับ สนช.ระบุเนื้อหาละเมิดสิทธิเด็ก ด้านประธาน กมธ.สธ.แจง เร่งผลักดันกฎหมาย หวังแก้ปัญหาท้องวัยรุ่น
วันที่ 18 ส.ค. คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติ (สนช.) ร่วมกับองค์การสมาชิกรัฐสภาแห่งเอเชียด้านประชากรและการพัฒนา (เอเอ็ฟพีพีดี) โดยการสนับสนุนจากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอ็ฟพีเอ) จัดการสัมมนาเรื่อง “สถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและการแท้งไม่ปลอดภัย การขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติการป้องกันและการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น”
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สนช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขมีการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ พ.ศ. ... แต่ไม่สามารถผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาหลายครั้ง ทั้งนี้ เนื่องจากคำว่า “อนามัยการเจริญพันธุ์” เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก อีกทั้งมีหลายประเด็นในร่างฉบับดังกล่าว มีรายละเอียดและต้องใช้เวลาในการพิจารณา ดังนั้น คณะสมาชิกสภานิติบัญญัติจำนวน 55 คน จึงได้ร่วมกันลงชื่อเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.การป้องกันและการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เนื้อหาเป็นการเจาะจงแก้ปัญหาของกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นกำลังเป็นปัญหาที่สังคมไทยให้ความสำคัญ โดย ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวร่วมกับร่างฉบับของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จนำกลับเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.เพื่อลงมติรับหลักการในเดือนตุลาคมนี้
ด้าน นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีชื่อเดียวกันกับของสมาชิกสภานิติบัญญัติ โดยเป็นการปรับแก้จากร่าง พ.ร.บ.อนามัยการเจริญพันธุ์ที่จัดทำมาในช่วงก่อนหน้า ล่าสุด เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ พิจารณาว่ายังมีความคิดเห็นที่หลากหลายในแง่ของเนื้อหา จึงเห็นควรให้ชะลอการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไว้ก่อน โดยจะหันไปขับเคลื่อนการจัดทำยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2558-2567 (One goal one plan) ที่มุ่งเน้นการบูรณาการงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
นางสาวจิตติมา ภาณุเตชะ ผู้อำนวยการมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) กล่าวถึงเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวว่า เป็นการมองปัญหาในมิติของครอบครัวเป็นหลัก แต่ยังขาดมาตรการส่งเสริมด้านการบริการอย่างที่ควรจะเป็น รวมถึงไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างความฉลาดรู้เรื่องเพศอย่างรอบด้านแก่เด็กและเยาวชน เนื่องจากการเรียนรู้ไม่ควรจำกัดเพียงหลักสูตรเพศศึกษาในระบบโรงเรียน อีกทั้งขาดการกำหนดระบบให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบปัญหาอย่างครบวงจร โดยเฉพาะในส่วนของสวัสดิการที่พ่อแม่วัยรุ่นควรจะได้รับ นอกจากนี้ ยังละเลยสิทธิในการตัดสินใจของเยาวชน รวมทั้งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะมีการเปิดเผยข้อมูลเรื่องเพศของเยาวชน
“ต้องขอชื่นชมทุกฝ่าย โดยเฉพาะสมาชิก สนช.ที่มีการหยิบยกประเด็นเรื่องนี้เพื่อให้เกิดการถกเถียงกันอีกครั้ง เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะสามารถผลักดันการจัดทำกฎหมายจนสำเร็จหรือไม่ แต่สิ่งที่ภาคประชาชนให้ความสำคัญมาโดยตลอด คือเรื่องทัศนคติของสังคมต่อประเด็นเรื่องเพศ ซึ่งจะเอื้อให้กฎหมายสามารถปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลเป็นการแก้ปัญหาแก่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง” ผู้อำนวยการมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง กล่าว
ในระหว่างการสัมมนา นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาค ในฐานะตัวแทนภาคประชาสังคม ยังได้มอบเอกสารแถลงการณ์ “เครือข่ายภาคประสังคมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. ...” แก่ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เนื่องจากมีเนื้อหาที่เป็นการละเมิดสิทธิ เสรีภาพ ตลอดจนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็กและเยาวชน โดยมี 16องค์กรเครือข่ายภาคประชาชนร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว
ทั้งนี้ ประเด็นที่ภาคประชาชนห่วงใย ได้แก่ หมวด 4 ของร่างพ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. ... ว่าด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่ในการเข้าตรวจค้นในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า มีการกระทำความรุนแรงทางเพศ การกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือเหตุอันกระทำต่อสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น ตลอดจนการนำตัวไปยังที่ทำการของพนักงานเจ้าหน้าที่และสามารถกักตัวไว้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง เพื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับวัยรุ่น ครอบครัว บุคคลที่อาศัยอยู่ด้วย เนื่องจากมีการเกรงกันว่า ประเด็นเรื่องเพศมีความละเอียดอ่อน หากเจ้าหน้าที่ขาดความเข้าใจ และทักษะการปฎิบัติงานจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิเด็กได้