‘ดร.นวลน้อย’ ชี้เหตุรัฐไม่กล้าเปลี่ยนขายสลากผ่านตู้ เสี่ยงผู้ค้าเป็นแสนตกงาน
ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันชี้ 20 ปี ไทยขายสลากฯ เกินราคา พบกำไรส่วนเกินปีละ 2.2 หมื่นล้านบาท ผู้ค้าคนกลางรับเหนาะ ๆ ปีละ 1.4 หมื่นล้านบาท ยัน รบ.ใช้มาตรา 44 แก้ได้เฉพาะระยะสั้น ช่วยราคาลด แนะเร่งปรับโครงสร้างถึงมือรายย่อยมากขึ้น อนาคตเชื่อต้องเดินไปสู่การขายผ่านตู้
วันที่ 7 สิงหาคม 2558 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการเนื่องในวันรพี เรื่อง สังคมไทยกับการพนัน:สถานการณ์หลังมาตรการบังคับราคาสลาก ณ ห้องสุรเกียรติ เสถียรไทย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สลากกินแบ่งรัฐบาลมีการจำหน่ายเกินราคามากกว่า 20 ปี จนกลายเป็นความชาชิน และเมื่อประเมินจะพบมีกำไรส่วนเกินจากที่ควรจะได้รับ 2.2 หมื่นล้านบาท/ปี แบ่งเป็นตกในมือผู้ค้าปลีก 8 พันล้านบาท และผู้ค้าคนกลาง 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีจำนวนน้อย และมีสิทธิได้รับการจัดสรร ทำให้ทางเศรษฐศาสตร์หมายถึงประชาชนต้องจ่ายภาษีเพิ่ม แทนที่จะนำจำนวนเงินที่ต้องซื้อสลากฯ เกินนำไปจับจ่ายใช้สอยอย่างอื่น
เมื่อใดก็ตามที่ผู้ค้าสลากมีคนเดียวย่อมเกิดการผูกขาดตลาด ในกรณีนี้คือสำนักงานกินแบ่งรัฐบาลที่มีอำนาจในการตั้งราคา มีขั้นตอน และกระบวนการ ทำให้มีผู้รับโควต้าสลากฯ ไม่กี่ราย จึงเป็นเหตุผลให้เกิดการขายเกินราคา อย่างไรก็ตาม เมื่อสำรวจผู้ค้าสลากฯ รายย่อย พบร้อยละ 90 ไม่มีโควตาในมือ แต่ต้องไปซื้อจากผู้ค้าคนกลางมาขายแทน และมักถูกกำหนดราคาสูงอยู่แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้เรื่อย ๆ หลายคนก็เริ่มรู้สึกไม่มีทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ยังระบุว่า ปัจจุบันรัฐบาลใช้มาตรา 44 บังคับราคาสลากฯ ซึ่งได้ผลในระดับหนึ่งทำให้ราคาปรับลดลง แต่ยังพบเห็นการขายสลากฯ ราคาเกินกำหนดอยู่ อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายจริงจังย่อมใช้พลังเยอะ และไม่มีทางจะยั่งยืน นอกจากได้แก้ไขโครงสร้างเพื่อให้สลากฯ ถึงมือผู้ค้ารายย่อยมากขึ้น มิฉะนั้นเมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ปัญหาเดิมก็จะกลับมาอีกครั้ง
“สำนักงานสลากฯ มีแนวคิดจะพิมพ์ขายผู้ค้ารายย่อยตามจำนวนที่ต้องการ เมื่อได้แล้วก็จะไม่ซื้อจากผู้ค้าคนกลาง แต่ก็แอบกังวลว่า การพิมพ์จำนวนมากจะเป็นการมอมเมาหรือไม่ อย่างไรก็ดี การเสนอใช้กลไกดังกล่าว เมื่อผู้ค้าคนกลางไม่สามารถปล่อยสลากฯ ถึงมือผู้ค้ารายย่อยได้ก็จะเจ๊ง กลายเป็นการตัดตอนและไม่เหลือใครเข้ามาคุมราคาสลากฯ ได้อีก” รศ.ดร.นวลน้อย กล่าว และเห็นว่า อนาคตรัฐควรขายสลากฯ ผ่านตู้ เพื่อไม่ต้องคำนึงถึงค่าตอบแทนของผู้ค้าสลากฯ ที่ต้องมีรายได้เพียงพอเลี้ยงดูตนเองได้ แต่ปัจจุบันนี้ที่รัฐบาลยังไม่กล้าเปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีผู้ค้าสลากจำนวนมาก คำนวณแล้วประมาณ 1 แสนคน ถ้าเปลี่ยนแปลงกะทันหันจะทำให้มีคนตกงานได้
ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ยังกล่าวถึงการกำกับดูแลปัญหาการพนัน หนีไม่พ้นกลุ่มคนที่มีปัญหา ดังนั้นต้องมีกลไกดูแล 3 แนวทาง คือ 1.ต้องศึกษาวิจัยการพนัน เพื่อให้ทราบถึงปัญหา ก่อนจะออกกฎกติกา 2.สร้างกลไกการศึกษาเรียนรู้ให้แก่ผู้จะเล่นการพนัน เพื่อทราบวิธีการก่อนตัดสินใจ ไม่ใช่เล่นเพราะถูกหลอก และ 3.สร้างมาตรการเยียวยาคนติดการพนัน ซึ่งมีประมาณร้อยละ 10 นำไปสู่กระบวนการบำบัดรักษา เพื่อแก้ปัญหาด้วย ที่สำคัญ ต้องให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน กลุ่มคนอ่อนเปราะทางสังคมอย่างคนจน และก่อให้เกิดความเป็นธรรมในเกณฑ์การพนัน ซึ่งในต่างประเทศจะถูกเขียนไว้ในกฎหมายพนันด้วย .
ได้รับการสนับสนุนภาพจาก เว็บไซต์ thaipublica