รักยิ่งใหญ่ของแม่ที่ชายแดนใต้ ทำทุกอย่างได้เพื่อชีวิตลูก
ความรักของแม่ เป็นความรักที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นความรักที่มาพร้อมกับหน้าที่ และการให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
ดังเช่นความรักของ แมะโมง โว๊ะ ที่มีต่อลูกของนาง แม้จะต้องตัดขาดกับโลกภายนอกนานหลายสิบปีเพราะต้องอยู่ดูแลลูกที่พิการตั้งแต่กำเนิดอย่างใกล้ชิด แต่นางก็ยอมทำ นับเป็นความรักอันยิ่งใหญ่ที่น่าบันทึกไว้ใน "วันแม่แห่งชาติ"
"แม่ทนเพื่อลูกได้ทุกอย่าง มีกินไม่มีกิน ลูกต้องอิ่มเท่านั้น แม่อดได้ทนได้เพื่อลูก" เป็นคำพูดทั้งน้ำตาของ แมะโมง วัย 63 ปีที่คุยกับลูกชายของนาง นายมะดิง เปาะมะ วัย 27 ปี ที่พิการทั้งร่ายกายและสมองตั้งแต่เกิด
เป็นเวลานานถึง 27 ปีเท่าอายุลูก ที่นางต้องอยู่แต่ในบ้านในตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เพื่อดูแลทะนุถนอมลูกคนนี้เหมือนเด็กแรกเกิด ทั้งอาบน้ำ ป้อนข้าว หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนกางเกงผ้าอ้อม แต่ละวันนางแทบไม่สามารถละสายตาจากลูกได้เลย เพราะ มะดิง มีอาการแทรกซ้อน คือ ชักและเกร็งบ่อยครั้ง
แมะโมงมีลูก 8 คน ด้วยฐานะที่ยากจน นางต้องให้ลูกแต่งงานเพื่อออกไปใช้ชีวิตข้างนอก 5 คน เหลือเพียง มะดิง ลูกชายคนที่ 5 กับ มะรอฮิง วัย 17 ปี ซึ่งเป็นน้องชายคนสุดท้องซึ่งกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เท่านั้นที่อยู่ด้วยกัน
รายได้ของ แมะโมง มีเพียงเบี้ยยังชีพคนชราจากรัฐบาลเดือนละ 600 บาท และเงินช่วยเหลือคนพิการของมะดิง เดือนละ 800 บาทเท่านั้น และนั่นคือรายรับเพียงแหล่งเดียวที่นางต้องใช้สำหรับค่าใช้จ่ายทุกอย่างภายในบ้าน
แมะโมง เล่าว่า เงินเพียง 1,400 บาทต่อเดือนนี้ ถึงไม่พอก็ตองพอ เพราะไม่มีอาชีพไหนที่สามารถทำไปพร้อมๆ กับการดูแลลูกที่พิการได้ นางจึงยอมที่จะไม่มีรายได้ ดีกว่าปล่อยให้ลูกอยู่คนเดียว เพราะหากมะดิงมีอาการชักระหว่างที่ไม่มีคนอยู่ด้วย นั่นหมายถึงชีวิตของเขาต้องสิ้นสุดลงทันที
"วันไหนๆ ก็สำคัญทุกวัน ไม่มีวันไหนที่รู้สึกหนื่อยล้าเมื่อต้องทำเพื่อลูก แม้ร่างกายจะเข้าวัยชราแล้ว ทำให้ป่วยบ้างเป็นบางครั้ง แต่ฉันต้องไม่มีวันป่วย เพราะถ้ามะดิงล้มจะไม่มีใครช่วย ตอนมะดิงชัก ฉันต้องอดหลับนอนเฝ้าเขา เช้าตื่นตี 4 จัดการตัวเองทุกอย่างก่อนฟ้าสาง เพราะมะดิงจะตื่น" แมะโมง บรรยายถึงกิจวัตรประจำวันตลอดเกือบ 30 ปีของนาง
แมะโมง บอกว่า สิ่งเป็นห่วงที่สุดตอนนี้คือการตายจาก หากมะดิงตายก่อนก็ถือว่าหมดห่วง แต่ถ้านางต้องตายก่อนมะดิง ลูกก็จะไม่มีคนดูแล
"หวังจะพึ่งลูกๆ อีก 6 คน พวกเขาเองก็ลำบาก มีภาระต้องดูแล สิ่งเดียวที่ฉันหวังและอธิษฐานมาตลอดก็คือ ขออย่าให้ฉันป่วยและตายก่อนมะดิง"
พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เต็มไปด้วยเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ มากว่า 10 ปี ทำให้มีหญิงหม้ายและเด็กกำพร้าจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ ยาแมะอะ มะนาหิง หญิงหม้ายที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียสามี เธอต้องเลี้ยงลูกน้อย 2 คนเพียงลำพังมาตลอด 7 ปี ทั้งยังมีมารดาวัยชราต้องดูแลอีก 1 คน แม้วันนี้เธอได้บรรจุเข้าเป็นทหารแทนตำแหน่งของสามีที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตของเธอดีขึ้นเหมือนตอนที่อยู่กันครบครอบครัว
"ช่วงที่สามีเสียชีวิต ลูกคนที่ 2 เพิ่งเกิดมาได้เพียง 12 วัน คนโตอายุ 3 ขวบ บอกตรงๆ รับไม่ได้ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังรับสภาพไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ชีวิตต้องเดินไปข้างหน้า ลูกต้องเรียน ต้องมีอนาคตที่ดี จึงต้องทำงานเพื่อหารายได้ ให้ความสุขกับลูก และแม่ของฉันที่อายุ 73 ปีแล้ว แม้ตัวเองจะดูเหมือนว่าโชคดี มีอาชีพเป็นทหาร แต่รายได้ก็ใช่ว่าจะพอใช้ ยามว่างต้องทำขนมวางขายตามร้านค้า เพื่อให้มีรายได้มากขึ้น เพราะลูกต้องเรียนหนังสือ"
"ฉันทำทุกอย่างที่ได้เงิน 10-20 บาทก็เอา ว่างๆ ก็จะขึ้นไปในสวน หาสะตอหรือลูกเนียงขาย เจอหน่อไม้ก็จะเก็บไปขาย ได้เงินมาก็เอาไปเป็นค่าข้าวสารและกับข้าว แม้ตัวเองเหนื่อยก็ยอมอดทนเพื่อทุกคนในครอบครัว โรคไมเกรน (ปวดศีรษะข้างเดียว) ที่เป็นอยู่ก็รักษาไม่หาย พอเครียดมากๆ ก็ต้องไปฉีดยาที่โรงพยาบาล เพราะยาที่หมอให้ไม่พอกับอาการเราปวด"
ยะแมะอะ บอกด้วยว่า ตลอด 7 ปีพยายามคิดปลอบใจตัวเองว่า สิ่งที่เราเจอ อาจจะน้อยกว่าคนอื่นที่ต้องเจออะไรที่แย่หรือหนักกว่าเรา แรงผลักดันเดียวที่ทำให้สู้ต่อไป...
คือทำเพื่อลูกและเพื่อแม่
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : แมะโมง โว๊ะ