ฟังคำตอบ "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" เมื่อถูกถามถึงข่าวเล็งเลือกตั้งผู้ว่าฯชายแดนใต้
นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยืนยันว่าเขาไม่เคยเสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเป็นกลไกการปกครองแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้งในดินแดนปลายสุดด้ามขวานตามที่ปรากฏเป็นข่าว
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันพุธที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้เข้าพบ นายยงยุทธ เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการจัดตั้งองค์กรบริหารใหม่เพื่อบูรณาการการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมีการมอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นหน่วยงานหลักในลักษณะเจ้าภาพ และให้แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทุกหน่วยงานในระดับพื้นที่ตามโครงสร้าง "คณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" หรือ กบชต. พร้อมทั้งให้ ศอ.บต.ตั้ง "ศอ.บต.ส่วนแยก" มาอยู่ในโครงสร้างนี้
ภายหลังการเข้าพบและหารือกับนายยงยุทธ มีสมาชิก สปต.บางรายให้ข่าวทำนองว่า นายยงยุทธเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาจากการเลือกตั้ง ให้ผู้ว่าฯจากการแต่งตั้งในระบบปัจจุบันเป็นมุขมนตรี และจะเพิ่มอำนาจให้ สปต.ไม่ให้มีอำนาจหน้าที่แค่ให้คำปรึกษาอย่างเดียว ซึ่งสร้างความพอใจให้กับสมาชิก สปต.กลุ่มดังกล่าวเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม นายยงยุทธ ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ “ทีมข่าวอิศรา” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ต.ค.โดยปฏิเสธข่าวที่ออกมา และยืนยันว่ากระทรวงมหาดไทยไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องนี้
“ไม่ใช่ครับ เป็นการพูดในหลักการ คือหลักการของเราต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการปกครองมากขึ้น เพราะตรงนั้นเป็นพื้นที่พิเศษ มีพี่น้องมุสลิมเยอะ ก็ต้องไปคิดดูว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ผมไม่ได้พูดถึงรูปแบบ”
“รูปแบบผมจะไปพูดได้อย่างไร เพราะกระทรวงมหาดไทยไม่ได้เกี่ยว แต่รูปแบบนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องไปตกลงกัน รูปแบบจะบอกได้ก็ต่อเมื่อมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ม.อ.ปัตตานี (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี) นักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ส.ส. นักการเมืองท้องถิ่นทั้งหมดจะประชุมตกลงกัน ผมพูดในสภาก็พูดแบบนี้ตอนแถลงนโยบาย ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ไม่มีใครว่า ฝ่ายค้านก็ไม่ได้ว่า” นายยงยุทธ กล่าว
เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่าไม่ได้พูดเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ กับสมาชิก สปต.ใช่หรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวทันทีว่า อันนั้นเป็นแค่รูปแบบซึ่งต้องไปตกลงกัน แต่หลักการคือเราต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการปกครองมากขึ้น
เมื่อซักว่า แต่มีข่าวจากทางสมาชิก สปต.บางคนว่าท่านเสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายยงยุทธ กล่าวว่า “ผมจะไปเสนออย่างนั้นได้อย่างไร เพราะเป็นเรื่องของหลายฝ่าย แล้วยังมีฝ่ายความมั่นคงอีก เขาจะว่าอย่างไร ฉะนั้นต้องจับประเด็นให้ถูก ทุกวันนี้ไม่ค่อยอยากพูดอะไร เพราะพูดแล้วเหนื่อยต้องไปตามชี้แจง”
ต่อข้อถามว่า ตามข่าวบอกว่าจะเลือกตั้งผู้ว่าฯสามจังหวัด แล้วให้ผู้ว่าฯเดิมเป็นมุขมนตรี นายยงยุทธ กล่าวว่า อันนั้นเป็นเรื่องที่คุยกันเฉยๆ ขอให้จับประเด็นให้ถูก นักข่าวต้องจับประเด็นให้ถูก
เมื่อถามว่าแสดงว่ายังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องรูปแบบ นายยงยุทธ กล่าวว่า ไม่มี จะสรุปได้ก็ต่อเมื่อนักวิชาการ ผู้นำท้องถิ่น มหาวิทยาลัย นักการเมืองในพื้นที่ ผู้นำชุมชน และตัวแทนประชาชนจะตกลงกัน เรื่องนี้ก็ต้องว่ากันไป กระทรวงมหาดไทยไม่ได้เกี่ยวข้อง
ฟังเสียงชาวบ้าน “หนุน-ค้าน” ทหารคุมดับไฟใต้
ด้านความคืบหน้าการจัดตั้งองค์กรบริหารใหม่ของรัฐบาลเพื่อบูรณาการการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะให้มีคณะกรรมการบริหาร หรือ “บอร์ด” ใน 2 ระดับ ได้แก่ “บอร์ดระดับนโยบาย” ใช้ชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ นชต. มีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเป็นประธาน กับ “บอร์ดระดับพื้นที่” ใช้ชื่อว่า คณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กบชต. มีแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) เป็นประธานนั้น
“ทีมข่าวอิศรา” ได้สำรวจความเห็นของคนในพื้นที่ พบว่ามีทั้งสนับสนุนและคัดค้านโครงสร้างองค์กรดังกล่าว
เห็นด้วยเพิ่มอำนาจทหารลุยงานพัฒนา-เข้าถึงพื้นที่
นายอับดุลเลาะ มะ อิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกาสัง ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา กล่าวว่า การที่ทหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จถือว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสียในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่หวาดระแวงแบบนี้ โดยเฉพาะการสร้างความเข้าถึงและเข้าใจ
“ที่ผ่านมาเมื่อทหารมีความใกล้ชิดกับชาวบ้าน ก็สามารถเข้ามาพัฒนาพื้นที่ได้หลายอย่าง เช่น ซ่อมแซมมัสยิด สร้างรั้วชุมชน ทั้งชาวบ้านกับทหารก็ร่วมมือกัน ทำให้เกิดความเข้าใจกัน จะเห็นได้ว่าพื้นที่ไหนที่มีทหารเข้าไปพัฒนา จะทำให้ทหารสามารถเข้าถึงชาวบ้านและส่งผลต่อยุทธศาสตร์เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ซึ่งจะบรรลุเป้าผล จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้เวลาทหารบางหน่วยจะย้ายออกจากพื้นที่ ก็จะมีเสียงโวยวายจากชาวบ้านเพราะไม่ต้องการให้ทหารย้ายออก”
นายอับดุลเลาะ กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่มีกฎหมาย ศอ.บต.ออกมา (หมายถึงพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553) ทำให้อำนาจไปอยู่ที่ ศอ.บต.โดยเฉพาะเรื่องงานพัฒนา ทำให้ทหารต้องลดบทบาทลงไป ปรากฏว่างานพัฒนาน้อยลง เมื่องานพัฒนาน้อย ก็ไม่มีช่องทางที่จะทำให้ทหารเข้าถึงชาวบ้านได้ จึงมองว่าโครงสร้างใหม่ที่จะทำให้ทหารมีอำนาจเพิ่ม เป็นเรื่องดีกับทหารและชาวบ้านเอง
นายแวโซะ แวนาแว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 บ้านกาแลกูโบ ต.น้ำดำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี กล่าวทำนองเดียวกันว่า หลังจากที่ ศอ.บต. มีอำนาจมากขึ้น ปรากฏว่างานพัฒนากระจุกอยู่แค่บางกลุ่มบางพื้นที่ ไม่กระจายเหมือนตอนที่ทหารทำ คนที่ได้ประโยชน์ก็จะได้ตลอด ส่วนคนที่ไม่ได้ก็ไม่ได้อยู่อย่างนั้น บางพื้นที่ก็เห็นๆ อยู่ว่าได้งบประมาณจากแหล่งโน้นแหล่งนี้มา แต่บางพื้นที่กลับแห้งเหี่ยว ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะงานพัฒนาเข้าไม่ถึง ไม่รู้เป็นเพราะอะไร แต่เป็นแบบนี้มาตลอด
“ผมจึงคิดว่าถ้ามีศูนย์หรือคณะกรรมการมาควบคุมในระดับนโยบายอีกชั้นหนึ่ง อาจทำให้การแก้ปัญหาในพื้นที่ดีขึ้น มีการกระจายโครงการพัฒนา ไม่กระจุกหรือเล่นพรรคเล่นพวกอย่างที่ผ่านมา” นายแวโซะ กล่าว
ต้าน "สีเขียว" คุมเบ็ดเสร็จ-อย่ามัดมือชกประชาชน
นายบรรเจิด สกุลดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส กล่าวว่า ทันทีที่ได้ทราบข่าวว่ารัฐบาลกำลังจัดตั้งองค์กรใหม่โดยให้ กอ.รมน.หรือทหารเป็นเจ้าภาพหลัก และลดบทบาทของ ศอ.บต.ลงก็รู้สึกต่อต้านทันที เพราะเหมือนเป็นการเทอำนาจให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งมีการยกระดับ ศอ.บต.ขึ้นมาแล้ว เปรียบเหมือนเป็นสีน้ำตาล แต่องค์กรบริหารใหม่นี้เหมือนจะให้ “สีเขียว” กลับมามีอำนาจ ส่วนฝ่ายปกครองกลับไม่มีงานไหนให้ทำเลย
“งานในพื้นที่สามจังหวัดถ้าให้สามฝ่ายมาคุมและถ่วงดุลกันจะเกิดสันติสุข แต่ถ้าให้หน่วยใดหน่วยหนึ่งมีอำนาจจะทำให้เกิดจุดบอด ที่ผ่านมาสามจังหวัดก็เป็นจุดบอดอยู่แล้ว มาทำแบบนี้อีกเหมือนมัดมือชกประชาชน” นายบรรเจิด กล่าว
บ่น "งาน-งบ" ถึงมือชาวบ้านน้อย
น.ส.ยูในดะห์ อายีบากา ชาวบ้าน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี บอกว่า คิดไว้อยู่แล้วว่ารัฐบาลชุดนี้เข้ามาจะไม่ได้มาแก้ปัญหาอะไรมากกว่าปัญหาของพรรคพวกตัวเอง ซึ่งถ้ามองภาพรวมยังไม่เคยเห็นรัฐบาลชุดไหนมีความจริงใจจริงจังในการทำงาน มีแต่มาด้วยความไม่จริงใจและไม่จริงจังกันทั้งนั้น อย่างรัฐบาลชุดนี้เข้ามาไม่นานก็พูดโกหกหลายเรื่อง
กระนั้นก็ตาม ชาวบ้านจากยะหริ่งรายนี้ เห็นว่า หากกระจายงานพัฒนาให้ทหารมีบทบาทมากขึ้นจะดีกับพื้นที่มากกว่า เพราะช่วงที่ผ่านมาที่ ศอ.บต.ดูแล ปรากฏว่างานพัฒนาและงบประมาณถึงมือชาวบ้านน้อยมาก โดยเฉพาะถ้าเทียบกับตอนที่ทหารทำ ชาวบ้านได้รับจริงๆ เยอะกว่า
น.ส.แมะซง อาบะ หัวหน้ากลุ่มสตรีบ้านดอน อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กล่าวว่า ส่วนตัวไม่สนใจอะไรทั้งนั้น ไม่ว่าใครจะมาทำอะไร เพราะสุดท้ายพวกที่มาก็ได้รับประโยชน์ ส่วนชาวบ้านก็ไม่ได้อะไรเหมือนเดิม และไม่ว่าจะตั้งศูนย์อะไรมาก็เพื่อผลประโยชน์ของภาครัฐเอง ไม่เคยนึกถึงชาวบ้าน
“หน่วยงานรัฐทำงานเหมือนเอาผักชีมาโรยหน้า ทำแค่นั้นแล้วก็ไป ได้ผลงานก็ออกสื่อ ทำอะไรนิดอะไรหน่อยก็ถ่ายภาพเพื่อเบิกเงิน ขอตำแหน่ง น่าเบื่อ ทำให้ไม่อยากคิดอะไรกับปัญหาบ้านเมือง ใครจะเป็นอย่างไร จะทำอะไรก็ช่างเขา ขอแค่ขายของเลี้ยงตัวเองไปวันๆ ก็พอ ทุกวันนี้ของแพงเราก็ต้องกิน ต้องซื้อ มันไม่มีทางเลือก ขายของไม่ได้เราก็อด แค่นั้นเอง ไปนั่งคุยกับใครเขาก็พูดแบบนี้ เบื่อที่จะรอ เบื่อที่จะตั้งความหวังกับรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะสุดท้ายไม่มีใครช่วยเราได้นอกจากตัวเราเอง” น.ส.แมะซง กล่าว
เป็นคำบอกเล่าจากความรู้สึกจริงๆ ของชาวบ้านที่หน่วยราชการพึงพิจารณา!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ จากศูนย์ภาพเนชั่น