เครือข่าย Land Watch เผยคำสั่งคสช.ทวงคืนผืนป่า ยึดที่ชาวบ้านกว่า5 หมื่นไร่
สวาท อุปฮาด ชี้ทวงคืนผืนป่า 28 ล้านไร่ของคสช. สร้างผลกระทบความมั่นคงทางอาหาร ระบุจะมีประชาชน ไม่น้อยกว่า 10 ล้านคนได้รับผลกระทบ ย้ำการฟื้นฟูป่าต้องรัฐ ชุมชน ชาวบ้าน ร่วมมือกัน
18 สิงหาคม 2558 เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร มูลนิธิชีววิถี จัดงานสมัชชาความมั่นคงทางอาหาร ประจำปี 2558 ทั้งนี้ในงานมีการอภิปรายเรื่อง “สถานการณ์ปัญหาความขัดแย้ง และการถือครองที่ดิน” ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กทม.
น.ส.พรพนา ก๊วยเจริญ จากเครือข่าย Land Watch กล่าวว่า หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)มีนโยบายเรื่องทรัพยากรและมีคำสั่งในการทวงคืนผืนป่า โดยในเดือนมิถุนายน 2557 มีประกาศคำสั่งคสช. ฉบับที่ 64/2557 พื้นที่ชุมชนหลายแห่งถูกบังคับให้มีการอพยพ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการไปตัดพืชผลการเกษตรของชาวบ้าน เช่น ยางพารา รวมถึงยึดพื้นที่ทำกินของชาวบ้านด้วย
ทั้งนี้ช่วงที่มีการดำเนินการตามคำสั่งคสช.พบว่า ที่ดินที่ถูกยึดพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และข้อมูลในช่วงเดือนเมษายน 2557- กุมภาพันธ์ 2558 ของกอ.รมน.รายงานว่า มีผู้ต้องหาถูกจับกุม 1,013 คน ยึดที่ดินได้ 52,027 ไร่
ด้านนายสวาท อุปฮาด เครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิ์ จ.สกลนคร กล่าวว่า แผนแม่บทป่าไม้ของคสช.มีนโยบายชัดเจนว่าต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ 40% ซึ่งจากแผ่นแม่บทดังกล่าวส่งผลให้คนที่อยู่ในพื้นที่ป่ามาหลายชั่วอายุคนหรืออยู่กันมานานนับสิบปีโดยที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการรับรองสิทธิ์ ดังนั้นเขาจึงไม่มีเอกสารสิทธิ์ และเมื่อมีกฎหมายขึ้นมาก็ทำให้บุคคลเหล่านี้ที่เข้าไม่ถึงสิทธิ์กลายเป็นกลุ่มคนที่ถือครองที่ดินอย่างผิดกฎหมาย เฉพาะสกลนครมีประเด็นเหล่านี้อย่างต่อเนื่องในการทวงคืนผืนป่าหลังมีนโยบายจากคสช. โดยมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจยึดบางครั้งคนนำคำสั่งไปปฏิบัติก็ไม่ได้มีการตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อนดำเนินการ
นายสวาท กล่าวถึงผลกระทบจากแผนแม่บทป่าไม้ว่า ทุกวันนี้เรื่องการตรวจยึดยังคงมีทุกวัน แจ้งข้อกล่าวหา บางส่วนก็ถูกดำเนินคดีไปแล้ว บางรายรัฐบอกว่าหากรับสารภาพโทษหนักจะกลายเป็นเบา ในช่วงแรกชาวบ้านที่สกลนคร 37 คน ยอมรับสารภาพในทันที 3 คน สิ่งที่เขาได้รับคือการสั่งจำคุกเป็นระยะเวลา 2 ปี ขณะที่ชาวบ้านพยายามหาทางออกด้วยการร้องทุกข์ และแม้จะมีการตรวจสอบก็ยังไม่ช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนได้
"หากมองภาพรวมตามแผนของคสช.ที่ต้องการจะเอาป่าคืนให้ได้ 28 ล้านไร่ ในระยะเวลา 2 ปี จะมีประชาชน 10 ล้านคน ได้รับผลกระทบ และแน่นอนว่าจะส่งผลความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ของกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ดังนั้นความน่าสนใจคือหากรัฐต้องการให้มีความมั่นคงด้านอาหารด้วยนโยบายที่แท้จริงควรจะไปในทิศทางใด"
ตัวแทนเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิ์ฯ กล่าวด้วยว่า การกระทำของรัฐที่ผ่านมาสร้างความหวาดผวาให้กับชาวบ้าน ที่ผ่านมารัฐต้องการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ผืนป่า มีนโยบายของกรมป่าไม้ จึงอยากถามว่า รัฐใช้งบฟื้นฟูป่าไปเท่าไหร่ แล้วได้ผลหรือไม่ แต่เพราะนโยบายเหล่านั้นไม่ได้ผล ทำไมการที่รัฐเองอยากได้ผืนป่าคืนจึงไม่คุยกับชาวบ้าน แล้วคืนผืนป่าจากความร่วมมือ ช่วยกันออกแบบ ทั้งชุมชน ชาวบ้านในพื้นที่ หากทำลักษณะนี้ย่อมมีความสำเร็จและเป็นการทำให้คนและป่าอยู่ร่วมกันได้
ขณะที่ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การอพยพคนออกจากป่าเป็นเรื่องที่มีการต่อสู้กันมานาน ซึ่งแท้จริงแล้วคือการแย่งชิงทรัพยากร แนวคิดที่ไม่ควรลืมน่าจะเป็นเรื่องทำอย่างไรที่จะไม่ทิ้งเรื่องการอนุรักษ์ให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้
"ที่ผ่านมาเราพยายามที่จะผลักดันพ.ร.บ.ป่าชุมชนเพื่อมุ่งหวังจะให้ชุมชนมีส่วนร่วมและทำให้คนสามารถอยู่กับป่า แต่พ.ร.บ.ฉบับนี้สำเร็จกลับกลายเป็นการนำคนออกจากป่า ซึ่งเป็นสิ่งที่สวนทางกับข้อเรียกร้องและข้อเสนอของชาวบ้าน ดังนั้นการหาทางออกของปัญหานี้เราจำเป็นต้องดูบทเรียนที่ผ่านมา กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ และข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ผ่านมาเขาไม่ได้ขอที่จะบุกรุกป่า เพียงแต่ขอให้ชุมชนมีส่วนร่วมและกระบวนการให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งแท้จริงแล้วก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าจะทำได้"