“ผาสุก พงษ์ไพจิตร” ยก 3 เรื่องอื้อฉาว คอร์รัปชั่นที่เกิดจากการสมยอมกัน
ข้าราชการมีการศึกษาสูง ความสามารถทำให้ก้าวหน้าในการงาน แต่ส่วนหนึ่งก็ปรับตัวรับกับขบวนการคอร์รัปชั่น โดยผ่านการอุ้มชูของผู้ใหญ่ทั้งในกระทรวงเอง และกับบุคคลระดับรัฐมนตรี การยอมรับได้กับวัฒนธรรมไม่สุจริต หรือวัฒนธรรมคอร์รัปชั่น ได้กลายเป็นสิ่งที่พบเห็นอยู่ทั่วไป ในหน่วยงานเกรดเอของสังคมไทย
เมื่อเร็วๆ นี้คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 5 "จะต้องสู้กับคอร์รัปชั่นอย่างไรดี" โดยศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราภิชาน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.ดร.ผาสุก กล่าวตอนหนึ่งถึงเรื่องอื้อฉาว 3 กรณี เพื่อให้เห็นความซับซ้อนของคอร์รัปชั่นวงเงินสูง 1.รัฐบาลถูกโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กับบริษัทปลอม 4.3 พันล้านบาท 2.โจรช่วยจับคอร์รัปชั่น และ 3.CTX 9000 อีกครั้ง
กรณี 1. 1.รัฐบาลถูกโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กับบริษัทปลอม 4.3 พันล้านบาท ขณะนี้การดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องยังไม่สิ้นสุด แต่สำหรับข้าราชการที่มีหลักฐานทำผิดจริงได้ถูกลงโทษไปแล้ว สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอข่าวกรมสรรพากรได้คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ทุกบริษัทที่ไปตรวจสอบมีที่ตั้งเป็นห้องว่างเปล่า บ้านร้าง 30 แห่งใช้บ้านเลขที่เดียวกัน และมีหลักฐานว่า บุคคลที่ตั้งบริษัทปลอมเป็นเจ้าของสำนักงานบัญชี ทนายความ และเกี่ยวพันกับผู้ใหญ่ในกระทรวงฯ
“การเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องของสำนักข่าวอิศรา ส่งผลให้กระทรวงการคลังแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบ ส่งเรื่องให้ดีเอสไอ ป.ป.ช. ตรวจสอบ ตามมาด้วยการโยกย้ายข้าราชการ การอายัดทรัพย์ข้าราชการระดับสูง การไล่ออก ให้ออก สอบวินัยร้ายแรงมากกว่า 10 ราย มีผู้ใหญ่ถูกพักราชการ”
ศ.ดร.ผาสุก กล่าวอีกว่า กรณีโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม การไต่สวนพบเพียงระดับข้าราชการ ไม่มีข่าวนักการเมืองเกี่ยวโยงแต่อย่างใด หากเป็นจริงข้าราชการระดับสูงจำนวนหนึ่ง กระทำการทุจริตด้วยตนเอง หลายคนมีการศึกษาสูงระดับปริญญาตรี ปริญญาโท บ้างผ่านการอบรมผู้บริหารระดับสูงหลายแห่ง ฯลฯ
กรณีที่ 2.โจรช่วยจับคอร์รัปชั่น เมื่อปลายปี 2554 ขณะที่ผู้ใหญ่ในกระทรวงแห่งหนึ่งฉลองงานแต่งงานลูกสาวที่โรงแรม โจรได้เข้าปล้นบ้าน ขนเงินสดที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยังมีสายรัดจากธนาคารเป็นเงินจำนวนมาก โดยโจรรับสารภาพเบื้องต้นว่า พบกระเป๋าใส่เงินหลายร้อยล้านบาท แต่ขนไปเพียงไม่กี่ล้านบาท ฝ่ายเจ้าของบ้านบอกว่า เงินที่ถูกปล้นเป็นเงินสินสอด เงินเตรียมจัดงานแต่งลูกสาว ประมาณ 5 ล้านบาท
ในที่สุดตำรวจจับคืนเงินมาได้ 20 ล้านบาท ความไม่ชอบมาพากลนี้ทำให้ผู้ใหญ่ถูกย้ายไปช่วยราชการ และป.ป.ช.เข้าดำเนินการอายัดทรัพย์สินเพื่อตรวจสอบการร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ 4 ปี ต่อมาปี 2557 ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดว่าร่ำรวยผิดปกติ จึงฟ้องศาลแพ่งให้มีคำสั่งยึดทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เกือบ 50 ล้านบาท
“เหตุปล้นครั้งนั้น มีรายงานว่า เกิดจากความขัดแย้งผลประโยชน์ สาธารณชนจะไม่มีทางได้รับรู้กรณีอื้อฉาวนี้เลย และไม่สามารถเอาผิดใครได้เลย หากโจรไม่ได้มาช่วย ข้อมูลที่เปิดเผยทางสาธารณชนผ่านสื่อ ทำให้ทราบเส้นทางชีวิตของข้าราชการผู้ใหญ่ จบการศึกษาสูง ผ่านการอบรมผู้บริหารระดับสูง จากที่เคยดำรงตำแหน่งสูงในกรมสำคัญ จนได้เป็นปลัด สื่อมวลชนประเมินกันว่า เหล่านี้เป็นพื้นฐานอันทำให้มีเงินจำนวนมหาศาลไปกบดานสงบนิ่งอยู่ในบ้าน”
ศ.ดร.ผาสุก กล่าวต่อว่า ปมเงื่อนอยู่ที่กระบวนการจัดการจะสามารถลากคอบรรดานักการเมือง พรรคการเมืองขึ้นสู่ตะแลงแกงได้หรือไม่ และมีคำถามสายรัดเงินจากธนาคารต่างๆ จะนำไปสู่ผู้เกี่ยวข้องรายอื่นๆ ในภาคธุรกิจเอกชนได้หรือไม่
กรณีที่ 3 CTX 9000 อีกครั้ง ซึ่งมีหลักฐานความไม่ชอบมาพากล แต่ในท้ายที่สุดไม่มีใครผิดเลย ปี 2546 คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) จัดซื้อซีทีเอ็ก 9000 เครื่องดักจับวัตถุระเบิด 26 เครื่องเพื่อติดตั้งในสนามบินสุวรรณภูมิ บทม.ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างผ่านบริษัทตัวแทนมากกว่า 1 บริษัท
ผลที่เกิดขึ้นมีส่วนต่างราคาจากบริษัทมาถึง บทม.จำนวนหนึ่ง ปี 2547 บริษัท อินวิชั่นฯ ถูกคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ของสหรัฐฯ ตรวจสอบ พบว่า ตัวแทนจำหน่ายของบริษัทในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิคได้ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศจีน และฟิลิปปินส์ ให้ซื้อสินค้าของตน แต่ในประเทศไทย ได้พบเงินส่วนต่างราคา จ่ายให้ สัญญาจะจ่ายให้เจ้าหน้าที่ไทย แต่ยังไม่เสร็จสิ้นจนถูกตรวจสอบเสียก่อน
“หลังรัฐประหารปี 2549 มีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายจากรัฐ (คตส.) ขึ้น สมัยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตรวจสอบคดีนี้ มีผู้ถูกกล่าวหา รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม กลุ่มบริษัทเอกชน 25 ราย เจ้าหน้าที่ของบริษัทสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม นายทหารยศพลเอก อัยการสูงสุด นักธุรกิจมีชื่ออีก 2ราย
ปี 2551 คตส.ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้องร้อง อัยการสูงสุดมีข้อโต้แย้งจากความไม่สมบูรณ์ของคดี 2 ครั้ง ป.ป.ช.จึงเตรียมการฟ้องเอง และส่งให้กรรมการป.ป.ช.เดินทางของรายละเอียดจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ 28 สิงหาคม 2555 ป.ป.ช.แถลงมีมติเอกฉันท์ยกคำร้อง”
ศ.ดร.ผาสุก กล่าวถึงความกังขาเกี่ยวกับความโปร่งใส ไม่โปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเครื่อง CTX 9000 ยังคงมีอยู่ มีหลายคำถามยังต้องการคำตอบ การที่อัยการสูงสูงเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา แต่ในขณะเดียวกันก็มีหน้าที่เป็นผู้ฟ้องร้องผู้กระทำความผิดด้วย นับเป็นการทับซ้อนของผลประโยชน์ หรือไม่
หากพบว่าหลักฐานที่ได้จากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ไม่เพียงพอ ได้มีการแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมภายในประเทศมากน้อยเพียงใด เมื่ออัยการสูงสุด และป.ป.ช.ลงมติไม่ฟ้องคดีนี้แล้วนั้น หมายความว่า สิ้นสุด ไม่มีช่องทางรื้อฟื้นคดีนี้ได้อีกใช่หรือไม่ ทั้งๆ ที่ความกังขาของหลายๆ คนก็ยังมีอยู่
จากกรณีอื้อฉาวทั้ง 3 เรื่อง ศ.ดร.ผาสุก กล่าวว่า กรณีมีหลักฐานความไม่ชอบมาพากลจริง มีข้อสังเกตบางประการคือ คอร์รัปชั่นวงเงินสูงเป็นพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งโดยมิชอบของข้าราชการระดับสูง ซึ่งอาจทำได้ด้วยตนเอง หรืออาจร่วมมือกับนักธุรกิจ หรือกับนักการเมือง เป็นพันธมิตรสองเส้า สามเส้า เป็นคอร์รัปชั่นที่เกิดจากการสมยอมกัน ระหว่างผู้ให้และผู้รับ ยากต่อการตรวจสอบ ส่งผลเสียกับสังคมวงกว้าง เพราะใช้ทรัพยากรสาธารณะมาก
"ข้าราชการมีการศึกษาสูง ความสามารถทำให้ก้าวหน้าในการงาน แต่ส่วนหนึ่งก็ปรับตัวรับกับขบวนการคอร์รัปชั่น โดยผ่านการอุ้มชูของผู้ใหญ่ทั้งในกระทรวงเอง และกับบุคคลระดับรัฐมนตรี การยอมรับได้กับวัฒนธรรมไม่สุจริต หรือวัฒนธรรมคอร์รัปชั่น ได้กลายเป็นสิ่งที่พบเห็นอยู่ทั่วไป ในหน่วยงานเกรดเอของสังคมไทย เป็นปัญหาใหญ่มากต้องแก้ไข อย่างจริงจัง
กรณีอื้อฉาวที่โยงใยกับคนระดับบิ๊กจำนวนมาก จะพบว่า กระบวนการเอาผิด หรือผู้รับผิดชอบกับความไม่โปร่งใสเป็นเรื่องยากมากจริงๆ แม้จะมีเบาะแสความไม่ชอบมาพากลจากต่างประเทศ แม้รัฐบาลแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ใช้เหตุผลเพื่อเข้ามาแก้ไขทุจริตคอร์รัปชั่น ก็ยังไม่สามารถเอาผิดใครได้
กรณีเหล่านี้เป็นตัวอย่าง เป็นตัวอย่างไม่ดีให้ข้าราชการอื่นๆ เอาอย่างหรือไม่ เราจะทำอย่างไร เรื่องอื้อฉาวทั้ง 3 กรณี ถูกเปิดโปงจากคนภายนอก และเป็นอุบัติเหตุ ทำให้เห็นความอ่อนแอของกลไกตรวจสอบภายในระบบราชการ และป.ป.ช. แต่ได้แสดงอานุภาพของภาคประชาชนในการให้เบาะแส และบทบาทของสื่อมวลชนในการเปิดโปงคดีทำให้สาธารณชนรับทราบ จนนำไปสู่การเอาผิดคนทุจริตได้"
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/pages/EconTU-Official/540217472774672