ก.แรงงาน แจงแพ็คเก็จช่วย “นายจ้าง-ลูกจ้าง” โดนภัยน้ำท่วม
รมว.แรงงานเผยภายหลังประชุม ครม. เสนอมาตรการเยียวยานายจ้าง-ลูกจ้างน้ำท่วม ผู้ประกอบการกู้ได้รายละล้าน ผู้ประกันตนกู้ได้ 5 หมื่น ให้ รบ.ช่วยจ่ายเงินเดือนลูกจ้าง 6.4 แสนคน 3,000 บ.3 ด. จัดหางานชั่วคราว 1.8 หมื่นอัตรา ระยะยาว 9.9 หมื่นอัตรา สปส.จ่ายคนตกงาน 50% ของค่าจ้าง 6 ด.
วันที่ 25 ต.ค.54 นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน(รมว.รง.) เปิดเผยหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่ากระทรวงแรงงานได้เสนอมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยใน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนายจ้าง และลูกจ้าง โดยมีทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว เป็นแพ็คเกจ 2 เรื่อง
มาตรการช่วยเหลือสถานประกอบการ แยกเป็น1.โครงการประกันสังคมเคียงข้างผู้ประกันตนต้านอุทกภัย ให้สถานประกอบการกู้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3% ต่อปี คงที่ 3 ปี ผู้ประกันตนกู้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท ดอกเบี้ย 2.5% ต่อปี คงที่ 2 ปี
2.โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ซึ่งคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ด สปส.) เห็นชอบหลักการอนุมัติเงินฝาก 1 หมื่นล้านบาท ให้ธนาคารปล่อยกู้ให้สถานประกอบการเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน
3.กองทุนส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เห็นชอบให้ลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน จากเดิมที่กำหนดให้ผู้เข้ารับการฝึกกู้ยืมดอกเบี้ย 1% และสถานประกอบการกู้ยืมด้วยอัตราดอกเบี้ย 3% เป็นอัตราดอกเบี้ย 0.1% เป็นระยะเวลา 1 ปี
4.การลดเงินสมทบประกันสังคม อยู่ระหว่างการพิจารณา
ส่วนมาตรการช่วยเหลือลูกจ้าง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มลูกจ้างที่ยังไม่ถูกเลิกจ้าง จัดให้มีโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน จัดหาตำแหน่งงานรองรับให้แก่ลูกจ้างที่เดือดร้อน เข้าทำงานในสถานประกอบการใกล้เคียง เป็นการชั่วคราว 18,857 อัตรา
โครงการป้องกันและชะลอการเลิกจ้าง โดยรัฐบาลจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างที่ประสบอุทกภัย 3,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน โดยมีเงื่อนไขนายจ้างต้องทำ MOU ว่าจะไม่เลิกจ้าง และจ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้างไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้างเดิม โดยมีเป้าหมายกว่า 6.4 แสนคน จะเสนอของบกลางจากรัฐบาล 5,760 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมงบประมาณไว้แล้วจากการหักงบประมาณปี 2555 กระทรวงละ 10% โดยได้ตั้งงบแก้ปัญหาวิกฤตน้ำท่วมไว้ทั้งหมด 8 หมื่นล้านบาท
รมว.แรงาน กล่าวด้วยว่า สำหรับกลุ่มลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง ประกอบด้วย 1.ให้มีการจ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 2.ใช้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง หากไม่ได้รับเงินชดเชยให้ยื่นขอรับเงินสงเคราะห์ โดยจะพิจารณาจ่ายไม่เกิน 60 เท่าของค่าจ้างรายวัน ปัจจุบันกองทุนฯ มีเงิน 259 ล้านบาท 3.ประกันการว่างงานตามกฎหมายประกันสังคม โดยจ่าย 50% ของค่าจ้างเป็นเวลา 6 เดือน และ 4.จัดหาตำแหน่งงานว่างรองรับ 99,245 อัตรา ส่วนใหญ่เป็นงานด้านการบริการ การผลิต และช่าง .
ที่มาภาพ : http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n1_20102011_03