ปลุกผู้บริโภคตื่นรู้ ‘วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ’ ชี้พืช GMOs กระทบฐานผลิตระบบอาหาร
เปิดสมัชชาความมั่นคงอาหาร ครั้งที่ 5 ‘วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ’ ปลุกระดมผู้บริโภครักษาสิทธิพลเมืองจัดการอาหาร ต้านพืชจีเอ็มโอ-บ.ผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ยกกรณีสหรัฐฯ ผ่านร่าง กม.มืด ปิดตาคนอเมริกันรู้ที่มาอาหาร ไม่เป็นประชาธิปไตยสมชื่อประเทศ
วันที่ 18 สิงหาคม 2558 แผนงานขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารเพื่อสังคม มูลนิธิชีววิถี ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย), มูลนิธิการจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จ.นครสวรรค์ และภาคีเครือข่าย จัดงาน สมัชชาความมั่นคงทางอาหาร ครั้งที่ 5 ประจำปี 2558 ณ ห้องคอนเวนชันเซ็นเตอร์ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวอภิปรายนำในหัวข้อ ‘ประชาธิปไตยด้านอาหาร’ ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้รัฐต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ผลักดันกฎหมายให้มีการติดสลากสินค้าที่มีการดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) แล้ว แต่ในไทยกลับไม่มีการผลักดันให้เกิดขึ้น และยังปฏิเสธให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐสภาสหรัฐฯ ร่วมกันผ่านร่างกฎหมายมืด (Deny Americans the Right to Know :DARK Act) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ปฏิเสธไม่ให้คนอเมริกันร้อยละ 90 ที่ต้องการทราบแหล่งที่มาของอาหาร และหากกฎหมายฉบับนี้ออกมาสำเร็จ นับว่าไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่งกับสหรัฐฯ ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ยังเป็นปัญหากับระบบการศึกษาด้วย โดยอยู่ภายใต้การครอบงำของบรรษัทอาหาร ดังเช่นกรณีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่อนุญาตให้จัดเวทีครั้งนี้ในสถาบัน เนื่องจากหัวข้อการประชุมสร้างความไม่สบายให้ผู้บริหารในมหาวิทยาลัย โดยเป็นการวิเคราะห์พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวโยงกับการเอื้อพืชจีเอ็มโอ ทั้งที่ควรจัดเวทีในสถาบันทางวิชาการ
อีกทั้งขณะนี้ระบบอาหารของโลกอยู่ในมือของบริษัทไม่กี่แห่ง ซึ่งจากการประมวลพบว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเมล็ดพันธุ์ สารเคมีกำจัดศัตรูพืช อาหารสัตว์ ล้วนมีส่วนเชื่อมโยงกัน ยกตัวอย่าง ‘มอนซานโต้’ บริษัทเมล็ดพันธุ์รายใหญ่ของโลกมีการผูกขาดเมล็ดถั่วเหลืองร้อยละ 83 แม้จะมีบริษัทคู่แข่งร้อยละ 7 แต่บริษัทเหล่านั้นก็ต้องซื้อสิทธิบัตรเมล็ดถั่วเหลืองของมอนซานโต้ด้วย
“การเปลี่ยนประเทศไปสู่การปลูกพืชจีเอ็มโอจึงมีผลต่อการผูกขาดฐานการผลิตที่สำคัญของระบบอาหาร ไม่ใช่เฉพาะเมล็ดพันธุ์เท่านั้น แต่ยังขยายไปยังสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และบริษัทก็เชื่อมโยงกันและมีอิทธิพลเหนือวิทยาศาสตร์” ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าว และว่า ประชาธิปไตยทางอาหาร ต้องเป็นกระบวนการแสดงออกในสิทธิของอาหาร การจัดการอาหารต้องเป็นของประชาชนทุกคน ตั้งแต่กระบวนการผลิต การบริโภค สิทธิครอบครอง สิทธิจัดการที่ดิน แหล่งน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ การผลิต การกระจายอาหาร และนโยบายที่เกี่ยวข้อง เรียกว่า พลเมืองจัดการอาหาร
ทั้งนี้ อาหารถือเป็นเรื่องใหญ่ นายวิฑูรย์ ระบุว่า ทั่วโลกเริ่มตื่นตัวกันเรื่องนี้แล้ว คนไทยจึงต้องลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกระบวนการประชาธิปไตยด้านอาหาร ซึ่งแต่ละคนมีพื้นที่แสดงออก นำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารในที่สุดอย่างเป็นรูปธรรม จากเดิมอำนาจในเรื่องอาหารถูกกระชากไปจากมือของแม่เรา ทำให้ต้องพึ่งพาร้านสะดวกทั้งหลาย ฉะนั้นต้องดึงพลังเหล่านี้กลับคืนมา พร้อมการต่อสู้เชิงนโยบาย ไม่ใช่จะกินของดีอย่างเดียว โดยไม่สนใจอย่างอื่นเลย .
ได้รับการสนับสนุนภาพจาก วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ-เว็บไซต์ไทยพับลิก้า