กมธ.ยกร่างฯเคาะ! รธน.ใหม่ 3 ปีแรกให้ ครม.สรรหา ส.ว. 123 คน
กมธ.ยกร่างฯ เคาะแล้ว! รธน.ใหม่ 3 ปีแรก ให้ ครม. สรรหา ส.ว. 123 คน เหตุอยู่ระหว่าง "เปลี่ยนผ่าน" ต้องทำเรื่องปฏิรูป-ปรองดอง ให้สอดคล้องรัฐบาล-กก.ยุทธศาสตร์ฯ-สภาขับเคลื่อนฯ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2558 มีการประชุมของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อทบทวนบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญที่ค้างการพิจารณาในส่วนที่เหลือ ได้แก่ ที่มาของ ส.ว. และในส่วนโครงสร้างคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองแห่งชาติ
แหล่งข่าวจาก กมธ.ยกร่างฯ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ถึงกรณีการพิจารณาที่มาของ ส.ว. ว่า มี กมธ.ยกร่างฯ สายทหาร รายหนึ่ง ได้ผลักดันแนวทางให้มี ส.ว.สรรหา 200 คน โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้แต่งตั้งครั้งแรกโดยให้ ส.ว.ชุดแรกนี้มีอายุ 3 ปี
ส่วนโครงสร้างคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯนั้น แหล่งข่าว กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ สายทหารบางรายได้ผลักดันให้หัวหน้า คสช. (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯด้วย ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมองว่า เป็นการสืบทอดอำนาจของ คสช. หรือไม่
ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 15.45 น. พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงผลการประชุมของ กมธ.ยกร่างฯ ในส่วนที่มาของ ส.ว. ว่า ในร่างรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้มาตรา 118 ในส่วนที่มาของ ส.ว. กำหนดให้มี ส.ว. ทั้งหมด 200 คน โดยมาจากการเลือกตั้ง 77 คน และสรรหา 123 คน โดยในช่วง 3 ปีแรก กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการเลือกตั้ง ส.ว. จังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน และให้คณะรัฐมนตรีในชุดที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา เพื่อสรรหา ส.ว. จำนวน 123 คน ซึ่งเหตุผลที่ในช่วง 3 ปีแรกต้องให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. นั้น เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ประกอบด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นด้านการปฏิรูป หรือการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ดังนั้นเพื่อให้การทำงานสอดคล้องกัน จึงให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ไม่มีบทบัญญัติห้ามไม่ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็น ส.ว. ในชุดที่คณะรัฐมนตรีสรรหาด้วย โดยหลังจากพ้น 3 ปีไปแล้ว ก็จะเป็นการเลือกตั้ง และสรรหาตามปกติ โดยในส่วนของการสรรหาก็จะมีการตั้งคณะกรรมการสรรหา 4 คณะ ซึ่งในส่วนนี้ กมธ.ยกร่างฯ ได้แก้ไขให้ไปบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการสรรหา ส.ว. แทน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแนวทางที่มาของ ส.ว. ที่ผ่านมา มีอยู่ 2 แนวทาง ได้แก่ 1.คงหลักการเดิมคือให้มี ส.ว.เลือกตั้ง 77 คน และ ส.ว.สรรหา 123 คน 2.ให้เป็น ส.ว.สรรหาทั้งหมด
ส่วนโครงสร้างคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ในคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐมนตรี ระบุว่า มีคณะกรรมการทั้งหมด 20-23 คน มีที่มา 3 ส่วน คือ 1.มาจากประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) 2.มาจากผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา และ 3.มาจากผู้ทรงคุณวุฒิการปฏิรูปด้านต่าง ๆ และการสร้างความปรองดอง
โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปโดยการเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปฏิรูปต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในด้านต่างๆ ตามที่กำหนดในหมวดนี้ ส่วนการปฏิรูปในด้านอื่นซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในหมวดนี้ให้กระทำได้ตามข้อเสนอของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติโดยความเห็นชอบของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
อ่านประกอบ : สะพัด!ทหารดันรธน.ใหม่ให้ ส.ว.สรรหาหมด คสช.ตั้งลอตแรก-'ไพบูลย์'รับมี2แนวคิด