ถอดรหัส “เอนก” เจ้าของความคิดรัฐบาลแห่งชาติ “วันนี้เราไม่สามารถอยู่แบบเดิมได้”
แนวคิดรัฐบาลปรองดองแห่งชาติที่บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้ง เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จุดพลุขึ้นเพื่อชงให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติให้เป็นคำถามสำหรับการทำประชามติพ่วงกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในคราวเดียวกัน กลายเป็นข้อถกเถียงที่ร้อนแรงจากฝ่ายการเมืองหลังออกมาคัดค้านสุดตัวเพราะเห็นว่า เป็นการฝืนธรรมชาติ และอาจสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เจ้าของแนวคิด “รัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูป” เล่าถึงความเป็นมาเรื่องนี้ผ่านสำนักข่าวอิศราไว้อย่างน่าสนใจ
รัฐบาลแห่งชาตินี้มีที่มาที่ไปอย่างไร
เนื่องจากสถานการณ์ ยุคสมัยมันเรียกร้อง รัฐบาลปรองดองนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่นาน แค่ 4-5 ปีก็พอแล้ว จากนั้นก็กลับเป็นรัฐบาลแบบปกติก็ได้ ถ้าไม่มีอะไรพิเศษก็ไม่มีใครอยากที่จะเสนออะไรที่แปลกไปจากธรรมเนียมหรือจารีตเดิมเพราะผู้เสนอก็ต้องถูกวิจารณ์ ทีนี้สถานการณ์ เหตุการณ์ ยุคสมัยมันเรียกร้องให้ต้องคิดอะไรในกระบวนทัศน์ใหม่ และที่ผ่านมาเราได้พยายามแก้ปัญหาการเมืองมานานร่วม 10 ปีแล้ว เพื่อให้ได้รัฐบาลที่เป็นพอใจและยอมรับจากคนในชาติ ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง แตกหัก นองเลือด เกิดความเสียหายใหญ่หลวงแก่บ้านเมือง
วันนี้มันถึงเวลาที่เราจะต้องกล้าคิด กล้าทำอะไรใหม่ ที่ไม่ใช่แค่แก้ปัญหา เราได้แก้ปัญหานี้มา 10 ปีทุกสูตรแล้ว จนถอดใจว่า ยังไงมันก็แก้ไม่ได้ ในที่สุดก็เกิดการรัฐประหารขึ้นเมื่อ 22 พ.ค. 2557 เราก็รู้อยู่ว่า ยุคสมัยมันไม่เอื้อให้ปกครองแบบอำนาจรัฐถาถิปัตย์ การเลือกตั้งโดยไม่มีพรรคการเมืองหรือนักการเมืองก็ไม่ได้ ฉะนั้น สิ่งที่เราใช้สติปัญญา นำเสนอนี้ จะต้องขอประชามติจากประชาชนว่าจะสนับสนุนหรือไม่ที่จะให้เราทำรัฐบาลปรองดอง ก็คือ เอาสองพรรคใหญ่ๆ รวมทั้งพรรคขนาดเล็ก ขนาดกลาง ที่ไม่อยู่ในสองฝ่ายจำนวนมากพอมารวมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรประมาณ 4 ใน5 ร่วมเป็นรัฐบาลอยู่สัก 4-5 ปี และใน 4-5 ปี ก็จัดการเรื่องปฏิรูป ปรองดอง ให้มากยิ่งขึ้น โดยในเรื่องปฏิรูปก็ทำต่อจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ( สนช). และ ต่อจากสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศที่วางเอาไว้ จะไม่มีปัญหาที่ว่า รัฐบาลเลือกตั้งจะไม่ทำเรื่องการปฏิรูป ฉะนั้น รัฐบาลนี้จึงน่าจะพูดได้ว่า เป็น รัฐบาลปฏิรูปปรองดองแห่งชาติ
รัฐบาลนี้จะต้องมีลักษณะพิเศษสำคัญเพราะอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของประชาธิปไตยไทย เพราะจะเป็นประชาธิปไตยที่ทำให้เราทำงานได้ ความขัดแย้งไม่ต้องห่วง มันยังมีอยู่แน่ในรัฐบาล ก็เหมือนรัฐบาลผสมทั่วๆไปที่จะต้องมีความขัดแย้งแต่ว่า มันจะต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งในรัฐบาลให้ได้ และมันก็มีโอกาสแก้ได้สูงเพราะมันมีผลประโยชน์ ความต้องการ ความห่วงใยที่มันมีอยู่ในนั้น ฉะนั้น ต้องประนีประนอม ปรองดองให้ได้ มีแนวโน้มดีกว่าที่ให้ฝ่ายหนึ่ง ขั้วหนึ่งมาเป็นรัฐบาล และอีกฝ่ายก็อยู่ในท้องถนนในกลุ่มของฝ่ายค้าน
รัฐบาลปรองดองที่ว่า มีตัวอย่างในต่างประเทศแล้วแก้ปัญหาสำเร็จหรือไม่
ก็เยอะแยะหลายประเทศ อังกฤษในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองระหว่างที่รบกับเยอรมัน ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลก็ร่วมกันตั้งรัฐบาลฉุกเฉินขึ้น เพราะชีวิตความเป็นความตายของประเทศ มันไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านหรือรัฐบาลมาทะเลาะกันได้มาก ก็ต้องลดความขัดแย้ง ลดความแตกต่างลงมาชั่วคราว ให้มาสนใจในเรื่องที่เป็นประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย เพราะถ้าอังกฤษแพ้ ฝ่ายค้าน หรือ ฝ่ายรัฐบาลก็แพ้หมด ทุกคนในสังคมก็แพ้ ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องร่วมแรงกัน
ในเยอรมันเวลานี้ก็เป็นรัฐบาลแบบนี้ มีการนำพรรคใหญ่สองฝ่ายมารวมเป็นรัฐบาล ทำให้สิ่งที่เยอรมันทำสำเร็จก็คือ ประคับประคองเศรษฐกิจ รักษาการนำในยูโรได้ ไม่กระทบกระเทือนมากเหมือนตอนที่แบ่งพรรคสมัยก่อน ในยามใดที่บ้านเมืองต้องการเอกภาพ รัฐบาลที่ร่วมมือกันระหว่างฝ่ายหรือพรรคที่ขัดแย้งกันเป็นเรื่องสำคัญ
มาเลเซียก็เป็นอย่างนี้ ทุกพรรคที่ตั้งขึ้นตั้งเป็นเอกราชก็ไม่ได้ไปเอาพรรคที่เป็นชาวมาเลย์มาเป็นรัฐบาลพรรคเดียว และก็เอาพรรคที่เป็นผู้แทนของคนจีน และคนอินเดีย ไปเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งมันสามารถทำได้นะ แต่มันไม่ทำ เพราะมาเลเซียมีจารีตอยู่ว่า ทุกรัฐบาลจะต้องมีพรรคที่ประกอบด้วย ชนในชาติใหญ่ๆทั้งสามชนชาติ คือ มาเลย์ อินเดีย และ จีน ถ้ามันเป็นพรรคที่อาศัยแต่เสียงข้างมากครึ่งเดียว มาเลย์พรรคเดียวก็พอแล้วที่จะเป็นรัฐบาล แต่ว่า ความสามัคคีมันก็ไม่เกิดขึ้น
ขั้นตอนที่จะนำไปสู่การตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติจากนี้เป็นอย่างไร
ก็ต้องฟังประชามติก่อน ถ้าประชามติออกมาซึ่งถือว่าเป็นประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนบอกว่า อยากเห็น บ้านเมืองสามัคคี 5 ปี นี่ก็เป็นอาณัติจากประชาชน ถ้าประชาชนมีประชามติอย่างนี้ก็แปลว่า ประชาชนออกมาพูดหนักแน่นอยากเห็นบ้านเมืองไปสู่ความปรองดอง ทุกพรรคก็จะต้องฟังเสียงประชาชน ที่พรรคต่าง ๆ ตัดพ้อว่า ไม่อยากแต่งงานกัน ไม่อยากให้มาอยู่ด้วยกันก็จะต้องลดความคิดอย่างนี้เพราะประชาชนต้องการให้มาอยู่ร่วมกันและเราก็ต้องคิดตลอดเวลาว่า พรรคการเมืองหรือนักการเมืองความจริงก็เป็นผู้แทนจากปวงชน เมื่อปวงชนออกเสียงมาดังๆ เราควรจะต้องนำมาเป็นอาณัติของเรา
เราก็พูดกันตลอดว่า เสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์ เราก็สามารถนำเอาประชามติมาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญส่วนจะเขียนอย่างไรก็คงต้องไปหารือในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอีกที เช่น กำหนดในบทเฉพาะกาลว่า 4-5 ปีแรก ให้รัฐบาลประกอบด้วยเสียงของ สส.ในสภา เช่น 70-80% ขึ้นไปได้ทั้งนั้น แค่นี้คงยังไม่พอก็ต้องอาศัยความเป็นผู้นำการเมืองของทั้ง2-3-4-5 พรรคหรือกี่พรรคก็แล้วแต่ มาช่วยกันคิดตั้งรัฐบาล
คนเป็นผู้นำประเทศควรเป็นคนนอกหรือไม่เพราะร่างรัฐธรรมนูญใหม่เปิดช่องให้มาเป็นได้
เป็นเรื่องที่ฝ่ายการเมืองต้องมาคิด รัฐธรรมนูญคงไม่สามารถเขียนละเอียดได้ขนาดนั้น จะเอา สส. มาเป็นนายกฯก็ได้ หรือไม่เอาก็ได้ แล้วแต่
อยากให้เปรียบเทียบสองพรรคใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย มีจุดเหมือนกันตรงไหนที่สามารถมาตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติได้
เป็นเรื่องที่จะต้องไปคิดกัน จะต้องเอาคนที่ไม่เคยทะเลาะกันมาเป็นให้มากขึ้น คนที่เป็นเคยเป็นคู่กรณีก็ต้องหลบ ต้องไม่เอาคนที่เผชิญหน้ามาจัดตั้งรัฐบาล แต่ทั้งหมดเป็นความเห็นของผมเท่านั้น แต่อยากบอกว่า ความจริงนักการเมืองเขาฉลาดจะตาย แค่นี้จะคิดไม่ได้หรือว่าจะเอาใครมาทำงาน
ข้ออ่อนของรัฐบาลแห่งชาติ ฝ่ายการเมืองท้วงว่า อาจเปิดช่องให้มีการฮั้ว สมประโยชน์ เกิดการทุจริตโดยไม่มีใครตรวจสอบเห็นอย่างไรเรื่องนี้
4-5 ปีเท่านั้น ถ้าคุณไม่ชอบ จากนั้น คุณจะทำอย่างไรก็เรื่องอนาคตของคุณ เราไม่ได้ทำเป็นบทถาวร นี่แค่บทเฉพาะกาล
รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ จะแก้ความขัดแย้งได้มากด้วยสมมติฐานจากอะไร
เพราะมันร่วมกันทำงาน แล้วอะไรที่จะปรองดองกันได้มากกว่าเดิมมันก็จะทำ เมื่อก่อนฝ่ายหนึ่งเป็นรัฐบาลแล้วกลับมาเป็นฝ่ายค้าน แล้วฝ่ายค้านก็กลับมาเป็นรัฐบาล มันไม่ใช่ค้านแบบปกติ เพราะถ้าปกติ คุณใช้ประชาธิปไตยแบบอังกฤษ อเมริกาที่ค้านแล้วไม่ได้ออกสู่ถนน ก็ไม่มีใครว่า หรือออกมาสู่การยึดทำเนียบรัฐบาล สนามบิน หรือ ออกมาสู้ ปะทะกันกลางเมือง คำถามที่ตั้งมานี้ เป็นคำถามที่อยู่ในกรอบเก่า ผมว่า นักการเมืองวันนี้ควรคิดกรอบใหม่แล้วนำเสนอมา นักการเมืองไม่ควรคิดถึงการได้มาซึ่งอำนาจเท่านั้น แต่ควรคิดให้บ้านเมืองมันมีสันติสุข เรื่องนี้จะชอบไม่ชอบก็ลองคิดดู ในที่สุดมันก็ขึ้นอยู่กับประชามติ ถ้าเขาเอา นักการเมืองทั้งหลายก็ต้องปรับความคิด ถ้ายังไม่ปรับอีกก็ไม่ใช่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เพราะเอาความเห็นของผู้นำพรรคเป็นที่ตั้ง
ในอดีตของไทยเคยมีรัฐบาลปรองดองหรือไม่
ยุครัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็พูดได้เพราะแทบจะไม่มีฝ่ายค้าน ส่วนฝ่ายรัฐบาลก็ได้รับการยอมรับจากกองทัพ มีพรรคใหญ่ พรรคกลาง เข้าร่วมเกือบหมด ตอนนั้นก็มีการค้านหลายครั้ง นำมาสู่การยุบสภาตั้งหลายปี ป๋าเปรมไม่ได้อยู่ 8 ปีรวด ท่านอยู่ 2 ปีกว่า ติดต่อหลายครั้ง ฉะนั้นจะบอกว่า รัฐบาลผสมจะไม่มีใครค้านเลยก็ไม่ใช่ ตอนนี้เองถ้าเปิดให้ค้านก็คงมีเสียงค้านในสังคมเยอะแยะ เสียงค้านปกติในสังคมก็มีอยู่แล้วในทุกครั้ง ดังนั้นก็อย่าไปกลัว
เรารับฟังเสียงท้วงติง แต่ถ้านักการเมืองอึดอัดก็ขอให้คิดว่า ทำเพื่อบ้านเมืองสัก 4-5ปี แล้วถ้ามันได้ผล ประชาชนก็อาจจะสนับสนุนให้เป็นอย่างนี้ หรือถ้าไม่ได้ความ มันก็แค่ 4-5 ปี เท่านั้น ปัญหาคือ เรากล้าทำอะไรใหม่หรือไม่ เวลาทหารเขายึดอำนาจ เราก็เคยชินว่า ยึดเสร็จ ก็ต้องกลับมาสู่แบบเดิมเลย การยึดอำนาจก็เหมือนการรักษาโรคเฉียบพลัน ที่เรามักคิดว่า จะรักษากลับไปสู่ร่างกายปกติ แต่เราก็เห็นจากการยึดอำนาจปี 2549 จากนั้นพอเลือกตั้งก็กลับไปเป็นแบบเดิม ฉะนั้น ผมว่า เราต้องใช้ความกล้า ความสร้างสรรค์ สติปัญญาเพื่อหาทางออกใหม่ๆ
วิกฤตจากนี้ยังมีอะไรบ้าง
ปัญหาเศรษฐกิจก็เยอะ ถ้าเราไม่แก้ปัญหานี้ ประเทศไทยก็จะค่อยจมลงช้าๆ เราจึงต้องการรัฐบาลที่ต่อเนื่องมั่นคง และเป็นประชาธิปไตย มีความเข้มแข็งเด็ดขาด แต่ก็ฉลาดมีไหวพริบ ซึ่งถ้าไม่มี ต้นทุนที่เป็นสิ่งที่ดีมากของประเทศไทย ไม่ว่า ทรัพยากร ที่ตั้ง สถานที่ท่องเที่ยว จะไม่สามารถช่วยกอบกู้ประเทศไทยได้ ปัญหาเศรษฐกิจบางคนบอกว่า มันก็คือ ปัญหารัฐบาลที่ต้องสร้างให้เกิดความเข้มแข็งมั่นคง เด็ดขาด
อย่าไปคิดในประเด็นที่ว่า ถ้าเอาสองพวกมาแล้วจะทะเลาะกัน เราก็เอาคนที่ดีของสองพวก สามพวกจากพรรคกลางๆและเล็กที่จะมาร่วมมาเป็นรัฐบาลปรองดอง ทำไมเราต้องใช้ระบบแบ่งเอาคนดี คนเก่งของจำนวนนี้ไปเป็นฝ่ายค้าน และฝ่ายแค้น และเอาคนเก่งคนดีมาตั้งรัฐบาล แต่กระนั้นที่ผ่านมาก็ไม่ได้เอาคนดีคนเก่งมาตั้งรัฐบาลสักเท่าไร แต่เป็นคนที่มีความสำคัญของพรรครัฐบาล ฉะนั้นมันก็ต้องคิดใหม่ ไม่อย่างนั้นเราก็ถนัดแต่การบ่น และการแก้ปัญหาด้วยกรอบเก่า ผมถึงบอกว่า ยุคสมัยมาถึงแล้วที่เราไม่สามารถอยู่แบบเดิมได้ เราต้องเอาคนดีของทุกฝ่ายเข้ามาร่วมให้ได้
ถ้าที่สุดแล้ว เราไม่สามารถมีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติได้ ภาพของรัฐบาลใหม่ตามรัฐธรรมนูญใหม่จะเป็นอย่างไร
มันก็พอไปได้ แต่มันก็ขึ้นกับปัจจัยอะไรอีกหลายๆอย่าง เช่น ผู้นำของฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน บรรยากาศ สื่อ บรรยากาศที่เป็นมิ่งขวัญกำลังใจ แต่ผมอยากให้สติว่า ตอนนี้ต้องพยายามหาทางร่วมกันทำให้บ้านเมืองเป็นไปในทางที่ดี เราคิดกันในรัฐธรรมนูญก็คือ ไม่ใช่เอาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกไป แต่ต้องพยายามดึงทุกฝ่ายเข้าร่วมให้มากที่สุด คือ เอาทั้งพรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก เราไม่ปิดโอกาสคนนอกที่จะเข้ามาร่วมเป็นรัฐบาล เรายังมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์และการปฏิรูปแห่งชาติ ที่ดึงเอาอดีตประธานรัฐสภา อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการเหล่าทัพมาร่วมด้วย และพื้นฐานเดิมของสังคมไทยก็ยังเป็นอมาตยาธิปไตยสูง ทหารก็ยังมีบทบาทสูง เราก็พยายามให้เขาเข้ามามีส่วนให้มาก และเราก็ยังเป็นระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ที่พวกเราเคารพรักเป็นหลักชัยด้วย ถ้าเราทำอย่างนี้ทั้งหมดแล้ว ผมคิดว่า พระสยามเทวาธิราชช่วยเรา แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ผมว่าเราก็โทษใครไม่ได้
คณะกรรมการยุทธ์ศาสตร์ ช่วยแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา
ก็ช่วยแก้ปัญหาในภาวะที่รัฐบาล รวมถึง สถาบันการเมือง ไม่สามารถยุติความขัดแย้งได้ เราจึงให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ทำงานแทน แต่เราเขียนเอาไว้ให้คณะกรรมการฯชุดนี้ กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว ไม่ได้ให้คณะกรรมการอยู่นานๆ เราชัดเจนว่า ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่เราต้องยึดถือเป็นสำคัญ แต่ว่าก็ต้องเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ต้องคำนึงพลังอื่นๆที่มีอยู่ในสังคมไทยด้วย
คณะกรรมการนี้เหมืองแปลงสภาพ คสช. คุมรัฐบาล เมื่อเราสร้างกลไกใหม่ในรัฐธรรมนูญมากมายแล้ว ทำไมยังต้องมีคณะกรมการชุดนี้อีก
เรื่องนี้มันเป็นอะไรที่เราไม่เคยคิด ปกติของไทยเราจะทำให้ประชาธิปไตยให้เป็นรูปลักษณ์ ถ้าไม่ไหวก็ยึดอำนาจ เราใช้วิธีการฉีกรัฐธรรมนูญแล้วเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ผมคิดว่า ยุคสมัยมันจะไม่อนุญาตให้เราทำแบบนี้แล้ว เสียงต่อต้านจากตะวันตก จากสหภาพยุโรป ฉะนั้นที่เขียนก็เพื่อจำเป็นไม่ให้มีการใช้การยึดอำนาจเป็นทางออกประเทศ ถึงยังไงๆ มันก็ยังเป็นระบอบประชาธิปไตย คุณจะใช้อำนาจพิเศษอย่างไร ก็ใช้ได้ชั่วคราวเท่านั้น ผมว่า มันก็ดี
คิดอย่างไรเสียงวิจารณ์คณะกรรมการยุทธ์ศาสตร์ว่าเป็น รัฐถาถิปัตย์ ซ่อนรูป
เข้าใจเขาหมด ที่เขาวิจารณ์เพราะเขาเคยชินว่า เมื่อมีการยึดอำนาจแล้วมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ทุกอย่างต้องกลับไปเหมือนเดิม ผมก็เห็นมา ตั้งแต่ปีการรัฐประหาร 2549 จะกลับไปเหมือนเดิม แต่มันก็ไม่เหมือนเดิม แล้วปี 2557 เรายังจะทำซ้ำอีก ยังไม่เบื่อซักทีหรือ ผมคิดว่า เราต้องหาอะไรที่เป็นทางออกใหม่ ผมเข้าใจในความอึดอัดของทุกคน แต่ก็ต้องขอให้ทุกฝ่ายเสียสละ และยอมซัก 4-5 ปี
มันสะท้อนหรือไม่ว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งช่วง 1-2 ปี ยังไม่สำเร็จ
มันก็แก้ไปได้พอสมควร แต่ก็ต้องแก้ต่อไปอีก เหมือนเรารักษาโรค เราต้องรักษาจนมันหาย ไม่ใช่รักษานิดเดียวแล้วก็ออกมาจากโรงพยาบาลอีก เดี๋ยวมันก็เป็นโรคอีก เรื่องความขัดแย้งในระดับหนึ่งมันก็เป็นเรื่องดี เพราะไม่ใช่ว่า สังคมต้องมีความเป็นเอกภาพหมด แต่ว่า ครั้งหนึ่งมันต้องยอมให้บางฝ่ายที่เราไม่ค่อยชอบอยู่ร่วมกับเรา
สำหรับนักประชาธิปไตยต้องอดทนเห็นกรรมการยุทธศาสตร์ฯนี้อยู่คลุมรัฐบาลเอาไว้ 4-5 ปี แต่ถ้าเราทำดีไม่มีปัญหา ก็ไม่มีใครมาทำอะไรเราได้ ถึงเวลานั้น ประชาธิปไตยไทยก็กลับมาเข้มแข็งขึ้นอีก ความจริงระบอบประชาธิปไตยของเราเข้มแข็งอยู่แล้ว แต่ทำอย่างไรที่จะให้ระบอบประชาธิปไตยต้องไม่โกงกิน ไม่ใช้อำนาจนอกระบบ อันนี้สิ่งที่ทั้งฝ่ายสีแดงและเพื่อไทยอยากจะเห็น และฝ่ายสีเหลืองและพรรคประชาธิปัตย์ก็อยากจะเห็น ซึ่งมันดีทั้งสองฝ่าย ก็เอามาทำกัน
รัฐธรรมนูญฉบับนี้คงไม่ใช่เขียนโดยเอาตำราประชาธิปไตยมาลอก มันต้องคิดถึงว่า ทำอย่างไรที่จะฟื้นประชาธิปไตยกลับคืนมาและก็พัฒนาประชาธิปไตยให้ยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายมากกว่านี้ หลายอย่างที่เสนอไปคงไม่ถูกใจของบางคน รวมทั้งทั้งสองขั้ว อันนี้เป็นเรื่องดีเพราะทำให้การร่างรัฐธรรมนูญไม่เวิ้งว้างออกทะเล เสียงวิจารณ์ก็ยืดเหนี่ยวพวกเราอยู่ ก็ฝากเอาไว้ว่า ภายในสัปดาห์นี้ก็สะท้อนมาให้พวกเราได้ยิน เพราะยังมีเวลาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญนี้ จนถึงปลายเดือนนี้
ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก : http://www.posttoday.com/politic/213960