ปาฐกถา 'ชัยวัฒน์ สถาอานันท์' พื้นที่สันติวิธีหนทางสังคมไทย
ที่สุดแล้วการใช้สันติวิธีจะส่งผลต่อการเมืองในอนาคตอย่างไร ปัญหาน่าคิดที่สุดคือการเมืองการปกครองสมัยใหม่ จะธำรงความตื่นใจกระตือรือร้นทางการเมืองไว้ได้อย่างไร ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้ความรับผิดชอบต่อการเมืองเข้มข้นลึกซึ้งขึ้น
บทละครเรื่องแฮมเลตของเชคสเปียร์คือบทประพันธ์ที่ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หยิบยกขึ้นมากล่าวในช่วงต้นของปาฐกถาในหัวข้อ “พื้นที่สันติวิธีหนทางสังคมไทย” เนื่องในวาระครบรอบ 70 ปี วันสันติภาพไทย ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
“ดินแดงที่ยังไม่มีใครเคยพานพบ จากธารน้ำในแผ่นดินนั้นที่ไม่มีผู้ใดหวนคืนมาได้ พาให้ฉงนฉงาย และทำให้เรายอมทนทุกข์นานาที่เราประสบ ยิ่งกว่าจะเหินไปหาทุกข์อื่นๆที่เราไม่เคยรู้จักเช่นนี้เองที่มโนธรรมสำนึกทำให้เราทั้งปวงขลาดเขลา” คือตอนหนึ่งที่เจ้าชายแฮมเลต แห่งเดนมาร์กพูดถึงความตายกับโอฟีเลีย
ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า เชคสเปียร์เรียกความตายว่าเป็น The undiscovered country หรือ ดินแดนที่ยังไม่มีใครเคยค้นพบ
นอกจากนี้แล้วการที่เจมส์ กิลลิแกน ซึ่งเป็นแพทย์นักจิตวิเคราะห์ที่สนใจปัญหาความรุนแรงตลอดมาได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่นักโทษซึ่งเป็นคนไข้ของโรงพยาบาลโรคจิตในคุกรัฐแมสซาชูเซตส์ ถูกจับในข้อหาฆาตกรรมเมียและลูกอีกสองคนโดยการใช้ปืนสั้นยิงทั้ง 3 คน เสียชีวิต ในปี ค.ศ.1992
ดร.ชัยวัฒน์ บอกว่า ชายคนนี้ถูกให้ออกจากงาน เมื่อไม่มีงานเขาไม่รู้จะใช้ชีวิตอย่างไร และตลอดสองเดือนเขาพยายามหางานใหม่แต่งานก็หายาก สุดท้ายก็เลิกพยายาม แต่ออกจากบ้านทุกเช้าเหมือนไปทำงาน จนภรรยาสงสัยเพราะไม่มีเงินเข้าบ้าน
ตลอดเวลาสองเดือนที่ผ่านมา สุดท้ายทั้งสองทะเลาะกันรุนแรงต่อหน้าลูกทั้งสองคน และภรรยาถามสามีว่า “เธอเป็นมนุษย์แบบไหนกันแน่ ผู้ชายแบบไหนจะทำอะไรแบบนี้” สามีไม่ตอบเดินเข้าห้องไปหยิบปืนแล้วยิงภรรยา เมื่อเห็นลูกทั้งสองร้องไม่หยุดก็ยิงลูกเพื่อให้หยุดร้อง
กิลลิแกรน จึงถามว่า ทำไมเขาไม่ยิงตัวตายตามไปด้วย เขาจึงตอบว่า “ผมตายไปแล้ว ผมรู้สึกตายไปแล้ว ผมคิดว่าตอนนี้ผมตายไปแล้ว”
ดร.ชัยวัฒน์ อธิบายว่า หากจะพิจารณาจากวิชาอาชญวิทยา และตั้งคำถามว่า เหตุรุนแรงดังกล่าวเกิดขึ้นที่ไหน คงตอบได้ไม่ยากว่าเกิดขึ้นทีบ้านหลังหนึ่งในรัฐแมสซาชูเซตส์
แต่ถ้าหากเปลี่ยนคำถามว่า การฆาตรกรรมสามศพนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่ชนิดใด เราก็อาจจะได้คำตอบอีกแบบหนึ่ง ดังนั้นการที่งานของกิลลิแกรนไม่ได้มุ่งตอบว่าสถานที่แห่งความรุนแรงเป็นอย่างไรเท่ากับพยายามให้เข้าใจว่า พื้นที่แบบไหนต่างหากที่ทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้นได้ และคำตอบของกิลลิแกรนก็ได้พาไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างสภาพความรู้สึกนึกคิดของผู้ใช้ความรุนแรงและพื้นที่รอบๆตัวเขาซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจนส่งผลให้ความรู้สึกนึกคิดแปรเปลี่ยนไป
ทั้งนี้งานของกิลลิแกรนยังทำให้มุ่งไปสู่คำถามว่า นโยบายรัฐบาลแบบไหนที่ส่งผลให้การฆาตกรรมและอัตวินิบาตกรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งเขาพบว่า ช่วงเวลากว่าหนึ่งศตวรรษ อัตราตายจากเหตุทั้งสองมีขึ้นมีลง แต่ที่สำคัญคือเมื่อพรรครีพับลีกันเป็นรัฐบาลคนตายเพราะฆ่ากันเองและฆ่าตัวตายมากกว่าเวลาที่พรรคเดโมแครตเป็นรัฐบาลเสมอ
“ผมคิดว่าที่สำคัญคือทั้งคำถามและข้อค้นพบของกิลลิแกรนชี้ไปสู่พื้นที่ที่จำเป็นต้องเข้าใจและมีปฏิบัติการหากต้องการจะพาสังคมการเมืองออกจากกรงเล็บของความรุนแรงไปสู่สันติภาพ”
ดังนั้นปาฐกถาในครั้งนี้ดร.ชัยวัฒน์ บอกว่า จะเป็นการตั้งคำถามในสภาวะที่มองเห็นความขัดแย้งกลายเป็นความรุนแรงอยู่ทั่วไปในโลก และพื้นที่สันติวิธีนั้นอยู่ที่ไหน
เจมส์ ไจลส์ ได้ศึกษานวนิยายอเมริกันร่วมสมัยในงานเขียนเรื่อง The Spaces of Violence เพื่อวิเคราะห์วิธีการต่างๆที่ผลงานเหล่านี้เขียนถึงความรุนแรงและพื้นที่ปรากฎการณ์ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน พื้นที่ของ ไจลส์หมายถึง พื้นที่ทางกายภาพ สังคม และจิตวิทยา
“แต่คำถามของผมคือ แล้วพื้นที่สันติวิธีอยู่ที่ไหน ปรากฏขึ้นที่ใด และจะส่งผลต่ออนาคตเช่นไร ก่อนจะตอบคำถามเหล่านี้ ขอสร้างความกระจ่างกับคำว่า สันติวิธีให้เข้าใจก่อน”
ปัจจุบันมีข้อถกเถียงและคำถามมากมายเกี่ยวกับคำ ทฤษฎี และแนวปฏิบัติสันติวิธี จนชวนให้เกิดการตั้งคำถามว่า สังคมไทยมีความรู้เกี่ยวกับสันติวิธีหรือไม่อย่างไร และถ้ามีความรู้เรื่องเหล่านนี้อยู่บ้าง ความรู้เหล่านั้นอยู่ที่ไหน ก็คงกล่าวได้ว่า ความรู้เกี่ยวกับสันติวิธีมีอยู่ทั่วไปในสังคมไทย และนับจากปี 2525 ความรู้เหล่านี้ก็เริ่มปรากฏขึ้นในมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ การที่พื้นที่ความรู้เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศ
ผลสำคัญคือ การวางที่ทางของความรู้เหล่านี้ไว้ในสถานะที่ได้รับความชอบธรรมและเอื้อต่อการผลิตซ้ำในรูปแบบต่างๆ ทำให้ความรู้ถูกผลิตโดยนักวิชาการของมหาวิทยาลัยและสามารถเผยแพร่สู่สาธารณะได้ไม่ยาก แต่ท่ามกลางความหลากหลายนี้ก็อาจจำเป็นที่เราต้องพิจารณาแนวคิดของสันติวิธีให้มากขึ้นด้วยหรือไม่
ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวถึงนักวิชาการคนสำคัญของไทยด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้อภิปรายปัญหาการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศโดยสันติวิธี ว่าเป็นทางเลือกในการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศโดยไม่ต้องใช้กำลังหรือสงคราม ในโลกนี้มีกว่า 20 ประเทศในโลกที่ไม่มีทหาร ไม่มีกองกำลัง และประเทศก็อยู่กันอย่างสงบ
“ผมว่าการใช้คำว่าสันติวิธี ในแวดวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะเชื่อกันมานานว่า การป้องกันประเทศทำได้สองวิธี คือการใช้วิธีการทางการทูตด้วยการเจรจาและการใช้วิธีการทางทหารหรือการทำสงคราม”
และความหมายของสันติวิธีในความเห็นส่วนตัวนั้น หมายถึงความพยายามของผู้คนจากฟากฝั่งต่างๆที่จะใช้วิธีการบางแบบในกระบวนการเผชิญกับความขัดแย้งโดยไม่พยายามใช้ความรุนแรงทางกายภาพในกระบวนการดังกล่าว คือไม่พยายามให้เกิดการฆ่าหรือทำร้ายกันโดยไม่จำเป็นต้องกำหนดว่าสันติวิธีต้องเป็นเครื่องมือฝ่ายประชาชนในการต่อต้านรัฐประหารหรืออำนาจหน้าที่ที่เหนือกว่า
เนื่องจากสันติวิธีในสังคมไทยมีความหลากหลายอย่างน่าอัศจรรย์ มีทั้งการใช้สันติวิธีโดยปัจเจกชน กลุ่มคนขนาดเล็ก หรือไม่ก็เป็นกลุ่มประท้วงขนาดใหญ่
ต่อจากนี้ไปผมจึงขอเล่าปรากฏการณ์ที่น่าอัศจรรย์ใจของคนที่ใช้สันติวิธีในสถานที่ที่แตกต่างกัน 6 เรื่องในประเทศไทย
เรื่องแรกการทวงคืนบุคคลสูญหาย การบังคับบุคคลให้สูญหายในสังคมการเมืองไทยปรากฎชัดตั้งแต่ทศวรรษที่ 2490 ถึงปี พ.ศ.2554 ซึ่งการบังคับบุคคลสูญหายไม่เหมือนกับความรุนแรงประเภทอื่น เพราะเป็นการใช้ความซับซ้อนที่คลุมเครือมาบังคับให้คนสูญหายและเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ หากพิสูจน์ไม่ได้ว่า บุคคลนั้นหายตัวไปอย่างไร และเกิดขึ้นทุกที่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเมืองหลวงอย่างกทม. เช่นกรณีของทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งก่อให้เกิดมูลนิธิและมีการเข้ามาติดตามเรื่องสิทธิมนุษยชน
หากจะยกตัวอย่างบริบทที่รุนแรงคงจะเป็นในส่วนของภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่ปี 2547-2556 มีคนสูญหายจากความรุนแรงแล้ว 55 ราย 22,979 คน ตกเป็นเหยื่อควาวมรุนแรง เสียชีวิต 7,567 คน อย่างน้อยมี 6,000 คนเสียชีวิต เพราะความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับฝายผู้ก่อการที่ต่อสู้กับรัฐโดยตรง และสิ่งที่น่ามหัศจรรย์คือ ในสภาพความรุนแรงที่มีการสูญเสียชีวิตมากขนาดนี้ แต่ยังคงมีร่องรอยของสันติวิธีให้เห็น
คือเรื่องที่ 2 อรชพร ปฏิบัติการของสันติอาสาสักขีพยานบนถนนในภาคใต้ คืนวันที่ 20 มี.ค. 2551 โต๊ะอิหม่ามยะผา กาเซ็ง เสียชีวิตในขณะถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหารหน่วยเฉพาะกิจ ที่ 39 อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส การตายของอิหม่ามมีเงื่อนงำ ชาวบ้านไม่พอใจจึงรวมตัวกันที่หน้าโรงพยาบาลและจะขอแบกศพกลับไปเอง ฝ่ายทหารไม่ยอม “อรชพร” อดีตนักศึกษาหญิงจากธรรมศาสตร์ที่สนใจปัญหาความรุนแรงภาคใต้ทำหน้าที่เป็นสันติอาสาสักขีพยานในพื้นที่ และพยายามเตือนทหารว่า ความขัดแย้งในพื้นที่กำลังเข้มข้นขึ้น ด้วยการเป็นพยานความจริงเพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาหรือข่าวลือที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง อย่างที่สองคือเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างคู่กรณี และสุดท้ายคือ ปรากฏตัวเป็นฝ่ายที่สามเพื่อให้คู่กรณีมีสติยับยั้งชั่งใจไม่ใช้ความรุนแรง
ต่อมาคือเรื่องที่ 3 ของนายแพทย์สมทรง แพทย์หญิงสมจิตรกับนายแพทย์สมบูรณ์ ปฏิบัติการสันติวิธีด้วยพลังวิชาชีพการแพทย์
นายแพทย์สมทรง(นามสมมุติ) ประกาศในที่ประชุมโรงพยาบาลว่า “โรงพยาบาลเป็นพื้นที่ที่เป็นกลาง เรารักษาทั้งหมดไม่แยกแยะว่าใครเป็นใคร เป็นเจ้าหน้าที่หรือฝ่ายผู้ก่อการหรือตัวชาวบ้าน ทุกคนคือคนไข้ของเรา และขอความร่วมมือฝ่ายปกครองว่าถ้าเกิดเหตุจะจับกุมขอความกรุณาให้จับกุมนอกโรงพยาบาล จะไปตาม ไปสะกดรอยอะไร จับกุมที่ไหนก็ได้ แต่ห้ามเกิดในพื้นที่นี้”
ขณะที่แพทย์อีกสองท่านก็มีเจตนารมณ์เดียวกัน แม้บุคลากรทางการแพทย์จะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในพื้นที่ความรุนแรง แต่อีกด้านเขาเป็นแพทย์ดูแลสุขภาพเขาสามารถใช้พลังของความภักดีเป็นกลไกในการช่วยให้เกิดปฏิบัติการไร้ความรุนแรงเพื่อสร้างความไว้วางใจ รักษาความเป็นกลางและลดโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงได้
เรื่องที่ 4 คือเรื่องของนักศึกษากับนายทหาร เมื่อสันติวิธีของผู้ประท้วงเผชิญกับสันติวิธีของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2550 เกิดการยิงแล้วเผาที่ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา หญิงสาวในครอบครัวนั้นถูกข่มขืน วันที่ 31 พ.ค. 2550 ชาวมลายูมุสลิมนับพันประท้วงหน้ามัสยิดกลางจ.ปัตตานี ภายใต้การนำของนักศึกษาจากทม.และ3จ.ชายแดนภาคใต้ ในนามเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน โดยเรียกร้องให้ถอนทหารและทหารพรานออกจากพื้นที่ ซึ่งการชุมนุมของนักศึกษาที่มัสยิดกลางมีการจัดตั้งด้วยแนวทางสันติวิธีอย่างชัดเจน พวกเขาตราระเบียบชุมนุมขึ้นมา 10 ข้อ และให้ผู้ชุมนุมต้องท่องทบทวนก่อนเริ่มกิจกรรมทุกครั้ง
เรื่องที่ 5 เรื่องคำสั่งนายกรัฐมนตรี 187/2546 ที่มีหลักการ อยู่ 3 ข้อ คือ 1.ระบุชัดเจนว่า บรรทัดฐานการจัดการความขัดแย้งต้องยึดมั่น สันติวิธี เป็นวิธีเดียวที่เป็นธรรมและสร้างความสงบสุขที่ยั่งยืน โดยสันติวิธีให้เริ่มต้นที่รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อน 2. ทัศนคติที่จะรองรับสันติวิธีคือ การลดอคติและไม่มีความเกลียดชังต่อคนที่แตกต่าง ไม่เห็นประชาชนเป็นศัตรูแต่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ และ 3. ถือว่าความหลากหลายทางความเห็นและความแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นฐานพลังของสังคมไทย
และเรื่องสุดท้ายคือการใช้สันติวิธีคลี่คลายการจับตัวประกันที่สถานทูตอิสราเอลในประเทศไทย 2515 ซึ่งเป็นการคลี่คลายการจับตัวประกันโดยขบวนการกันยายนทมิฬและเป็นการคลี่คลายโดยไม่เสียเลือดเนื้อ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อนจึงมีความสำคัญต่อโลกในเรื่องนโยบายการแก้ปัญหาการก่อการร้ายเป็นอย่างยิ่ง
“ถามว่าทำไมผมจึงนำเรื่องราวเหล่านี้มาเล่าขานในวาระครบรอบ 70 ปี วันสันติภาพไทย และเกิดอะไรขึ้นเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2488 มีข้อเขียนชิ้นหนึ่งระบุว่า วันนี้อาจเป็นวันที่ไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญจัดการรำลึกแม้แต่รัฐบาลเอง และเมื่อระบุข้อมูลความเป็นมาก็บอกเพียงว่า เป็นวันที่นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ออกประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทำให้การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา และบริเตนใหญ่ ในวันที่ 25 ม.ค. 2548 เป็นโมฆะ”
ดร.ชัยวัฒน์ อยากจะให้มองว่าสิ่งที่อ.ปรีดี ทำเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2488 เป็นเรื่องอัศจรรย์ แต่สิ่งที่อัศจรรย์นั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวอ.ปรีดีเพียงคนเดียว แต่เพราะพื้นฐานสังคมไทยที่ท่านยืนประกาศวันสันติภาพอยู่นั้นมีเงื่อนไขหลายอย่างที่เอื้อต่อการประกาศสันติภาพ จนรัฐบาลฝรั่งในเวลานั้นยิมยอมให้สยามเปลี่ยนฝ่ายจากที่เคยอยู่เคียงข้างญี่ปุ่นและประกาศสงครามกับสหรัฐและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะ
ที่ผ่านมารัฐบาลไทยก็ต่อสู้กับญี่ปุ่นมาโดยตลอด เพียงแต่ไม่ได้ต่อสู้ด้วยความรุนแรง หากแต่พื้นที่ในการต่อสู้อยู่ในอุตสาหกรรม วัฒนธรรม ภาษา การก่อสร้างบ้านเรือน การโฆษณาชวนเชื่อ การขนส่ง การก่อสร้างทาง และการสื่อสาร
“ทั้งหมดนี้ทำให้การประกาศวันสันติภาพเมื่อ 70 ปีก่อนศักดิ์สิทธิ์เพราะมีผลในทางการระหว่างประเทศช่วยให้ไทยไม่ต้องตกอยู่ในฝ่ายพ่ายแพ้ แต่ที่น่าสนใจไม่แพ้ความศักดิ์สิทธิ์ของวันสันติภาพไทยที่เปลี่ยนชะตามกรรมของประเทศ คือความอัศจรรย์ เหมือนเรื่องราวต่างๆที่ผมได้เล่าให้ฟังไปข้างต้น”
ดร.ชัยวัฒน์ ระบุว่า ที่สุดแล้วการใช้สันติวิธีจะส่งผลต่อการเมืองในอนาคตอย่างไร ปัญหาน่าคิดที่สุดคือการเมืองการปกครองสมัยใหม่ จะธำรงความตื่นใจกระตือรือร้นทางการเมืองไว้ได้อย่างไร ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้ความรับผิดชอบต่อการเมืองเข้มข้นลึกซึ้งขึ้น ซึ่งสันติวิธีน่าจะมีโอกาสทำเช่นนี้ได้ เพราะเป็นหนทางในการช่วยให้ขบวนการทางสังคมกำหนดการเมืองแห่งการไม่เห็นพ้องต้องด้วย และการต่อต้านขัดขืน ขณะเดียวกันก็ดำเนินหนทางเปลี่ยนจากศัตรูมาเป็นมิตรให้ได้ ดังนั้นคำประกาศสันติภาพเมื่อ 70 ปีก่อน คือการปฏิเสธสงครามและดำเนินในหนทางที่เปลี่ยนความเป็นศัตรูมาสู่มิตรภาพระหว่างประเทศ และเป็นเรื่องมหัศจรรย์า