'ประยงค์ ดอกลำไย' ชี้ทุกคนมีส่วนทำลายป่า เลิกโทษชาวไร่ข้าวโพดเป็นต้นเหตุ
หัวหน้าพรรคทวงคืนผืนป่าฯ ซัดรัฐไม่กล้าจับกุมผู้บุกรุกทำกินป่าอนุรักษ์ เหตุกระทบฐานเสียงเลือกตั้ง เชื่อใช้มาตรา 44 จัดการ ห้ามกระทบคนจน ยกโครงการพัฒนาดอยตุงต้นแบบคนอยู่กับป่ายั่งยืน ด้าน ‘ประยงค์ ดอกลำไย’ ชี้ทุกคนเป็นผู้ทำลายป่า เลิกโทษเกษตรกรปลูกข้าวโพด-ยางพารา เผยต้องมองครบห่วงโซ่อาหาร
วันที่ 9 สิงหาคม 2558 Root Garden จัดเสวนา คน-ป่า เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ณ Root Garden ทองหล่อ ซอย 3 กรุงเทพฯ
นายดำรง พิเดช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และหัวหน้าพรรคทวงคืนผืนป่าประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนราว 10 ล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า ซึ่งรัฐบาลได้ผ่อนผันการจับกุมมาตลอดตั้งแต่ปี 2518 กระทั่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ 30 มิถุนายน 2541 ให้พิสูจน์สิทธิอาศัยอยู่ก่อนหรือหลังประกาศพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งหากพบอาศัยอยู่ในพื้นที่ล่อแหลมต้องอพยพมาในพื้นที่เหมาะสม โดยภาครัฐต้องดูแลและชดเชยให้ ส่วนพื้นที่ไม่ล่อแหลมก็ต้องกำหนดขอบเขตควบคุม
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากลับพบว่า ฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งไม่กล้าดำเนินการเรื่องดังกล่าว เพราะกลัวจะเสียฐานคะแนนเสียง จึงเลือกผ่อนผันให้ทำกินจนถึงปัจจุบัน ทำให้ป่าถูกบุกรุก โดยมีการอาศัยในพื้นที่ล่อแหลม 4 เเสนครัวเรือน และไม่ล่อแหลม 9 แสนครัวเรือน ทั้งนี้ ปัจจุบันยังดำเนินการไม่ได้ แม้กระทั่งกรมป่าไม้มีลูกจ้างพิทักษ์ป่าเพียง 4,000 คน ดูแลป่า 2 หมื่นไร่/คน ไม่มีทางเป็นไปได้ ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีเจ้าหน้าที่จำนวนมาก แต่ไม่ออกคำสั่งพิทักษ์ป่า
สมาชิก สปช. ยังกล่าวเห็นด้วยกับนโยบายโฉนดชุมชน แต่ควรทำในพื้นที่ราชพัสดุหรือ สปก. ห้ามทำในพื้นที่อนุรักษ์ พร้อมระบุวันนี้มีที่ดิน สปก.คืนมาราว 30 ล้านไร่ และเปลี่ยนมือไปอยู่กับนายทุนไม่ต่ำกว่า 12-15 ล้านไร่ ซึ่งเป็นโอกาสดีหากจะใช้มาตรา 44 จัดการ ขึ้นอยู่กับว่าจะทำหรือไม่ ทั้งนี้ ก่อนหน้าเคยแนะนำให้ออกมาตรการเรียกคืนที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิสำหรับผู้ครอบครองเกิน 100 ไร่ ภายใน 90 วัน มิฉะนั้นจะดำเนินการตามกฎหมายและยึดทรัพย์ แต่ไม่ควรต่ำกว่า 25 ไร่ มิฉะนั้นจะกระทบคนจน เชื่อจะเป็นทางออกแก้ปัญหาคนไม่มีที่ดินทำกิน แต่ไม่ควรออกกฎหมาย สปก.ฉบับใหม่ เพื่อให้สิทธิจัดตั้งรีสอร์ทหรือโรงแรม
“คนสามารถอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน ดังเช่น โครงการพัฒนาดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นับว่าประสบความสำเร็จจัดการคนอยู่กับป่า โดยชนเผ่าต่าง ๆ จากเดิมปลูกฝิ่น ปัจจุบันหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจ มีระบบจัดการต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ทำให้ไม่มีการโค่นต้นไม้ เนื่องจากมีคณะกรรมการกลางคอยกำหนดกติกา แต่ก็มีหลายพื้นที่ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ เพราะรัฐให้สิทธิที่ดินทำกินแก่ชนกลุ่มน้อยสมัยสู้รบ ทำให้ปัจจุบันมีการโค่นต้นไม้กันมาก” นายดำรง กล่าว
ด้านนายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ ระบุว่า ไม่มีแผ่นดินใดในโลกไม่เคยมีป่า แต่ป่าหายไปเพราะมีคนเข้ามา และปฏิเสธไม่ได้ว่า คนตัดไม้ คือ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด แต่คนทำลายป่าคือเราทุกคน เพราะการตัดไม้ปลูกข้าวโพดเพื่อนำมาทำอาหารเลี้ยงไก่ 1 ตัว เท่ากับใช้พื้นที่ปลูก 10 ตร.ม. เพราะฉะนั้นกินไก่ 1 ตัว เท่ากับทำลายป่า 10 ตร.ม. เฉพาะ จ.น่าน เรามีส่วนทำลายอย่างน้อย 3 ตร.ม. ดังนั้นต้องมองให้สุดห่วงโซ่อาหารว่า คนไทยมีส่วนในการทำลายป่า จึงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
ทั้งนี้ ไม่เห็นด้วยกับการปล่อยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหรือยางพาราตกเป็นจำเลยของสังคมเพียงลำพัง ทั้งที่ป่าหายไปเกิดจากความไม่เป็นธรรมในการกระจายการถือครองที่ดิน ซึ่งที่ดินมีเอกสารสิทธิกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนเพียง 3 ล้านคนเท่านั้น โดยคนที่มีที่ดินมากที่สุดอยู่ที่ 6.3 แสนไร่ ดังนั้น หากไม่มีการกระจายถือครองที่ดิน ปล่อยให้เกิดการกระจุกตัวไปเรื่อย ๆ ก็จะรักษาป่าไม่ได้ และอนาคตต่อให้นำคนอาศัยในพื้นที่ป่า 10 ล้านคน มาประหารชีวิตก็ไม่แก้ปัญหา เพราะจะมีคนอีก 10 ล้านคน กลุ่มใหม่เข้าไปอาศัยอยู่อีก .