‘เทียนฉาย’ โชว์ผลงานสปช. ฉีกทิ้งใบสั่งผู้มีอำนาจ
นายกฯ เตรียมรับมอบผลงานปฏิรูป สปช. 37 วาระปฏิรูป 6 วาระพัฒนา 'เทียนฉาย' เผยรัฐบาลเดินหน้าบางเรื่องเเล้ว ยอมรับที่ผ่านมาฉีกทิ้งใบสั่งจากผู้มีอำนาจ คาดการณ์ยากอีก 5 ปี เเนวโน้มสัมฤทธิ์ผลกี่เปอร์เซนต์
วันที่ 13 สิงหาคม 2558 สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จัดงาน สปช.รายงานประชาชน เรื่อง เปลี่ยนประเทศไทยกับ สปช. (NRC Blueprint for Change) ณ ห้องคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เอ 2 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยมี ศ.กิตติคุณเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. พร้อมด้วยศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช.คนที่ 1 และรศ.ดร.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช.คนที่ 2 ร่วมแถลงข่าว
โดยในช่วงเช้า ศ.กิตติคุณเทียนฉาย กล่าวในหัวข้อ ‘ประธานสปช. เปิดใจ ปฏิรูปอะไร’ ตอนหนึ่งถึงบทบาทของ สปช.ว่า 10 เดือนที่ผ่านมา สปช.มิได้ขับเคลื่อนเฉพาะการปฏิรูปประเทศเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย ฉะนั้นจึงต้องสลับเวลาในการพิจารณา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสุดท้าย และต้องส่งมาให้ สปช.รับรองภายในวันที่ 22 สิงหาคม 2558 ก่อนจะสิ้นสุดหน้าที่
ทั้งนี้ ยืนยันไม่มีความเสี่ยงที่ถูกมองว่า สปช.เป็นเครื่องมือของรัฐประหาร เพราะเมื่อบ้านเมืองไม่มีทางออก ทำให้คนทั่วไป รวมถึงสมาชิก สปช.ต้องอาสาสมัครเข้ามาปฏิรูปและยกร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ หากไม่ทำจะบอกลูกหลานในอนาคตได้อย่างไรว่า เราช่วยได้ แต่กลับปฏิเสธ ซึ่งประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่า หลายคนยังไม่รู้จักคำว่า ‘ปฏิรูป’ ซึ่งความจริง คือ การจัดระบบ องค์กร โครงสร้าง และรากปัญหาที่สะสมมานาน ไม่ใช่การเสนอให้รัฐบาลออกคำสั่งแก้ปัญหา
ประธาน สปช. ยังกล่าวว่า ปัจจุบันภารกิจการขับเคลื่อนแนวทางการปฏิรูปเสร็จสิ้นแล้ว มีวาระการปฏิรูป 37 วาระ ประกอบด้วย 1.การป้องกันทุจริต 2.การเข้าสู่อำนาจ/ระบบพรรคการเมือง 3.ปรับโครงสร้างอำนาจส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น 4.การงบประมาณ 5.ประสิทธิภาพและคุณภาพการบริหารงานภาครัฐ 6.กิจการตำรวจ 7.การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ 8.ระบบและโครงสร้างภาษี 9.ระบบงานรัฐวิสาหกิจ 10.ระบบพลังงาน 11.ปฎิรูปที่ดินและการจัดการที่ดิน 12.การผูกขาดและกรแข่งขันที่เป็นธรรม 13.การเงินฐานรากและสหกรณ์ออมทรัพย์ 14.ปฏิรูปการเกษตร 15.การสร้างสังคมผู้ประกอบการ 16.ระบบจัดการการศึกษา 17.ระบบการคลัง ด้านการศึกษา (ด้านอุปสงค์ Demand-side Education Financing)
18.ระบบการเรียนรู้ 19.การกีฬา 20.ระบบวิจัยเพื่อโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมของประเทศ 21.ระบบ วทน.เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมของประเทศ 22.ระบบสาธารณสุข 23.ระบบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคใหม่ๆ 24.ระบบการคลังด้านสุขภาพ 25.ระบบการบริหารจัดการทรัพยากร 26.การจัดการภัยพิบัติตามธรรมชาติและภาวะโลกร้อน 27.การเตรียมการเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์กรุงเทพฯ จม 28.ระบบเพื่อส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง 29.สวัสดิการสังคม 30.สังคมสูงวัย 31.การคุ้มครองผู้บริโภค 32.การกำกับดูแลสื่อ 33.สิทธิเสรีภาพบนความรับผิดชอบ 34.การป้องกันการแทรกแซงสื่อ 35.ศิลปวัฒนธรรมเพื่อสร้างคุณค่า 36.ส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันศาสนาเพื่อให้เป็นสถาบันหลักของสังคม และ 37.ปฏิรูปการแรงงาน
ศ.กิตติคุณเทียนฉาย ระบุอีกว่า ยังมีวาระการพัฒนา 6 วาระ ด้วย ประกอบด้วย 1.ศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศ 2.การวิจัยนวัตกรรม 3.ระบบโลจิสติกส์ 4.การพัฒนาเศรษฐกิจ 5.กลไกในการพัฒนาที่ไม่ใช่ภาครัฐ และ 6.พัฒนาระบบทักษะใหม่และความเชื่อที่มีผลต่อพฤติกรรม โดย สปช.ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่สังเคราะห์จากสิ่งที่ได้ศึกษาจากคณะทำงานต่าง ๆ ในอดีต
“ปัจจุบันรัฐบาลได้เดินหน้าปฏิรูปในบางเรื่องแล้ว ภายใต้วาระปฏิรูปและวิสัยทัศน์เป็นกรอบ อย่างไรก็ดี ระหว่างการขับเคลื่อนได้พบเรื่องเล็ก ๆ บางเรื่องต้องแก้ไข แต่ไม่ถึงขั้นปฏิรูป เรียกว่า ควิกวิน ยกตัวอย่าง การเสนอให้คิดค่าโทรศัพท์รายวินาทีตามใช้งานจริง หรือบางเรื่องไม่เคยคิดว่าจะมีปัญหาสะสมก็กลายเป็นวาระปฏิรูปใหม่ เช่น การบินพลเรือน การประมง การค้ามนุษย์ เป็นต้น”
ประธาน สปช.ยังกล่าวถึงการลงมติรับรองร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้น โดยระบุสมาชิก สปช.สามารถศึกษารายละเอียดร่วมกันได้ แต่ไม่ใช่การโน้มน้าวแนวความคิดเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องทำด้วยความระมัดระวัง แต่ส่วนตัวเวลาทำหน้าที่ประธาน สปช. มีความเห็นและความคิดได้ แต่ต้องเก็บไว้ เพราะหากพูดออกไปจะถือเป็นการชี้นำได้ พร้อมยืนยันมีสมาชิก สปช.เพียง 2 ท่านเท่านั้น ที่จะคว่ำร่างฯ ตามกระแสข่าว อย่างไรก็ตาม สำหรับการทำประชามติจะมีการหารือในวันลงมติดังกล่าวด้วย ก่อนจะส่งให้ ครม.วินิจฉัยต่อไป
เมื่อถามถึงข้อกังวลอนาคตประเทศจะกลับเข้าสู่สภาพเดิมแห่งความขัดแย้ง ทำให้ภารกิจของ สปช.ไร้ความหมาย ศ.กิตติคุณเทียนฉาย กล่าวว่า แต่ละคนมีส่วนร่วมก่อปัญหา ดังนั้นถึงจุดที่ทุกคนต้องคิดเองว่า ประเทศบอบช้ำ ต้องช่วยกัน ซึ่งผลและบทบาทสำคัญจะทำให้เหตุการณ์ดีขึ้น ต้องมองรัฐธรรมนูญไปข้างหน้า แม้ทุกคนจะเชื่อว่า ผิวน้ำเรียบ แต่ใต้น้ำยังมีคลื่น ฉะนั้นต้องจัดการ
ประธาน สปช. กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมามีใบสั่งจากผู้มีอำนาจหรือไม่ ซึ่งถ้อยคำและวาจาของตนเองคงยืนยันไม่ได้ แต่สมาชิก สปช.ทราบดีว่า เราฉีกใบสั่งทิ้งไปกี่ใบ ขอเรียกว่า ใบคำร้อง และคงคาดการณ์ไม่ได้ว่าอีก 5 ปี ข้างหน้า จะเดินหน้าปฏิรูปประเทศได้กี่เปอร์เซ็นต์ เพราะ 10 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ไทยมีสต๊อกปัญหาสะสมจำนวนมาก ฉะนั้นต้องมาแก้ไขสต๊อกปัญหาเดิมก่อน อย่างไรก็ตาม เราต้องช่วยกันเอาใจใส่เรื่องนี้และเป็นเจ้าของการปฏิรูปประเทศร่วมกัน เพราะประเทศเป็นของเรา ช่วยกันออกแบบ ปรุงแต่ง และต้องทำไปพร้อมกับการประเมินและปรับปรุงให้ดีขึ้น ถือเป็นความรับผิดชอบของคนไทยทุกคน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในเวลา 16.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเป็นประธานรับมอบผลงานของ สปช. ซึ่งมีวาระการปฏิรูป 37 ประเด็น และ 6 วาระพัฒนา ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 .