7 ปีตากใบ 6 ปี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และอีกครั้งกับ "ดับเมืองยะลา"
เห็นข่าวระเบิดเกือบ 20 จุดในเขตอำเภอเมือง จ.ยะลา เมื่อค่ำวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา (ไม่กี่ชั่วโมงก่อนเขียนคอลัมน์นี้) ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ “ดับเมืองยะลา” เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2548 หรือกว่า 6 ปีก่อนขึ้นมาถนัดใจ แม้ความรุนแรงและจำนวนเหตุร้ายจะไม่เท่ากัน แต่ถ้าถามถึงอารมณ์ความรู้สึกแล้วต้องบอกว่า...ใช่เลย!
เหตุการณ์ “ดับเมืองยะลา” เมื่อปี 2548 คือเหตุผลสำคัญของการตราพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ขึ้นมาบังคับใช้ เป็นการตราโดยฝ่ายบริหาร (รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) มิได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาก่อน และมีผลให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2495 ที่ใช้อยู่ก่อนหน้านั้นมานานหลายสิบปี
ถัดมาอีกไม่กี่วัน ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฉบับแรกตามบทบัญญัติใน พ.ร.ก.ก็เริ่มขึ้น โดยกำหนดพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นเขตใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ จากนั้นก็ขยายเวลาทุกๆ 3 เดือนมาแล้วถึง 25 ครั้ง รวมระยะเวลาที่ประกาศนานกว่า 6 ปี
มีเพียงอำเภอเดียวที่ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (นำร่อง) ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว คือ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ส่วนอีก 32 อำเภอในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงตกอยู่ในภาวะ “ฉุกเฉิน” ต่อไป
หลายคนที่ไม่พิศมัย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มักจะตั้งคำถามอยู่บ่อยๆ ว่าจะให้พื้นที่ชายแดนใต้ “ฉุกเฉิน” ไปอีกนานเท่าไหร่กัน เพราะยิ่งใช้กฎหมายพิเศษนานวัน สถานการณ์ฉุกเฉินก็ชักจะกลายเป็นสถานการณ์ชินชาและถาวรไปเสียแล้ว
แต่หากพลิกดูข้อมูลของฝ่ายรัฐ ก็พยายามให้เครดิตว่าผลของการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้สถิติความรุนแรงลดลงอย่างฮวบฮาบนับจากปี 2551 เป็นต้นมา แม้หลังจากนั้นความรุนแรงในแง่ตัวเลขจะทรงๆ อยู่ในระดับ 600-700 ครั้งต่อปีก็ตาม
เชื่อได้เลยว่าเหตุการณ์ “ดับเมืองยะลา รอบ 2" จะกลายเป็นเหตุผลสำคัญของฝ่ายความมั่นคงในการขอให้รัฐบาลต่ออายุการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป ท่ามกลางเสียงต่อต้านคัดค้านที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลังจากกลุ่มองค์กรนักศึกษาและภาคประชาสังคม
จะว่าไปกระแส “ไม่เอา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” คือความเคลื่อนไหวที่ทำให้ผมประเมินได้อย่างไม่มีข้อสงสัยเลยว่าปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีทางยุติลงได้ในเร็ววัน เพราะภาคส่วนสำคัญๆ ที่มีเสียงดังในสังคมสามจังหวัดยังไม่ได้ขานรับแนวทางของภาครัฐในการบริหารจัดการเพื่อคลี่คลายปัญหาเลยแม้แต่น้อย
นั่นหมายถึงว่าความร่วมมือจากภาคส่วนเหล่านั้นย่อมไม่มี ซ้ำร้ายอาจถึงขั้นติดลบ คือไม่ช่วยแล้วยัง (แอบ) ขัดขวางอีกต่างหาก ทั้งๆ ที่ในสถานการณ์แบบนี้ ความร่วมมือจากประชาชนคือสิ่งสำคัญที่สุด
ดังวาทกรรมที่ว่า “ใครได้ใจมวลชนคือผู้ชนะ”
แต่ก็น่าแปลก...ทั้งๆ ที่เหตุผลความจำเป็นของฝ่ายรัฐที่ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็มีมากมาย และหลายเรื่องก็พอฟังขึ้น เช่น เหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่มีลักษณะเป็น “สงครามอาชญากรรม” คือการก่อเหตุประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนโดยไม่ได้มีเหตุขัดแย้งหรือโกรธเคืองกันมาก่อน อาชญากรรมลักษณะนี้จึงไม่อาจใช้กระบวนการสืบสวนสอบสวนปกติในการหาตัวผู้กระทำความผิดได้ ต้องใช้กระบวนการตามกฎหมายพิเศษที่ออกแบบไว้เป็นการเฉพาะ เป็นต้น
แต่เหตุผลเหล่านี้กลับไม่อาจอธิบายถ่ายทอดสู่คนสามจังหวัดให้ได้รับรู้ รับทราบ และเชื่อมั่นในภาครัฐได้เลย...
แน่นอนว่า “ข้ออ่อน” ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่ที่การบังคับใช้ของเจ้าหน้าที่รัฐนั่นเอง เพราะปรากฏปัญหาการใช้อำนาจโดยมิชอบและมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่เนืองๆ แต่ก็น่าแปลกอีกเหมือนกันที่ฝ่ายรัฐไม่เคยแก้ปัญหาเหล่านี้ในลักษณะ “ยกเครื่อง” เพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้กฎหมายพิเศษต่อไป
เพราะการจะเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ ก็ต้องทำให้พื้นที่นี้หาย "ฉุกเฉิน" ซึ่งนั่นก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนและทุกภาคส่วนในสังคมนั่นเอง
แต่หากจับท่าทีของกลุ่มองค์กรที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะพบว่าแทบทุกกลุ่มมุ่งคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่านั้น แต่แทบไม่เคยเห็นออกมาต่อต้านความรุนแรงที่เกิดจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอย่างจริงจังเลย
การณ์กลับกลายเป็นว่า หลายองค์กรที่มีพลังในพื้นที่พากันต่อต้าน “เครื่องมือ” ที่รัฐใช้ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ ทว่าไม่ได้ต่อต้านการก่อความไม่สงบ หรือผู้ที่ก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นแต่ประการใด
นี่คือสัญญาณอันตราย เพราะทำให้ดูเสมือนหนึ่งว่า แม้ความรุนแรงจะยังคงมีอยู่ในพื้นที่ แต่ก็ยอมรับได้ ขอให้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯไปเป็นพอ
และนั่นย่อมหมายถึงการปฏิเสธอำนาจรัฐและไม่ยอมรับวิธีบริหารจัดการของรัฐอย่างชัดแจ้งที่สุด!
จะไปว่ากระแสการคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของฝ่ายที่ออกมาเคลื่อนไหวก็มีแง่มุมที่ลุกลามบานปลายไปกว่าเนื้อหาสาระที่แท้จริงมากอยู่เหมือนกัน เช่น การนำสถิติคดีความมั่นคงที่ศาลพิพากษายกฟ้องราว 45% มาเป็นมาตรวัดความไร้ประสิทธิภาพของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งๆ ที่คดีส่วนหนึ่งที่ศาลตัดสินไปแล้ว (และยกฟ้องไป 45%) นั้น เป็นคดีที่เกิดขึ้นก่อนการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (คือเกิดขึ้นในปี 2547 จนถึงกลางปี 2548) ซึ่งเป็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติมากกว่า แต่กลับถูกเหมารวมว่าเป็นเพราะความแย่ของ พ.ร.ก.ฉบับนี้
หรือแม้แต่นักวิชาการบางท่านที่ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ยังกล่าวอ้างถึงเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ ซึ่งล้วนแต่เกิดก่อนการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งสิ้น
แต่ที่ผ่านมาฝ่ายรัฐก็ไม่เคยอธิบายอะไร และยังคงปล่อยให้เกิดช่องว่างระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนถ่างกว้างเหมือนเดิม...
หากสภาพการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ประเด็นทางความรู้สึก (คัดค้าน-ต่อต้าน) ก็จะลุกลามเหมือนเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งรัฐไม่เคยแก้ไขปัญหาที่ต้นตออย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม เสมือนหนึ่งไม่ยอมห้ามเลือดตั้งแต่ตอนที่เกิดบาดแผลใหม่ๆ กระทั่งเหตุการณ์นี้ได้บานปลายกลายเป็น “เงื่อนไขสำคัญ” ที่ถูกใช้เป็นตัวอย่างความเลวร้ายของรัฐไทยเพื่อขยายฐานมวลชนของฝ่ายก่อความไม่สงบไปอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว
เช่นกัน...หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ แทนที่เหตุการณ์ “ดับเมืองยะลา ภาค 2” จะเป็นเหตุผลของฝ่ายความมั่นคงในการขยายเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ต่อไป ทว่าในอีกด้านหนึ่งย่อมกลายเป็นความไร้ประสิทธิภาพของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในมุมของประชาชน
เหตุการณ์ตากใบผ่านมาถึง 7 ปีแล้ว...แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนเลยก็คือรัฐยังไม่เคยได้ใจประชาชน และยังไม่ได้เข้าใกล้ชัยชนะที่แท้จริงในสมรภูมิชายแดนใต้ เพียงแค่พยายามเอาชนะในสงครามตัวเลขสถิติเหตุรุนแรงเพื่อผลของการคงสภาพโครงสร้างและอำนาจการบริหารจัดการ ตลอดจนเม็ดเงินจากงบประมาณที่หลั่งไหลลงพื้นที่เอาไว้...เท่านั้นเอง!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เจ้าหน้าที่กำลังลำเลียงผู้บาดเจ็บจากเหตุระเบิดหลายจุดกลางเมืองยะลาส่งห้องไอ.ซี.ยู. โรงพยาบาลศูนย์ยะลา (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)
หมายเหตุ : ภาพผ่านการปรับแต่งโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา เพื่อลดการสื่อสารความรุนแรง