สธ.เผยยอดผู้ป่วยน้ำท่วมกว่า 7 แสนราย ให้ความมั่นใจยา-หมอไม่ขาดแคลน
ก.สาธารณสุข เน้นแผนเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไม่ใช่สัญญาณเตือนน้ำท่วมกรุงมิด สำรองยา-เวชภัณฑ์พร้อม และให้ รพ.เปิดให้บริการตามปกติ 2 เดือนนี้ ส่วนสายด่วนกู้ชีพ 1669 เพิ่มเป็น 300 คู่สายรองรับนาทีชีวิตฉุกเฉินทั่วประเทศ
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เปิดเผยว่าจนถึงขณะนี้พบผู้เจ็บป่วยจากน้ำท่วมที่รับบริการที่หน่วยแพทย์เคลื่อนของกระทรวง 728,072 ราย ปัญหาอันดับ 1 คือโรคน้ำกัดเท้า ทั้งนี้หน่วยแพทย์เคลื่อนที่จะให้บริการจนกว่าสถานการณ์จะเป็นปกติ และกำชับเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังป้องกันไม่ให้เกิดโรคติดต่อ ส่วนการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล ได้วางระบบสร้างความปลอดภัยขั้นสูงสุดไว้แล้ว โดยเตรียมโรงพยาบาลในเขตปริมณฑลและโรงพยาบาลที่อยู่รอบนอกรองรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลใน กทม.และปริมณฑล หากเกิดเหตุฉุกเฉิน
ทั้งนี้การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ไม่ใช่เป็นการส่งสัญญานว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพมหานครทั้งหมด และโรงพยาบาลยังคงให้บริการเหมือนเดิม ดังนั้นประชาชนจึงไม่ต้องตระหนกหรือวิตกกังวลแต่อย่างใด โดยการเตรียมแผนเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเป็นกระบวนการสร้างความปลอดภัยให้ผู้ป่วย โดยมีเกณฑ์อย่างน้อย 1 ใน 3 ของผู้ป่วยหนัก ซึ่งจะมีการประเมินตามสถานการณ์ โดยให้โรงพยาบาลทุกแห่งที่อยู่ในภาวะเสี่ยงจะถูกน้ำท่วมต้องจัดทำแผนรองรับต่อสถานการณ์เพื่อให้มีความพร้อมที่จะดูแลผู้ป่วยทุกรายอย่างปลอดภัยในชีวิตสูงสุด
โดยให้สำรองยา เวชภัณฑ์ ออกซิเจนเพื่อใช้ในผู้ป่วยฉุกเฉิน และใช้ได้ไม่น้อยกว่า 3 สัปดาห์ สำรองอาหาร การสำรองเครื่องปั่นไฟฟ้าภายในโรงพยาบาล ซึ่งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และองค์การเภสัชกรรม จัดการสำรองยาและเวชภัณฑ์ให้พร้อมทั้งหมด และควบคุมคุณภาพราคายาด้วย จะไม่ให้มีปัญหายาขาดแคลนอย่างแน่นอน รวมทั้งให้โรงพยาบาลปรับชั้นให้บริการประชาชนในจุดที่ปลอดภัย ซึ่งหากมีปัญหาน้ำท่วม โรงพยาบาลก็ยังคงสามารถให้บริการผู้ป่วยต่อไปตามปกติอย่างน้อย 2 เดือน
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารรณสุข กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 22-23 ต.ค.54 มีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแล้ว 126 ราย ไปยัง 3 จังหวัดคือ นครราชสีมา สระบุรีและชลบุรี จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติที่ถูกน้ำท่วม และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีซึ่งเสี่ยงจะถูกน้ำท่วมด้วย โดยได้ให้โรงพยาบาลต่างจังหวัดสำรองเตียงรองรับผู้ป่วยทั้งหนักและปานกลาง ไม่ต่ำกว่า 2,000 เตียง ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะได้รับบริการที่มีมาตรฐาน
รมว.สธ. ยังกล่าวว่า ในช่วงวิกฤติน้ำท่วมนี้ สายด่วน 1669 บริการทีมแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเบอร์โทรฟรีใช้ได้กับโทรศัพท์ทุกระบบ ตรงที่ศูนย์บัญชาการการแพทย์ฉุกเฉินในแต่ละจังหวัด มีประชาชนโทรแจ้งถี่มาก วันละ 4,320 สาย ต่างจากปกติวันละ 2,800 สาย ทำให้คู่สายไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นจึงได้สั่งการให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เร่งดำเนินการเพิ่มอีก150 คู่สาย รวมเป็น 300 คู่สาย ก็จะได้จังหวัดละประมาณ 20 คู่สาย โดยจะเพิ่มในจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมก่อน ซึ่งจะทำให้ประชานโทรติดง่ายขึ้น และได้รับบริการช่วยชีวิตได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้กระทรวงได้พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีครอบคลุมทุกพื้นที่มีถึงระดับตำบลกว่า10,000 ทีม สำหรับพื้นที่น้ำท่วมได้สั่งการให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จัดระบบการรับส่งผู้ป่วยทั้งทางเรือและทางรถ โดยเฉพาะเรือนั้นจะต้องมีผู้ประสานที่อยู่ในพื้นที่หรือชุมชนนั้นๆ เนื่องจากจะทราบเส้นทางดี โดยเฉพาะในเขตชุมชนหนาแน่น .