ปล่อยหมัดเด็ดขจัดโกง ‘วสันต์ ภัยหลีกลี้’ ฝันอีก 17 ปี ดัชนีโปร่งใสไทยอันดับ 40
‘วสันต์ ภัยหลีกลี้’ เผยกลไกป้องกันปราบปรามทุจริต หนุนดัน กม.หลายฉบับ ชี้การปลูกฝังคนมีจิตสำนึกสำคัญ ทำคนโกงไม่มีที่ยืน-สังคมไม่ยอมรับ แนะยกเครื่องตั้งแต่ต้นน้ำ ตร.-ป.ป.ช.-ป.ป.ท.-อัยการ-ศาล ทำงานประสานกัน ฝันอีก 17 ปี ไทยขยับอันดับความโปร่งใสติด 1 ใน 40
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ เลขานุการคณะกรรมาธิการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวในเวที “กลไกป้องกันและขจัดการทุจริตประพฤติมิชอบและการบังคับใช้กฎหมาย” ภายใต้งาน สปช.รายงานประชาชน:เปลี่ยนประเทศไทยกับ สปช. ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยตอนหนึ่ง ระบุถึงกลไกการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันว่า หมัดที่สำคัญ คือ การปลูกฝังให้คนมีจิตสำนึก เพื่อคนโกงจะไม่มีที่ยืนและไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม ซึ่งครอบครัว โรงเรียน วัด ตลอดจนสื่อมวลชน มีส่วนสำคัญในการกล่อมเกลา
ส่วนการป้องกันและปราบปรามถือเป็นสองหมัด ช่วยหนุนเสริมและปลูกฝังเกี่ยวกับการสร้างคน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญ สร้างภูมิคุ้มกันไม่ทำผิด และไม่นิ่งดูดายเมื่อพบเห็นคนทำผิด ขณะที่การป้องกันมีหลายมาตรการต้องทำด้วย เช่น การสร้างความโปร่งใสในสังคม ซึ่งกล่าวกันว่า “ผีกลัวแสงสว่างอย่างไร คนโกงกลัวความโปร่งใสอย่างนั้น” จึงเสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ เปลี่ยนเป็น พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ตามเจตนารมณ์ เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นรอง
“เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ประชาชนหรือคนส่วนใหญ่ได้ติดตาม รับรู้ จะมีส่วนร่วมในการกำหนด ติดตาม ตรวจสอบได้” เลขานุการ กมธ.ปฏิรูปการป้องกันฯ กล่าว และว่า มิใช่ป้องกันนักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจ ซึ่งเป็นสามขาสำคัญของการทุจริตเท่านั้น แต่ประชาชนเป็นผู้เสียผลประโยชน์ก็มีส่วนสำคัญ ดังนั้นต้องติดตามรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
นายวสันต์ กล่าวอีกว่า สิ่งหนึ่งต้องให้ความสำคัญ คือ การลดใช้ดุลพินิจ เนื่องจากการทุจริตที่ผ่านมา โดยเฉพาะข้าราชการ ประชาชนมักไม่ได้รับความสะดวก ทำให้ต้องจ่ายใต้โต๊ะเพื่อซื้อความสะดวก ดังนั้นจึงเป็นที่มาของ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ รวมถึงต้องผลักดัน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง สร้างความรัดกุม และโทษหนักด้วย เพื่อหวังให้การทุจริตคอร์รัปชันน้อยลง
นอกจากนั้นควรลดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองในรัฐวิสาหกิจ ด้วยนักการเมืองมักเปลี่ยนผู้บริหาร เพื่อแทรกแซงหวังผลประโยชน์ในองค์กร จึงมีการเสนอตั้งโฮลดิ้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาดูแล ตลอดจนผลักดัน พ.ร.บ.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาครัฐด้วย เนื่องจากที่ผ่านมามีการใช้งบประมาณ 8 พันล้านบาท/ปี เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและแทรกแซงสื่อ ก่อให้เกิดการทุจริตกันมาก
อีกหนึ่งหมัดเด็ดที่สำคัญ เลขานุการ กมธ.ปฏิรูปการป้องกันฯ กล่าวด้วยว่า คดีทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นไม่มีการเอาผิดหรือเอาผิดล่าช้า หากปล่อยเป็นเช่นนี้การโกงจะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม นำคนผิดมาลงโทษอย่างรวดเร็ว ฝันว่า 4-5 ปี นำคนผิดมาลงโทษแต่ละคดีได้จะเป็นคุณอย่างมาก ด้วยการปฏิรูปทั้งระบบตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) อัยการ และศาล
โดยให้มีที่มาของ คกก.ป.ป.ช.หลากหลาย ดำรงตำแหน่งเพียง 6 ปี เพิ่มบทบาทหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. มากขึ้น และ คกก.ต้องวินิจฉัยได้ ทั้งนี้ อนุกรรมการไต่สวนต้องคัดสรรให้ดี มีความโปร่งใสด้วย ส่วน ป.ป.ท.ต้องมีความอิสระ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ควรมีอำนาจฟ้องเอง ที่สำคัญ ทั้งสามองค์กรต้องทำหน้าที่ประสานกันอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ สุดท้าย ควรตั้งศาลคดีทุจริตเฉพาะ
“มาตรการในการต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชันต้องใช้หลายอย่างประกอบกัน ทั้งไม้นวมและไม้แข็ง ระยะยาวจึงขึ้นอยู่กับคน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากเห็น คือ ค่าดัชนีความโปร่งใสของไทยดีขึ้นเกิน 50% ในอีก 17 ปีข้างหน้า เดิมอันดับ 85 จาก 175 ประเทศ เป็นอันดับ 40 ซึ่งเชื่อว่าเกิดขึ้นได้ หากสังคมมีความเข้มแข็ง” นายวสันต์ กล่าวทิ้งท้าย .