ชาวบ้านน้ำดำเเฉรัฐจ้าง 200 บ. ยกมือหนุนสร้างรง.นิวเคลียร์
ประชาคมกาฬสินธุ์จับมือองค์กรภาคีถกตั้งโรงงานนิวเคลียร์ หลังตกเป็นพื้นที่เป้าหมาย นักวิชาการแนะควรให้ความรู้ควบคู่การพัฒนาพลังงาน ฝ่ายชาวบ้านร้องถูกยัดเงิน 200 บาท จ้างยกมือ
วันที่ 24 ต.ค. ที่ห้องประชุมโรงเรียนหัวหินวัฒนาลัย บ้านหนองนู ต.หัวหิน อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ องค์กรภาคี ได้แก่ ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน, เครือข่ายพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต, เครือข่ายติดตามเรื่องนิวเคลียร์ จังหวัดกาฬสินธุ์, เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคอีสาน, มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ และ Mekong school Alumni, EarthRights International ได้จัดเวทีเสวนาเรื่องโรงฟ้านิวเคลียร์ โดยมีผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ จำนวนกว่า 60 คน เข้าร่วมรับฟัง และแลกเปลี่ยนข้อมูล
ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2573 หรือ แผน PDP2010 (Thailand Power Development Plan 2010) ได้กำหนดแผนในการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 29 โรง โรงไฟฟ้าถ่านหิน 9 โรง โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 9 โรง และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 52,890 เมกะวัตต์ ในระยะ 20 ปี (ปี 2573)จากเดิมผลิตได้ 28,045 เมกะวัตต์ (ปี 2552) และได้มีการกำหนดเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เครื่องแรกในปี 2563
ด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.ได้แสดงรายงานหัวข้อการศึกษาเรื่องสถานที่ตั้ง ซึ่งใช้องค์ประกอบการพิจารณา 3 ด้าน คือ ด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม และเศรษฐศาสตร์ สรุปว่าพื้นที่เหมาะสมเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 อันดับแรกคือ 1.อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี 2.ต.พนมรอก อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ 3.ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด 4. ต.คันธุลี อ.ท่าชนะ จ.สุราษฏร์ธานี และ5.ปากน้ำละแม อ.ละแม จ.ชุมพร โดยเป้าหมายหลักคือ จ.นครสวรรค์และอุบลราชธานี แต่ในขณะเดียวกันพื้นที่ อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งไม่ได้ถูกระบุในแผน PDP ก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการดำเนินการสำรวจตั้งแต่ปลายปี 2553 และวางเป้าหมายที่จะทำโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่เช่นกัน
โดยนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน กล่าวว่า หลังจากที่เกิดเหตุการณ์สึนามิและการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้เกิดการตื่นตัวของกระแสสังคมทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยส่งผลให้รัฐบาลประกาศชะลอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ในทางปฏิบัติการดำเนินการด้านการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับประโยชน์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังมีอย่างต่อเนื่อง และขยายลงสู่ชุมชน ในขณะที่ความชัดเจนในด้านความรู้เรื่องนิวเคลียร์อย่างรอบด้านของประชาชนยังไม่มี ซึ่งประเด็นเหล่านี้ทางสังคมและชุมชนที่เกี่ยวข้องควรจะได้รับการรับรู้และวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมในด้านการพัฒนาพลังงาน
“เรากำลังจะเอาพื้นที่เกษตรกรรมอันอุดมสมบูรณ์ไปแลกกับอุตสาหกรรม ในขณะที่ชุมชนก็มักจะถูกอ้างเสมอว่าเพื่อการพัฒนา แต่ไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ฉะนั้นจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่าถ้ามีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้วคุณภาพชีวิตเราจะดีขึ้นหรือไม่ ” ผู้ประสานงาน ศสส. กล่าว
ด้าน ดร.ธวัชวงศ์ชัย ไตรทิพย์ นักวิชาการ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ชาวบ้านได้รับทราบข้อมูลจากกระแสข่าวว่าจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ จ.กาฬสินธุ์ และมีการลงสำรวจพื้นที่ หลังจากนั้นทางการก็เข้ามาให้ข้อมูลฝ่ายเดียวว่าเราจะมีการพัฒนา และมีไฟฟ้าใช้อย่างมั่นคง แต่ยังไม่เคยมีใครเข้ามาให้ข้อมูลกับชาวกาฬสินธุ์อย่างสมบูรณ์ ว่าจะมีผลกระทบหรือไม่ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
“ผลกระทบเกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้ผู้คนตื่นตัวกันมากขึ้น ดังนั้น ในวันนี้จึงเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่เราจะร่วมกันเรียนรู้ และรณรงค์เผยแพร่ เพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงการใช้พลังงาน และรู้เท่าทันปัญหาการพัฒนาพลังงานของประเทศ” ดร.ธวัชวงศ์ชัย กล่าว
ขณะที่นายสมคิด เหล่าประชา ชาวตำบลกุดโดน หมู่ที่ 13 จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในพื้นที่มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ดังนั้น ควรมีการให้การศึกษากับคนในชุมชนทั้งนักเรียน ผู้นำ และชาวบ้าน ซึ่งไม่ใช่การต่อต้านหรือบอกว่าเอาโครงการ แต่เน้นการให้ข้อมูลความรู้อย่างรอบด้าน แล้วมีการขยายเวทีไปสู่ภาคส่วนต่าง ๆ
“ทางการได้เข้ามาเปิดเวทีและให้ข้อมูลแต่ด้านดี แจกผ้าห่ม พร้อมกับเงิน 200 บาท แล้วให้ชาวบ้านยกมือเห็นด้วย ซึ่งบางคนก็ไม่รู้เรื่องเห็นเขายกมือก็ยกเอากับเขา ทว่าพวกเราไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลเลยว่านิวเคลียร์มันคืออะไร จะมีผลกระทบหรือไม่” นายสมคิดกล่าว