เครือข่ายคนทำงานฯ จี้ทบทวน กม.ลูกประกันสังคม-เลิกตัดสิทธิ ‘แจ๋ว’ เข้า ม. 33
เครือข่ายคนทำงานประกันสังคมซัดกฎหมายลูก พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับใหม่ ลิดรอนสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน ‘อรุณี ศรีโต’ เผยแจ๋วถูกตัดสิทธิเข้ามาตรา 33 ผู้ประกันตนมาตรา 40 ยังได้รับความเหลื่อมล้ำ เตรียมเเถลง 25 ปี ประกันสังคมอิสระ 24 ส.ค. 58
วันที่ 11 สิงหาคม 2558 เครือข่ายคนทำงานประกันสังคม (คปค) แถลงข่าวเรื่อง ‘แก้ทั้งที ไม่ได้ดีอย่างที่คิด’ เกี่ยวกับความก้าวหน้า ผลการจัดทำอนุบัญญัติ/กฎหมายประกอบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ณ โรงแรมกานต์มณี ถนนประดิพัทธ์ กรุงเทพฯ
นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายคนทำงานประกันสังคม (คปค.) กล่าวว่า ภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านการพิจารณาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2558 และจะมีผลบังคับใช้วันที่ 20 ตุลาคม 2558 โดยมีทั้งหมด 46 มาตรา ซึ่งมุ่งเน้นการเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนและปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการองค์กร
ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม (สปส.)มีหน้าที่จัดทำอนุบัญญัติ หรือกฎหมายลูก 17 ฉบับ ได้แก่ พระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ กฎกระทรวง 3 ฉบับ ระเบียบกระทรวง 4 ฉบับ ระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม 1 ฉบับ ระเบียบคณะกรรมการการแพทย์ 2 ฉบับ ระเบียบสำนักงานประกันสังคม 1 ฉบับ และประกาศสำนักงานประกันสังคม 4 ฉบับ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างฯ ขึ้น 2 คณะ พิจารณา
ประธาน คปค. ยังระบุว่า ภายหลังการประชุมร่วมกัน 2 เดือนที่ผ่านมา การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างฯ พบส่วนใหญ่สรรหาจากตำแหน่งผู้อำนวยการแต่ละส่วนงานของสำนักงานประกันสังคม ไม่มีผู้แทนจากผู้ประกันตนในสัดส่วนที่เท่าเทียม ทำให้การลงมติมีสิทธิแพ้ได้ เพราะเสียงจากหน่วยงานรัฐมากกว่า ประกอบกับอนุบัญญัติบางฉบับยังลิดรอนสิทธิของผู้ประกันตนด้วย
ด้านน.ส.อรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายบำนาญภาคประชาชน (คบช.) ในฐานะผู้แทนแรงงานนอกระบบและคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุบัญญัติยกตัวอย่างการลิดรอนสิทธิผู้ประกันตน โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้าน ซึ่งในชั้นอนุบัญญัติมีการตัดสิทธิการเข้ามาตรา 33 เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมยังขาดความพร้อม ทั้งที่ปัจจุบันมีแม่บ้านเฉพาะกรุงเทพฯ เกือบ 2 ล้านคน แต่ทุกครั้งที่ทวงถามความคืบหน้ามักได้รับคำตอบให้กลับมาดูใหม่
“บรรยากาศการพิจารณาอนุบัญญัติไม่ราบรื่น เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ประกอบกับผู้แทนฝ่ายลูกจ้างไม่เข้าใจทิศทางการดำเนินงานของเครือข่าย ทำให้เกิดการขัดคอกันเองด้วย” ประธาน คบช. กล่าว และว่า แทนที่จะเห็นใจผู้ใช้แรงงานนอกระบบ มาตรา 40 เพราะได้รับสิทธิประโยชน์น้อยที่สุด ทำให้การประชุมทุกครั้งไม่มีการโหวต เพราะอย่างไรก็แพ้ อีกอย่างฝ่ายราชการได้สงวนท่าทีและมีคำตอบในใจแล้ว
กรณีผู้ประกันตนมาตรา 40 น.ส.อรุณี ยังกล่าวว่า มีสิทธิประโยชน์บางประการที่ยังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ เช่น ผู้ประกันตนได้รับค่าทำศพเพียง 2 หมื่นบาท แตกต่างจากมาตรา 33 และ 39 ได้ค่าทำศพ 4 หมื่นบาท จึงขอปรับขึ้นให้เท่ากันได้หรือไม่ นอกจากนี้เกี่ยวกับค่าชดเชยรายได้เวลาป่วย ผู้ประกันตนจะได้รับ 200 บาท ต่อเมื่อนอนโรงพยาบาลเท่านั้น และแม้จะนำเสนอบอร์ดเมื่อ 14 กรกฎาคม 2558 มีมติเปลี่ยนแปลงให้มีใบรับรองแพทย์ 3 วัน แทนนอนโรงพยาบาล ก็จะได้รับ แต่ขอเป็น 300 บาท ตามค่าแรงขั้นต่ำได้หรือไม่
ขณะที่นายบัณฑิต แป้นวิเศษ ผู้แทนองค์กรทำงานแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า กรณีอนุกรรมการฝ่ายผู้ใช้แรงงานมีสัดส่วนน้อย ทำให้เจตนารมณ์และหลักการปฏิรูปประกันสังคมไม่เป็นไปตามที่ผู้ใช้แรงงานต้องการ ดังเช่นสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนผู้ใช้แรงงานข้ามชาติในไทย 8 หมื่น- 1 แสนคน กฎหมายฉบับดังกล่าวให้สิทธิประโยชน์ไว้ในมาตรา 77 ทวิ วรรคสาม สามารถแจ้งประกันสังคมเพื่อรับเงินบำเหน็จชราภาพกลับประเทศได้ ไม่ว่าจะทำงานครบตามกำหนดหรือไม่ แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการ คือ ต้องทำข้อตกลงแรงงานกับประเทศต้นทางอาจทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงสิทธิอย่างเต็มที่
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันที่ 24 กรกฎาคม 2558 เวลา 10.00 น.คปค.เตรียมแถลงข่าวจัดงาน 25 ปี ประกันสังคมต้องเป็นอิสระ ณ ลานน้ำพุ กระทรวงแรงงานด้วย .