แกนนำองค์กรชุมชนสุโขทัย ชึ้ภูมิปัญญาไทยอยู่ร่วมกับธรรมชาติ รับมือภัยพิบัติ
ประธานองค์กรชุมชนสุโขทัย เปิดเผยประสบการณ์คนท้องถิ่นไทยอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุล เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติตลอดเวลา ชี้คนสมัยก่อนสร้างบ้านเลือกทำเล ตรวจเส้นทางน้ำ ทำใต้ถุนสูง มีอาชีพเหมาะกับระบบนิเวศน์
นายสมศักดิ์ คำทองคง ประธานองค์กรชุมชนจังหวัดสุโขทัย เปิดเผยถึงประสบการณ์ชุมชนที่ปรับตัวอยู่ร่วมกับน้ำ และดึงเอาภูมิปัญญาคนไทยสมัยก่อนมารับมือภัยพิบัติธรรมชาติว่า คนสุโขทัยมีวิถีชีวิตเรียบง่าย แต่เตรียมตัวรับสถานการณ์น้ำท่วมตลอดเวลา บ้านเรือนส่วนใหญ่จึงสร้างใต้ถุนสูงให้น้ำสามารถลอดพื้นบ้านได้ และเตรียมเรือขุดโบราณไว้ยามน้ำหลาก แต่ช่วงที่ผ่านมาก็มีคนเดือดร้อนพอสมควรคือกลุ่มคนสมัยใหม่ที่สร้างบ้านทรงฝรั่งสวยงาม ไม่เลือกทำเล และไม่ได้ตรวจเส้นทางน้ำ คนสุโขทัยได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่ผ่านมา
“ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว คำนี้ยังใช้ได้กับคนสุโขทัยเสมอ บรรพบุรุษเลือกแล้วว่าดีที่สุด พวกเราต้องช่วยกันรักษาแผ่นดิน อย่าวทำร้ายธรรมชาติ อย่าคิดจะเปลี่ยนแปลงลุ่มน้ำยมให้มันฝืนกับความเป็นจริงโดยเด็ดขาด บทเรียนกำลังสอนมนุษย์อยู่ให้เห็นแล้วเต็มตา”
นายสมศักดิ์ ยังกล่าวว่าชาวบ้านจะต้องรู้ว่าช่วงไหนน้ำจะต้องมา ช่วงไหนน้ำจะท่วม จึงต้องเตรียมความพร้อมกันล่วงหน้า ซึ่งจังหวัดสุโขทัยรับน้ำมาจาก 2 จังหวัด คือแม่น้ำวัง ลำปาง และแม่น้ำยม แพร่ หากระดับน้ำที่จังหวัดแพร่เพิ่มขึ้นสูงมาก ก็จะมีรถโมบายของทางอำเภอออกประกาศเตือน ชาวบ้านใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาคำนวนระเวลาการเดินทางของน้ำจากแพร่ถึงสุโขทัยประมาณ 3–4 วั น คนปลายน้ำเตรียมย้ายของขึ้นที่สูง
ประธานองค์กรชุมชนจังหวัดสุโขทัย กล่าวอีกว่าพื้นที่สุโขทัยตอนบนส่วนใหญ่เป็นสวนผลไม้ ส่วนทางตอนใต้ของจังหวัดเป็นพื้นที่น้ำท่วมขังระยะยาว ชาวบ้านจึงปรับวิถีชีวิตมาเลี้ยงปลาในกระชังซึ่งได้ผลผลิตทุก 3 เดือน สำหรับที่นาในฤดูน้ำหลากน้ำจะเข้าพื้นที่นาทั้งหมด ชาวนาจึงยังไม่ทำนากันในช่วงนี้ แต่จะทำหลังน้ำลดแล้ว แต่ในช่วงที่น้ำเข้านาก็จะกักปลาธรรมชาติไว้ในที่นาไม่ให้กลับแม่น้ำ โดยทำเป็นคลองซอยในที่นาข้าว ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยจากการเลี้ยงปลาถึง 100,000 บาท/คลองซอย ในยามน้ำแล้งคนสุโขทัยโชคดีมีน้ำใต้ดินที่ประชาชนช่วยกันขุดเจาะขึ้นมาโดยใช้แรงคนไม่ได้ใช้เครื่องจักรแต่อย่างใด .