"กฤษฎีกา"ยันซ้ำถึง2ครั้งถอดยศ-เรียกคืนเครื่องราชฯ"ทักษิณ"ได้ ไฉนต้องถามครั้งที่3
"...เมื่อฟังคำตอบของ พล.ต.อ.สมยศแล้ว ยิ่งรู้สึกว่า ไม่มีเหตุผลหรือข้ออ้างใดๆที่จะต้องหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องนี้อีกแล้ว เพราะที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทำเรื่องหารือคณะกรรมการกฤษฎีกามาแล้วถึง 2 ครั้งในปี 2552(เรื่องเสร็จที่ 692/2552) และ 2554(เรื่องเสร็จที่ 757/2554).."
อ่านข่าวด้วยความงุนงง เมื่อพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)กล่าวถึงเหตุผลที่ยังไม่สามารถเสนอให้มีการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้ทำเรื่องหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่โดยอ้างว่า เพื่อความถูกต้องชัดเจนและไม่ถูกฟ้องร้องในภายหลัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้ทำบันทึกถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อสอบถามในข้อกฎหมายที่ไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจ แต่ไม่ปรากฏเป็นข่าว ซึ่งตอนนี้ทาสำนักงานกฤษฎีกายังไม่ตอบกลับมา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทำหนังสือหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาถึง 2 ครั้ง เกี่ยวกับการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับคำตอบว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีอำนาจดำเนินการได้ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า จะนำแต่ละเรื่องมาเทียบเคียงกันไม่ได้ เนื่องจากไม่ใช่เรื่องเดียวกัน อีกทั้งไม่ใช่เรื่องที่ใช้กฎหมายตัวเดียวกัน สำหรับเรื่องของการถอดยศตำรวจนั้นจะต้องนำระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยถอดยศตำรวจ พ.ศ. 2547 มาพิจารณาว่าระเบียบนั้นสามารถนำมาบังคับใช้ได้หรือไม่กับกรณีนี้ หากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาบอกว่าสามารถนำมาใช้ได้ก็ตอบมา
ดังนั้น เหตุผลที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความก็เพื่อความรอบคอบและไม่ให้เกิดข้อถกเถียงในประเด็นข้อกฎหมายเพราะอาจนำไปสู่การฟ้องร้อง เพราะก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.วิรุฬห์ ฟื้นแสน อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจและอดีต ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงตน จึงต้องนำประเด็นเหล่านี้มาพิจารณาอีกครั้ง จะเพิกเฉยไม่ได้ เพราะอาจเป็นความผิดของ ตร.ได้ และในเมื่อ ตร.ไม่มั่นใจในข้อกฎหมายจึงต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว
เมื่อฟังคำตอบของ พล.ต.อ.สมยศแล้ว ยิ่งรู้สึกว่า ไม่มีเหตุผลหรือข้ออ้างใดๆที่จะต้องหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องนี้อีกแล้ว เพราะที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทำเรื่องหารือคณะกรรมการกฤษฎีกามาแล้วถึง 2 ครั้งในปี 2552(เรื่องเสร็จที่ 692/2552) และ 2554(เรื่องเสร็จที่ 757/2554) ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1. คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พิพากษาให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีความผิดตามมาตรา ๑๐๐ (๑) วรรคสาม และพิพากษาให้รับโทษจำคุกตามมาตรา ๑๒๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ถือเป็นเหตุในการพิจารณาถอดยศตำรวจ ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗ หรือไม่ เพราะแตกต่างจากการดำเนินคดีอาญาทั่วไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งอาจจะมีเจตนารมณ์ของการกำหนดโทษแตกต่างไปจากข้าราชการตำรวจหรือผู้ที่เคยเป็นข้าราชการตำรวจถูกจำคุกอันเนื่องมาจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือพระราชบัญญัติที่มีโทษทางอาญาและถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
2. กรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๑๑ (๔) มาตรา ๒๘ และมาตรา ๒๙ ซึ่งครอบคลุมไปถึงบุคคลภายนอก ได้แก่ ข้าราชการตำรวจที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้ว และบุคคลภายนอกที่ไม่อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ เป็นการใช้อำนาจออกระเบียบเกินขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจหรือไม่ อย่างไร
3.เรื่องการเสนอขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรรณ์
ทั้งสามประเด็นดังกล่าวคณะกรรมการกฤษฎีกายืนยันว่า เป็นอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่สามารถดำเนินการได้ตามระเบียบและกฎหมาย แต่ทำไม ผบ.ตร.ยังคงอ้างเหตุผลต่างๆนานา มิได้แสดงความกล้าหาญเหมือนกรณีอื่นๆที่เคยลั่นวาจาไว้ในที่ต่างๆกรณีที่มีผู้กระทำผิดว่า จะดำเนินการไม่ไว้หน้า ในทำนองว่า "ใหญ่แค่ไหนก็จะจับให้หมด"
เพื่อให้เกิดความกระจ่างจึงขอนำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาฉบับเต็มทั้ง2 ครั้งมาให้อ่านกัน
เรื่องเสร็จที่ ๖๙๒/๒๕๕๒
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่อง แนวทางการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดยศตำรวจ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์
_______________
สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีหนังสือ ที่ ตช ๐๐๓๙/๐๓๓๑ ลงวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๒ หารือข้อกฎหมายมายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า รองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอให้หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๑ ว่า พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐๐ (๑) วรรคสาม และมาตรา ๑๒๒ วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี โดยพิพากษาให้ลงโทษจำคุกสองปี และยกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๒ ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น และมาตรา ๑๕๗ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
สำนักงานตำรวจแห่งชาติเห็นว่า ความผิดตามคำพิพากษานี้เป็นความผิดที่เกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเท่านั้น และการดำเนินคดีดังกล่าวแตกต่างจากการดำเนินคดีอาญาทั่วไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งมีวิธีพิจารณาและองค์กรศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ ซึ่งอาจจะมีเจตนารมณ์ของการกำหนดโทษแตกต่างไปจากข้าราชการตำรวจ
หรือผู้ที่เคยเป็นข้าราชการตำรวจถูกจำคุกอันเนื่องมาจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือพระราชบัญญัติที่มีโทษทางอาญาและถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยทั่วไปที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเคยนำมาเป็นเหตุพิจารณาดำเนินการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดออกจากยศตำรวจตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗
จึงขอหารือว่า คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พิพากษาให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีความผิดตามมาตรา ๑๐๐ (๑) วรรคสาม และพิพากษาให้รับโทษจำคุกตามมาตรา ๑๒๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ถือเป็นเหตุในการพิจารณาถอดยศตำรวจ ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗ หรือไม่
(๒) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้เคยมีหนังสือ ที่ นร ๐๕๐๘/๕๔๙๓ ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๔๙ ขอความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการเสนอเรื่องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดยศตำรวจและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปในคราวเดียวกันด้วย ซึ่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ ข้อ ๗ กำหนดเหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไว้ในข้อ ๗ (๒) ว่า" เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ" ซึ่งเป็นเหตุเดียวกับการเสนอขอถอดยศตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๑ (๒) โดยในการเสนอขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในรายนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเห็นว่า ในการเสนอขอเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ควรเสนอเฉพาะเครื่องราชอิสริยาภรณ์เมื่อครั้งรับราชการตำรวจที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้เสนอขอไว้เดิมเท่านั้น ส่วนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับภายหลังเมื่อพ้นจากการเป็นข้าราชการตำรวจไปแล้วจะอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๒ ) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยได้รับฟังคำชี้แจงจากผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี)และผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว มีความเห็นดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง ปัญหาว่า คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พิพากษาให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีความผิดตามมาตรา ๑๐๐ (๑) วรรคสาม พิพากษาให้รับโทษจำคุกตามมาตรา ๑๒๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ จะถือเป็นเหตุในการพิจารณาถอดยศตำรวจตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗ หรือไม่ นั้น
เห็นว่า การเสนอขอถอดยศตำรวจทั้งแก่ผู้ที่อยู่ในราชการตำรวจ และที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้วให้กระทำได้เมื่อมีผู้นั้นต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ตามข้อ ๑ (๒)[๑] แห่งระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗ จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การกำหนดเหตุแห่งการถอดยศมุ่งหมายถึงผลที่ผู้นั้นได้รับจากคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเท่านั้น โดยไม่ได้มุ่งหมายถึงสถานะของบุคคล กระบวนการพิจารณาพิพากษาคดี หรือฐานความผิดว่าจะต้องเป็นไปตามกฎหมายใด
ดังนั้น ถ้าข้าราชการตำรวจผู้ใดมีกรณีต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ว่าเป็นคำพิพากษาของศาลใด ย่อมอยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ ๑ (๒) แห่งระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗
ประเด็นที่สอง การต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ จะถือเป็นเหตุในการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือไม่ และในกรณีที่สามารถเรียกคืนได้ หน่วยงานใดจะเป็นผู้ดำเนินการเสนอเพื่อขอให้เรียกคืน
เห็นว่า ในเรื่องนี้ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้บัญญัติเหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไว้ในข้อ ๗ (๒)[๒] ว่า เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การกำหนดเหตุแห่งการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มุ่งหมายกรณีเดียวกันกับเหตุแห่งการถอดยศตำรวจตามข้อ ๑ (๒) แห่งระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗
ดังนั้น ถ้าข้าราชการตำรวจผู้ใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ย่อมอยู่ในเหตุตามข้อ ๗ (๒) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๘
ส่วนการเสนอขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ นั้น ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ ข้อ ๖[๓] ให้ดำเนินการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นตรา เว้นแต่กรณีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์แต่เพียงบางชั้นตรา และข้อ ๘[๔] ได้กำหนดให้ส่วนราชการต้นสังกัดหรือส่วนราชการที่เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการรวบรวมเอกสารหลักฐานและประวัติการได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของผู้นั้นเพื่อส่งเรื่องไปสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รับเรื่องแล้วหรือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นสมควร ให้เสนอรายชื่อพร้อมทั้งชั้นตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สมควรขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา
ในกรณีนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติอาจรวบรวมเอกสารหลักฐานและประวัติการได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เฉพาะในส่วนที่มีเอกสารหลักฐานอยู่ก็ได้ และหากมีเอกสารหลักฐานและประวัติการได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของผู้นั้น ในส่วนที่ยังขาดอยู่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหรือส่วนราชการอื่นที่เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็อาจดำเนินการเพิ่มเติมให้ครบถ้วน แล้วเสนอรายชื่อและชั้นตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สมควรขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป
(คุณพรทิพย์ จาละ) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตุลาคม ๒๕๕๒
เชิงอรรถ
[๑]ข้อ ๑ การเสนอขอถอดยศตำรวจทั้งแก่ผู้ที่อยู่ในราชการตำรวจ และที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้ว ให้กระทำได้เมื่อมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ฯลฯ ฯลฯ
(๒) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
ฯลฯ ฯลฯ
[๒]ข้อ ๗ เหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มีดังต่อไปนี้
(๑) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิต
(๒) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
ฯลฯ ฯลฯ
[๓]ข้อ ๖ ในกรณีที่ปรากฏเหตุแห่งการรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามข้อ ๗ ให้ดำเนินการเรียกคืนทุกชั้นตรา เว้นแต่กรณีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์แต่เพียงบางชั้นตรา
[๔]ข้อ ๘ เมื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รายใดมีกรณีที่ต้องถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามข้อ ๗ ให้ส่วนราชการต้นสังกัดหรือส่วนราชการที่เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการรวบรวมเอกสารหลักฐานและประวัติการได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของผู้นั้นเพื่อส่งเรื่องไปสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รับเรื่องแล้วหรือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นสมควร ให้เสนอรายชื่อพร้อมทั้งชั้นตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สมควรขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอรายชื่อและชั้นตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่จะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนไปยังสำนักราชเลขาธิการ เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกคืนแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
------------------------------------
เรื่องเสร็จที่ ๕๗๕/๒๕๕๔
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง อำนาจในการออกระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗
สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีหนังสือ ที่ ตช ๐๐๐๙.๒๕๔/๑๕๘๘ ลงวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๔ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า ตามที่เคยหารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับแนวทางการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดยศตำรวจและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์มายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาครั้งหนึ่งแล้ว โดยในส่วนของการถอดยศ ขอหารือว่า "คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พิพากษาให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีความผิดตามมาตรา ๑๐๐ (๑) วรรคสาม และพิพากษาให้รับโทษจำคุกตามมาตรา ๑๒๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ถือเป็นเหตุในการพิจารณาถอดยศตำรวจ ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗ หรือไม่" ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๒) ได้มีความเห็นว่า การกำหนดเหตุแห่งการถอดยศมุ่งหมายถึงผลที่ผู้นั้นได้รับจากคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเท่านั้น โดยไม่ได้มุ่งหมายถึงสถานะของบุคคล กระบวนการพิจารณาพิพากษาคดี หรือฐานความผิดว่าจะต้องเป็นไปตามกฎหมายใด
ดังนั้น ถ้าข้าราชการตำรวจผู้ใดมีกรณีต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ว่าเป็นคำพิพากษาของศาลใด ย่อมอยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ ๑ (๒) แห่งระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗
และต่อมาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและข้าราชการบำนาญกับพวกรวม ๖ คน มีหนังสือ ลงวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติร้องขอให้ยกเลิกระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจฯ ในส่วนที่ใช้บังคับกับอดีตข้าราชการตำรวจหรือบุคคลภายนอก โดยมีประเด็นสรุปได้ ดังนี้
การออกระเบียบโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๑๑ (๔) จะใช้บังคับกับข้าราชการตำรวจเท่านั้น การที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยครอบคลุมไปถึงบุคคลภายนอก เป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนดและเป็นการออกระเบียบโดยมิชอบ เนื่องจาก มาตรา ๑๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ บัญญัติให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจ วางระเบียบหรือทำคำสั่งเฉพาะเรื่องไว้ให้ข้าราชการตำรวจหรือพนักงานสอบสวนปฏิบัติการเกี่ยวกับการใช้อำนาจหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่นเท่านั้น
ดังนั้น จึงขอให้ยกเลิกระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจฯ ข้อ ๑ วรรคหนึ่ง เฉพาะข้อความว่า และที่พ้นจากข้าราชการตำรวจไปแล้ว และข้อ ๑ (๖) ทั้งข้อ คือ ต้องหาคดีอาญาแล้วหลบหนีไปสำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ นอกจากนี้ การออกระเบียบดังกล่าวถือเป็นการออกกฎ เพื่อให้มีผลเป็นการทั่วไปต่อเอกชนที่เกี่ยวข้องตามนัย มาตรา ๗ (๔) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ จะต้องลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมิได้นำระเบียบฉบับนี้ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น จึงไม่สามารถนำมาใช้บังคับในทางที่ไม่เป็นคุณแก่บุคคลใดได้ตามนัย มาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ข้อมูลข่าวสารที่ต้องลงพิมพ์ตามมาตรา ๗ (๔) ถ้ายังไม่ได้ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาจะนำมาใช้บังคับในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ผู้ใดไม่ได้
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งแตกต่างไปจากคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๒) ได้พิจารณาและมีความเห็นไว้แล้ว จึงนำเรื่องเสนอคณะอนุกรรมการ ก.ตร. ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาแล้วที่ประชุมมีความเห็นเป็นสองฝ่าย ดังนี้
ฝ่ายที่หนึ่ง เห็นว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจฯ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๑ (๔) มาตรา ๒๘ และมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ โดยมีเจตนารมณ์ให้ผู้ที่ดำรงอยู่ในยศตำรวจต้องประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมกับเกียรติศักดิ์ เพื่อมิให้นำความเสื่อมเสียมาสู่หมู่คณะของข้าราชการตำรวจ หากผู้ใดประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมกับเกียรติศักดิ์ไม่ได้ก็ไม่สมควรที่จะดำรงอยู่ในยศตำรวจต่อไป และเมื่อพิจารณาจากพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ มาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ และมาตรา ๒๙ บทบัญญัติของกฎหมายได้ใช้คำว่า "ยศตำรวจชั้นสัญญาบัตร" หรือ "ยศตำรวจชั้นประทวน" โดยมิได้ใช้คำว่า "ยศข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร" และ "ยศข้าราชการตำรวจชั้นประทวน" ทั้งยังบัญญัติเรื่อง "การแต่งตั้งยศตำรวจชั้นสัญญาบัตรเป็นกรณีพิเศษ" ไว้ด้วย กรณีนี้จะเห็นได้ว่ายศตำรวจสามารถให้ได้ทั้งผู้ที่เป็นข้าราชการตำรวจและผู้ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการตำรวจ
สำหรับการถอดยศก็เช่นกันกฎหมายได้บัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการในกรณีดังกล่าวเพื่อคุ้มครองในการใช้ยศตำรวจไม่ว่าจะเป็นข้าราชการตำรวจ หรือข้าราชการตำรวจที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้ว หรือบุคคลภายนอกที่ได้รับการแต่งตั้งยศก็ตาม โดยการแต่งตั้งยศ การถอดหรือการออกจากยศตำรวจ ถือเป็นการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ มาตรา ๖ (๕) และในการนี้มีผลใช้บังคับแก่ผู้มียศตำรวจเท่านั้น ซึ่งไม่ใช้กับบุคคลทั่วไป แต่เป็นไปเฉพาะกลุ่มผู้ดำรงยศตำรวจ จึงไม่จำเป็นต้องนำลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาให้บุคคลทั่วไปได้รับทราบก็มีผลใช้บังคับได้
ฝ่ายที่สอง เห็นว่า พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ เป็นกฎหมายที่ตราขึ้น เพื่อใช้ในการบริหารราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ครอบคลุมทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ โดยมิได้มีบทบัญญัติในการถอดยศหรือการออกจากยศตำรวจสำหรับบุคคลภายนอกที่มียศตำรวจอย่างชัดเจนแต่อย่างใด ทั้งนี้ หากกฎหมายประสงค์จะให้มีผลใช้บังคับกับข้าราชการตำรวจที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้ว หรือประสงค์ให้มีผลใช้บังคับกับบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องก็ควรจะต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน และหากพิจารณาจากระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจฯ ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ ซึ่งกำหนดให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจออกระเบียบหรือทำคำสั่งเฉพาะเรื่องไว้ให้ข้าราชการตำรวจปฏิบัติเท่านั้นไม่ได้รวมถึงบุคคลภายนอกที่มิได้มีสถานภาพของการเป็นข้าราชการตำรวจแล้ว
ดังนั้น ในส่วนที่ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจฯ กำหนดไว้น่าจะเกินจากขอบเขตอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ย่อมไม่มีผลใช้บังคับกับผู้ที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้วและบุคคลภายนอก สำหรับระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจฯ กรณีเกี่ยวกับการนำพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ฝ่ายที่สองเห็นพ้องด้วยกับความเห็นฝ่ายที่หนึ่ง
ในเรื่องนี้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๔ มีมติรับทราบตามที่คณะอนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบเสนอและให้หารือมายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ในกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๑๑ (๔) มาตรา ๒๘ และมาตรา ๒๙ ซึ่งครอบคลุมไปถึงบุคคลภายนอก ได้แก่ ข้าราชการตำรวจที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้ว และบุคคลภายนอกที่ไม่อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ เป็นการใช้อำนาจออกระเบียบเกินขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจหรือไม่ อย่างไร
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๒) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี) และผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นว่า พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๒๖[๑] และมาตรา ๒๗[๒] ได้บัญญัติให้การแต่งตั้งยศตำรวจเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.ตร. โดยการแต่งตั้งยศตำรวจมีสองกรณี กล่าวคือ
กรณีแรก เป็นการแต่งตั้งผู้ที่เป็นข้าราชการตำรวจซึ่งการแต่งตั้งจะต้องสอดคล้องกับชั้นและตำแหน่งที่บรรจุไว้และเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
ส่วนกรณีที่สอง เป็นการแต่งตั้งยศตำรวจเป็นกรณีพิเศษให้แก่บุคคลอื่นที่มิใช่ข้าราชการตำรวจให้มียศตำรวจ และหากเป็นกรณีการแต่งตั้งยศตำรวจชั้นสัญญาบัตรให้ทำโดยประกาศพระบรมราชโองการ
ดังนั้น ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งยศตำรวจจึงอาจเป็นได้ทั้งข้าราชการตำรวจหรือบุคคลอื่น โดยผู้ได้รับแต่งตั้งยศตำรวจทุกนายแม้ว่าจะพ้นจากราชการไปแล้วก็ยังสามารถใช้ยศตำรวจต่อไปได้ จนกว่าจะถูกถอดออกจากยศ ซึ่งการถอดยศตำรวจนั้น มาตรา ๒๘[๓] แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ บัญญัติให้การถอดหรือการออกจากยศตำรวจชั้นสัญญาบัตรเป็นไปตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้ทำโดยประกาศพระบรมราชโองการ จึงเห็นได้ว่าการถอดหรือการออกจากยศตำรวจเป็นการดำเนินการให้ผู้ที่ยังใช้ยศตำรวจอยู่ไม่มีสิทธิใช้ยศตำรวจอีกต่อไป ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นข้าราชการตำรวจหรือไม่ก็ตาม
สำหรับปัญหาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติหารือมาว่า กรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๑๑ (๔)[๔] มาตรา ๒๘[๕] และมาตรา ๒๙[๖] ให้ครอบคลุมไปถึงบุคคลภายนอก ได้แก่ ข้าราชการตำรวจที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้ว และบุคคลภายนอกที่ไม่อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ เป็นการใช้อำนาจออกระเบียบเกินขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจหรือไม่ อย่างไร นั้น
เห็นว่า การออกระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นการกำหนดขั้นตอน วิธีการให้ข้าราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีหน้าที่ปฏิบัติ เช่น กองวินัยหรือกองกำลังพล ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งถือเป็นการกำหนดกระบวนการที่ใช้ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติก่อนที่จะส่งเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติดังกล่าวก็สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติเดิมที่เคยดำเนินการตามข้อบังคับที่ ๔/๒๔๙๙ เรื่อง วางระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ตามพระราชบัญญัติยศตำรวจ พุทธศักราช ๒๔๘๐ ต่อมาเมื่อได้ยกเลิกกฎหมายว่าด้วยยศตำรวจ และใช้พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ แทน จึงมีการออกระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๗ ขึ้นใช้แทน ดังนั้น การดำเนินการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงไม่ถือเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนด
(นายอัชพร จารุจินดา) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามิถุนายน ๒๕๕๔
เชิงอรรถ
[๑] มาตรา ๒๖ การแต่งตั้งยศตำรวจชั้นสัญญาบัตร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.ตร. และให้ทำโดยประกาศพระบรมราชโองการ
การแต่งตั้งยศตำรวจชั้นสัญญาบัตรเป็นกรณีพิเศษ อาจกระทำได้โดยประกาศพระบรมราชโองการ
ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งยศตำรวจชั้นสัญญาบัตรจะแต่งตั้งว่าที่ยศตำรวจชั้นสัญญาบัตรเป็นการชั่วคราวก็ได้ โดยให้ผู้มีอำนาจดังต่อไปนี้ เป็นผู้สั่งแต่งตั้ง
(๑) ตั้งแต่ว่าที่ยศพลตำรวจตรีขึ้นไป ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้สั่งแต่งตั้ง
(๒) ตั้งแต่ว่าที่ยศร้อยตำรวจตรีขึ้นไป แต่ไม่สูงกว่าว่าที่ยศพันตำรวจเอก ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้สั่งแต่งตั้ง
[๒] มาตรา ๒๗ การแต่งตั้งยศตำรวจชั้นประทวน ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้บังคับบัญชาระดับผู้บัญชาการขึ้นไปซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้สั่งแต่งตั้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.ตร.
การแต่งตั้งยศตำรวจชั้นประทวนเป็นกรณีพิเศษ ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้สั่งแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.ตร.
[๓] มาตรา ๒๘ การถอดหรือการออกจากยศตำรวจชั้นสัญญาบัตร ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้ทำโดยประกาศพระบรมราชโองการ
[๔] มาตรา ๑๑ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นหัวหน้าส่วนราชการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
ฯลฯ ฯลฯ
(๔) วางระเบียบหรือทำคำสั่งเฉพาะเรื่องไว้ให้ข้าราชการตำรวจหรือพนักงานสอบสวนปฏิบัติการเกี่ยวกับการใช้อำนาจหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่น
[๕] โปรดดูเชิงอรรถที่ ๓, ข้างต้น
[๖] มาตรา ๒๙ การให้ออกจากว่าที่ยศตำรวจชั้นสัญญาบัตรหรือการถอดหรือการออกจากยศตำรวจชั้นประทวน ให้ผู้มีอำนาจสั่งตามมาตรา ๒๖ วรรคสาม หรือมาตรา ๒๗ แล้วแต่กรณี สั่งได้ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Google