“สุภา-สมบัติ”รอด! ป.ป.ช.ตีตกทุกข้อหาปมบอร์ด ขสมก.เช่าโฆษณารถเมล์
“สุภา-สมบัติ”รอด! ป.ป.ช. ตีตกทุกข้อหา-คดีหมดอายุความ ปมบอร์ด ขสมก. เช่าโฆษณารถเมล์ “วิชัย” ยกความเห็นกฤษฎีกา ยัน ขสมก. มีอำนาจลดหนี้ให้เอกชนได้ เหตุมีรถโดยสารลดลงจากสัญญา ชี้ ขสมก. มีสิทธิ์แก้ไขสัญญาได้หากเกิดประโยชน์แก่องค์การ
จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้แต่งตั้งนายวิชัย วิวิตเสวี เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีกล่าวหานายพีระพงศ์ อิศรภักดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ขสมก. กับพวกรวม 14 ราย (ปรากฏชื่อของ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารกิจการ ขสมก. เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ 13 และนายสมบัติ ธรธรรม ที่ปรึกษา พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารกิจการ ขสมก. เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ 3) มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว)
โดยทั้ง 14 ราย ถูกกล่าวหาสองกรณี ได้แก่ กรณีแรก การลดหนี้ค่าเช่าเนื้อที่โฆษณารถโดยสารธรรมดา โดยถูกกล่าวหาว่า ช่วยเหลือบริษัท เอสแมพ จำกัด โดยลดหนี้การให้เช่าเนื้อที่โฆษณาข้างรถโดยสารธรรมดาที่บริษัทค้างอยู่ และกรณีที่สอง การประกวดราคาให้เช่าเนื้อที่โฆษณารถโดยสารปรับอากาศ และรถโดยสารปรับอากาศยูโรทู เมื่อ พ.ศ. 2543 โดยถูกกล่าวหาว่า แก้ไขรายละเอียดของแบบสัญญาแนบท้ายประกาศประกวดราคา ก่อนลงนามในสัญญา อันเป็นการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้เสนอราคาด้วยกัน และมิได้ยกเลิกการประกวดราคาครั้งนั้น
ล่าสุด นายวิชัย ได้ชี้แจงกรณีนี้ โดยระบุถึงผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนี้
กรณีแรก คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่ฟังได้ว่ารถโดยสารมีจำนวนลดลงจากเงื่อนไขในสัญญา และมีการเปลี่ยนเส้นทางรถโดยสาร ทำให้มีผลต่อเนื้อที่โฆษณาและกระทบต่อรายได้จากการโฆษณา คณะกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพจึงมีอำนาจลดหนี้ให้บริษัท แอสแมพ จำกัด ได้ เป็นอำนาจในการบริหารจัดการ ไม่ขัดกับ พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ.2519
ประกอบกับเรื่องนี้เทียบเคียงได้กับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 617/2543 เรื่อง อำนาจของคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในการพิจารณาผ่อนปรนการชำระหนี้ที่ค้างชำระของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ภายใต้นโยบายที่คณะกรรมการ กนอ.กำหนด หากคณะกรรมการ กนอ.พิจารณาแล้วเห็นว่า การผ่อนปรนการชำระหนี้ ให้แก่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นลูกหนี้ของ กนอ. โดยลดต้นเงินของหนี้ที่ค้างชำระลดลง หรืองดค่าปรับ ดอกเบี้ย หรือเงินเพิ่มที่เกิดจากการชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนดเวลา จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของ กนอ. ก็สามารถทำได้โดยใช้อำนาจตามมาตรา 28 ประกอบมาตรา 23 อีกทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ยังให้ความเห็นอีกว่า การลดหนี้ดังกล่าว รัฐวิสาหกิจสามารถทำได้ และข้อเท็จจริงกรณีนี้ ฟังไม่ได้ว่ามีการช่วยเหลือบริษัท แอดแมพ จำกัด
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป
กรณีที่สอง คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า ประกาศประกวดราคาได้กำหนดไว้ในข้อ 8.2 ว่า ทางองค์การสงวนสิทธิ์ที่จะแก้ไข เพิ่มเติมเงื่อนไขหรือข้อกำหนดในแบบสัญญาและเอกสารอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แก่ทางองค์การจากข้อกำหนดนี้ คณะกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จึงมีอำนาจแก้ไขรายละเอียดหรือเงื่อนไขที่ประกาศกำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคาให้เช่าเนื้อที่โฆษณา รถยนต์โดยสารปรับอากาศและรถโดยสารปรับอากาศรุ่นยูโรทู การแก้ไขดังกล่าวเป็นไปตามข้อสงวนสิทธิ์ในประกาศประกวดราคาให้เช่าเนื้อที่โฆษณาของรถยนต์โดยสารปรับอากาศและรถโดยสารปรับอากาศยูโรทู และไม่จำต้องยกเลิกการประกวดราคา หากเกิดประโยชน์แก่องค์การ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ข้อกล่าวหานี้ตกไปเช่นกัน
ส่วนผู้ถูกกล่าวหาสองราย คือ นายสมบัติ ธรธรรม และ พล.ต.ต.วันชัย วิสุทธินันท์ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า ได้ยกคำกล่าวหาขึ้นพิจารณาเกิน 10 ปี จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะทำการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป ส่วนผู้ถูกกล่าวหาอีกรายหนึ่ง คือ นายพงศกร เลาหวิเชียร เสียชีวิตระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง ให้จำหน่ายคดี
ทั้งนี้การพิจารณาดังกล่าว กรรมการ ป.ป.ช. สองคน คือ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง และ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ไม่ได้ร่วมพิจารณาด้วย เนื่องจากมีส่วนได้ส่วนเสียในกรณีนี้
ล่าสุด นายวิชัย เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ตีตกคดีของ นายพีระพงศ์ กับพวก ทั้งในส่วนของความผิดทางอาญา และความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้ว แล้ว ทั้งนี้ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ได้เชิญนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านองค์การรัฐวิสาหกิจมาให้ข้อมูล ประกอบกับยึดตามแนวทางความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และคำพิพากษาของศาลฎีกา เสียงข้างมาก 5 ต่อ 2 จึงมีมติให้ตีตกดังกล่าว เพราะเห็นว่า เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ส่วนเสียงข้างน้อยเห็นว่า ทำไม่ได้ ส่วนเหตุผลอะไรบ้างจำไม่ได้ ดังนั้นคณะอนุกรรมการไต่สวนฯจึงนำเสนอเรื่องต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก่อนที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติให้ตีตกคดีดังกล่าว
อ่านประกอบ :
เบื้องหลัง! ป.ป.ช.จ่อตีตกคดี“สุภา-สมบัติ”ปมปล่อยเช่าโฆษณารถเมล์ ขสมก.
ไม่ต้องเกรงใจ! “สุภา”ยันป.ป.ช.สอบคดีเช่าโฆษณารถเมล์ได้เต็มที่-ชงชี้ขาด 13 ส.ค.
“สมบัติ”ที่ปรึกษา“สถาพร”ขอพักงาน! หลังถูกสอบปมเช่าโฆษณาช่วงนั่งบอร์ด ขสมก.
“สถาพร”ยันไม่ได้ตั้งคนทุจริตนั่งที่ปรึกษาเหตุ ป.ป.ช.ยังไม่ลงมติชี้มูลผิด
ที่ปรึกษา กก.ป.ป.ช.หลุด! คดีเช่าโฆษณา ขสมก.-“ปานเทพ”ยันสอบ“สุภา”ต่อ
ป.ป.ช.ยันทำคดี“สุภา”พันเช่าโฆษณาขสมก.ก่อนหมดอายุความ-หลักฐานครบ
“ภักดี”ยัน“สุภา”ยุ่งคดีที่ถูกสอบอยู่ไม่ได้-คาดให้ทำหน้าที่แทน“ใจเด็ด”
ป.ป.ช.ยันตั้ง“สุภา”ไม่ขัดคดีที่ถูกไต่สวน -ลุยสอบไมค์หรู 1.4 แสนแล้ว