"จักรทิพย์ ชัยจินดา" กับปัญหาชายแดนใต้
พลันที่คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ แทน พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้
ภาพและเรื่องราว ตลอดจนปูมประวัติและผลงานของ พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ได้ถูกรายงานผ่านสื่อทุกแขนง โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญๆ เช่น ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการยิงแก๊สน้ำตา ในเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 กระทั่งได้รับฉายา "สุภาพบุรุษแก๊สน้ำตา"
แต่ภารกิจการงานอีกด้านหนึ่งที่ไม่ค่อยมีสื่อแขนงใดรายงานถึงมากนัก คือ การรับผิดชอบแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเขาไม่ได้เพิ่งมาเกี่ยวข้องในสมัยที่เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบงานความมั่นคงเท่านั้น แต่ พลตำรวจเอกจักรทิพย์ มีส่วนพัวพันกับเหตุการณ์ที่ชายแดนใต้หลายช่วง
และการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นธารกระบวนการยุติธรรม ก็ทำให้กลุ่มคนที่ทำงานช่วยเหลือประชาชนด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แสดงความกังวลไม่น้อยทีเดียว
เพราะ พลตำรวจเอกจักรทิพย์ เป็นหนึ่งในกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกผู้ต้องหา 5 คนในคดีปล้นปืนจากค่ายปิเหล็ง หรือค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ร้องทุกข์ว่ากระทำการซ้อมทรมานพวกเขาให้รับสารภาพ ภายหลังการจับกุม โดย พลตำรวจเอกจักรทิพย์ เป็นหนึ่งในชุดจับกุมในขณะนั้นด้วย
คดีที่อ้างว่ามีการซ้อมทรมานกลุ่มผู้ต้องหาคดีปล้นปืนนี้มี ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม รับเป็นทนายความให้ ทนายสมชายนำผู้ต้องหาที่อ้างว่าถูกซ้อม ไปร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ต่อมาดีเอสไอได้สรุปสำนวนส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.
กระทั่งเดือนธันวาคม 2553 ป.ป.ช.มีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ทำให้ พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ซึ่งขณะนั้นครองยศ "พลตำรวจตรี" เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ต้องหาที่กล่าวหาเขาว่าซ้อมทรมาน ในข้อหาแจ้งความเท็จ โดยนายตำรวจคนอื่นๆ ที่ถูกกล่าวหาในคดีเดียวกัน และ ป.ป.ช.ยกคำร้อง ก็ทยอยฟ้องกลับกลุ่มผู้ต้องหาคดีปล้นปืนที่กล่าวอ้างว่าถูกซ้อมทรมานด้วย
คดีที่ พลตำรวจเอกจักรทิพย์ เป็นโจทก์นั้น ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษผู้ต้องหาคดีปล้นปืนที่กลายเป็นจำเลย ให้จำคุก 2 ปี แต่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นฎีกา แต่ไม่สามารถตามตัวจำเลยมาฟังคำพิพากษาได้ ศาลสั่งออกหมายจับ
แม้การฟ้องกลับผู้กล่าวหา จะเป็นการใช้สิทธิโดยชอบเพื่อปกป้องสิทธิของตน แต่องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมุมมองที่ต่างออกไป...
องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนมองว่า การร้องขอให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายควรให้ความคุ้มครอง โดยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาตรา 62 บัญญัติเอาไว้ว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิติดตามและร้องขอให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ บุคคลซึ่งให้ข้อมูลโดยสุจริตแก่องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐหรือหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมได้รับความคุ้มครอง"
องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เห็นว่า การแจ้งความกลับเพื่อให้ลงโทษพยานที่กล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐ จนทำให้ "พยาน" กลายเป็น "ผู้ต้องหา" หรือ "จำเลย" และสุดท้ายยังต้องรับโทษจำคุก ทำให้เกิดคำถามว่า ต่อไปใครจะกล้าเป็นพยานในคดีฟ้องร้องเจ้าหน้าที่
ความตายปริศนาที่ชายแดนใต้
เป็นที่น่าสังเกตว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีปล้นปืน และคดีที่แตกลูกจากคดีปล้นปืน ล้วนมีจุดจบไม่ค่อยสวยนัก...
ทนายสมชายซึ่งทำคดีให้กลุ่มผู้ต้องหาคดีปล้นปืนที่อ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจซ้อมทรมาน ถูกอุ้มหายไปตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2547 จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครพบตัวหรือพบศพ
พันตำรวจตรีเงิน ทองสุข จำเลยหนึ่งเดียวในคดีอุ้มทนายสมชายที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก หายตัวไปจากอุบัติเหตุโคลนถล่มที่ อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อกลางเดือนกันยายน 2551 ระหว่างการอุทธรณ์สู้คดี ซึ่งภายหลังศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง
อับดุลเลาะห์ อาบูคารี เด็กหนุ่มวัย 20 ต้นๆ ซึ่งเป็นพยานในคดีซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีปล้นปืน และอยู่ในโปรแกรมคุ้มครองพยานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2552
29 สิงหาคม 2554 เจะรอฮานี ยูโซ๊ะ ภรรยาของอับดุลเลาะห์ อาบูคารี ก็ถูกยิงเสียชีวิตไปอีกคน
ผู้ต้องหาคดีปล้นปืน 5 คนที่อ้างว่าถูกซ้อมทรมาน และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจฟ้องกลับนั้น เป็นการถูกฟ้องกลับทั้งๆ ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องพวกเขาในคดีปล้นปืน
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้อาจไม่เกี่ยวเนื่องกันก็เป็นได้ แต่ถ้ามันเป็นเรื่องบังเอิญ ก็ช่างเป็นความบังเอิญที่น่ากลัวอย่างยิ่ง
ปมปริศนาที่ส่งผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมกับปัญหาชายแดนภาคใต้ดังกล่าวนี้ กำลังรอการคลี่คลายจากฝีมือของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่...พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ พลตำรวจเอกจักรทิพย์ จากเว็บไซต์คมชัดลึก