อุบัติเหตุ “รถรับจ้างรับส่งนักเรียน” กับ ความสูญเสียซ้ำซากที่ยังไม่มีทางออก
จากเหตุการณ์ รถปิกอัพรับจ้างรับส่งนักเรียนโรงเรียนนราสิกขาลัยและโรงเรียนบางนราวิทยา ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส สันนิษฐานคนขับ “หลับใน” จนเกิดอุบัติเหตุตกร่องกลางถนนชนต้นไม้ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้นักเรียน 11 คนที่เดินทางมาด้วยเสียชีวิต 9 ราย และคนขับอีก 1 คน รวมเป็น 10 คน
ปัญหาความปลอดภัยในการเดินทางด้วย “รถนักเรียน” จะพบได้ทั้งในกลุ่ม (1) รถโรงเรียน (2) รถรับส่งนักเรียน และ (3) รถรับจ้างรับส่งนักเรียน ซึ่งกลุ่มที่ (1) และ (2) จะมีการจดทะเบียนเป็นรถสาธารณะกับกรมการขนส่งทางบก และมีระบบกำกับที่ชัดเจน เช่น คนขับต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ , นำรถไปตรวจสภาพทุก 6 เดือน ฯลฯ แต่ในกลุ่ม (3) รถรับจ้างรับส่งนักเรียน จะเป็นกลุ่มที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุด
เหตุผลสำคัญที่ “รถรับจ้างรับส่งนักเรียน” ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในหลายๆ ด้าน เพราะ
1)ความเสี่ยงด้านตัวรถ : เพราะเป็นการนำรถส่วนบุคคล ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้รถปิกอัพและรถตู้ มาดัดแปลงเป็นรถรับจ้างรับส่งนักเรียน โดยการเพิ่มแถวที่นั่ง เพื่อให้สามารถรับนักเรียนได้จำนวนมากๆ ประกอบกับผู้ปกครองที่ให้บุตรหลานมาใช้รถกลุ่มนี้ จะมีฐานะปานกลางถึงยากจน ไม่สามารถจ่ายค่ารถราคาแพงได้ ต้องอาศัยนักเรียนจำนวนหลายๆคนมาช่วยเฉลี่ยให้ผู้รับจ้างมีผลกำไร เช่น ข่าวอุบัติเหตุรถตู้รับจ้างส่งนักเรียนอนุบาล ที่ จ.นครศรีธรรมราช บรรทุกเด็กถึง 40 คน โดยรถที่ใช้มีอายุถึง 25 ปี
2)ความเสี่ยงด้านคนขับ : รถรับจ้างนักเรียน นอกจากจะไม่ต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะแล้ว ยังขาดระบบกำกับตรวจสอบจากผู้ประกอบการหรือโรงเรียน เช่น การกำกับช่วงเวลาในการขับรถ เพราะคนขับอาจจะไปรับงานอื่นจนเกิดความอ่อนล้า เป็นเหตุให้ “หลับใน” , ขาดการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ก่อนจะขับรถ ฯลฯ
3)ความเสี่ยงจากระบบกำกับ : รถกลุ่มนี้ จะไม่ถูกตรวจสอบแบบรถนักเรียนที่ขึ้นทะเบียน มีเฉพาะการระบุให้มาขออนุญาตกับนายทะเบียนขนส่ง เทอมละ 1 ครั้ง (ตามข้อกำหนดกรมการขนส่งทางบก หนังสือที่ คค.0408/ว.113 ลงวันที่ 22 เมษายน 2554) แต่ในทางปฏิบัติพบว่าไม่ได้ขออนุญาตแต่เป็นการตกลงกับทางผู้ปกครองกันเอง
อีกระบบกำกับที่ยังเป็นปัญหาคือ การกำกับโดยโรงเรียน ซึ่งเกือบทุกโรงเรียนจะไม่มีระบบกำกับรถรับจ้างรับส่งนักเรียนเหล่านี้ แม้จะมีการระบุไว้ในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2536 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534 มีการให้นิยามคำว่า "รถโรงเรียน" หมายความว่า รถที่โรงเรียนใช้ในการรับส่งนักเรียน และให้หมายความรวมถึงรถที่ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งนำไปใช้ในการรับส่งนักเรียนและรถที่โรงเรียนให้บุคคลภายนอกมารับส่งนักเรียน เพื่อการศึกษาตามปกติ
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งต้องมีการเยี่ยมบ้าน และสำรวจสภาพความเสี่ยงต่างๆ ของเด็กนักเรียน รวมทั้ง “ความเสี่ยงในการเดินทาง” แต่โรงเรียนส่วนใหญ่ยังขาดการนำข้อมูลการเดินทางมาวิเคราะห์และวางแผนแก้ไขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4)ความเสี่ยงจากระบบประกันภัย : เนื่องจากเป็นรถส่วนบุคคล และส่วนใหญ่จะเป็น “รถเก่า” ที่มีเฉพาะประกันภัยภาคบังคับ ไม่ได้ทำประกันภัยสมัครใจ หรือประกันบุคคลให้ผู้โดยสาร ดังนั้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งมักจะเกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเป็นหมู่ เช่นกรณีนี้ นักเรียนเสียชีวิตถึง 10 คน การชดเชยเยียวยาที่เกิดขึ้นจึงได้วงเงินเพียง 2 แสนบาท (จากประกันภัยภาคบังคับ)
จากความเสี่ยงที่ยังคงอยู่ ทั้งปัจจัยด้านยานพาหนะ (รถสภาพเก่า ดัดแปลงสภาพ บรรทุกจำนวนมาก) ปัจจัยด้านตัวคนขับ และ ที่สำคัญคือ ปัจจัยด้านระบบกำกับติดตามโดยโรงเรียน และ ขนส่งทางบก จึงเป็นเหตุให้ข่าวอุบัติเหตุของรถกลุ่มนี้ยังคงอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์แทบจะทุกสัปดาห์โดยไม่มีวี่แววว่าจะถูกแก้ไขได้อย่างเป็นระบบ
ดังนั้น เพื่อให้เกิดระบบป้องกันมิให้ “รถรับจ้างรับส่งนักเรียน” มีความเสี่ยงและเกิดอุบัติเหตุ เกิดความสูญเสียซ้ำซาก ถึงเวลาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เร่งดำเนินการแก้ไขที่รากปัญหา ได้แก่
มาตรการเร่งด่วน
(1)กรมการขนส่งทางบก และ กระทรวงศึกษาธิการ เร่งทบทวนมาตรการในการ “ควบคุมกำกับ” ให้ “รถรับจ้างรับส่งนักเรียน” จะต้องถูกกำกับและตรวจสอบด้านความปลอดภัย ทั้งด้าน
- มาตรฐานคนขับ ให้มีการกำกับแบบเดียวกับรถสาธารณะ
- มาตรฐานตัวรถ (โครงสร้าง การยึดเกาะเก้าอี้นั่งที่มั่นคงแข็งแรง เข็มขัดนิรภัย ระบบเบรก)
- การบรรทุกเด็กจำนวนมาก จนเกิดความเสี่ยง
- การวิเคราะห์เส้นทาง จุดรับส่งนักเรียน ที่มีความปลอดภัย
- กำหนดให้มีผู้ดูแลบนรถ โดยเฉพาะกรณีที่บรรทุกเด็กเล็ก (นักเรียนอนุบาล ประถม)
(2)สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ควรใช้ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ที่มีการเยี่ยมบ้านนักเรียน สำรวจการเดินทางของนักเรียน (ทั้งที่ใช้รถประจำทาง รถรับจ้างรับส่งนักเรียน รถจักรยานยนต์ หรือ รถจักรยาน) พร้อมทั้งนำข้อมูลที่ได้ ไปวางแผนในการจัดการความปลอดภัยในการเดินทางของนักเรียน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(3)หน่วยงานท้องถิ่น (อบจ., เทศบาล และ อบต.) เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนเพื่อให้การเดินทางไปโรงเรียนมีความปลอดภัย เช่น การสนับสนุนงบเพื่อให้เกิดรถรับส่งนักเรียน ที่ปลอดภัย (ไม่ต้องบรรทุกเด็กจำนวนมากๆ , มีอุปกรณ์ความปลอดภัย)
(4)กำหนดให้ “รถรับจ้างรับส่งนักเรียน” ต้องมีการทำ “ประกันภาคสมัครใจ” และประกันภัยส่วนบุคคล เพื่อป้องกันปัญหาการชดเชยเยียวยาที่ไม่เป็นธรรม
มาตรการระยะกลาง - ระยะยาว
(1)กรมการขนส่งทางบก มีระบบกำกับ และแผนงานในการปรับปรุงประสิทธิภาพการรับส่งนักเรียนด้วยรถโดยสารสาธารณะให้มีความสะดวกและปลอดภัย จนเป็นที่ไว้วางใจของผู้ปกครอง ไม่ต้องให้บุตรหลานไปใช้รถรับจ้าง
(2)กำหนดให้มี GPS และ/หรืออุปกรณ์ติดตามพฤติกรรมคนขับ ในรถรับส่งนักเรียนทุกคัน โดยกำหนดไว้ใน “เงื่อนไขประกอบการยื่นขอใบอนุญาตประกอบการขนส่ง” รวมทั้งกลุ่มรถรับจ้างรับส่งนักเรียนที่จะมาขออนุญาตด้วย
ตราบใดที่ยังไม่มีระบบควบคุมกำกับ “ความเสี่ยง” ของ “รถรับจ้างรับส่งนักเรียน” สังคมไทยก็ยังคงต้องพบกับข่าวความสูญเสียของนักเรียนแบบเดียวที่เกิดกับ 10 ชีวิตของนักเรียนที่ตากใบ ถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานที่ดูแล และหน่วยงานสนับสนุนอย่างเช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนและผู้ปกครอง จะจับมือกันป้องกันความสูญเสียเหล่านี้ เพื่อให้ทุกชีวิตของบุตรหลานไปเดินทางไปกลับโรงเรียนอย่างปลอดภัย
ขอบคุณภาพประกอบจาก : http://hilight.kapook.com/view/124716