ภาคประชาสังคมหวั่น กมธ.ร่างรธน.ตายตอนจบด้วย ม.190วรรคสี่
เขียนวันที่
วันศุกร์ ที่ 07 สิงหาคม 2558 เวลา 12:06 น.
เขียนโดย
Thaireform
หมวดหมู่
Tags
อดีตกรรมการปฎิรูปกฎหมายชี้ มาตรา 190 วรรคสี่ ห้ามตรากฎหมาย Earmarked taxใส่ในรัฐธรรมนูญ เป็นข้อวิตกรวมหมู่ ปิดทางหน่วยงานอื่นทำบทบาทสาธารณะ แสดงความแปลกใจกมธ.ยอมแพ้ไม่ยึดหลักการการคลังเพื่อสังคมได้อย่างไร
วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมจัดเวทีเสนา “รัฐธรรมนูญมาตรา 190 กับการคลังเพื่อสังคม” ณ ห้องประชุมสุจิตรา ชั้น 4 อาคารอาสาสมัครเพื่อสังคม
ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) กล่าวถึงภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked tax) ขณะนี้อาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน รวมถึงมีความไม่เข้าใจการทำงานเชิกรุกขององค์กรลักษณะพิเศษ ที่แตกต่างจากส่วนราชการ
"ผมมองไม่เห็นว่าการเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะให้หน่วยงานอย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส.) สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จะเป็นผลเสียต่อการจัดการเชิงมหภาค เพราะทั้งสององค์กรที่ผ่านมามีประโยชน์ทำงานเกื้อหนุนภาคประชาชนให้เติบโต"
ดร.ดิเรก กล่าวถึงการทำงานของ สสส.ที่มีคณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการประเมินผล ทำงานแยกกัน แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี ทุกปีจะมีการรายงานผลต่อรัฐสภา จึงมีหลักธรรมาภิบาลในตัวเอง ประชาชนและหน่วยงานราชการอาจไม่เข้าใจตรงจุดนี้
"ทั้ง สสส.และ สถานีโทรทัศน์ TPBS วันนี้อาจถูกมองเป็นอภิสิทธิ์ชน เด็กเส้น มีเงินงบประมาณนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ นี่คือความแตกต่างการทำงานที่ไม่เหมือนส่วนราชการ ซึ่งในอนาคตสององค์กรนี้จำเป็นต้องพิสูจน์ให้สาธารชนไม่มีข้อกังขา ทั้งเรื่องโครงสร้างการทำงาน ธรรมาภิบาล และการใช้เงินอย่างคุ้มค่ามีประสิทธิภาพ" นักวิชาการจากนิด้า กล่าว และว่า ส่วนสังคมที่ตั้งคำถามมี Earmarked tax ดีหรือไม่นั้น ต้องอยู่ที่ความสมดุล มีมากหรือหลายองค์กรผุดขึ้นมาเป็นหลักร้อยแห่ง ก็ไม่เห็นด้วย แต่ขณะนี้ในบ้านเรามี 2แห่ง และกำลังเกิดกองทุนกีฬาฯ อีก 1แห่ง รวมแล้วนิดเดียวไม่ถึง 1% ของงบประมาณรายจ่ายประเทศ อีกทั้งไม่ได้เบียดบังเงินกระทรวงการคลัง แต่เป็นการเก็บภาษีเพิ่มจากภาษีบาป เพื่อให้องค์กรเหล่านี้ทำบริการสาธารณะ หรือทำสื่อที่เป็นกลาง
ด้านนายไพโรจน์ พลเพชร อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฏหมาย กล่าวถึงสิ่งที่รัฐธรรมนูญกำลังแก้ไขและร่างขึ้นมาตรา 190 เนื่องจากพบว่า ที่ผ่านมามีการใช้จ่ายงบประมาณประเทศ แบบไม่มีวินัยการเงินการคลัง ทั้งงบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2ล้านล้านบาท โครงการถนนปลอดฝุ่น เป็นต้น จึงต้องใส่เรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่มาตรา 190 วรรคสี่ กลับไปล้มเลิกหลักการการคลังเพื่อสังคม
สำหรับการจัดสรรงบประมาณพิเศษจากภาษี Earmarked tax นั้นนายไพโรจน์ กล่าวว่า ถือเป็นการอุดช่องโหว่ภารกิจบางอย่างที่รัฐทำได้ แต่ทำได้ไม่ดีพอ มาให้หน่วยงานอื่นทำแทน
"การไปตั้งคำถามกับสสส. TPBS เป็นข้อวิตกรวมหมู่ ยิ่งไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ อนาคตจะเป็นปัญหารุนแรง เพราะแก้ไขลำบาก ไม่ยืดหยุ่น นอกจากการรัฐประหาร อีกทั้งเป็นการปิดทางหน่วยงานอื่นมาทำบทบาทสาธารณะ"นายไพโรจน์ กล่าว และตั้งคำถามว่า ทำไมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจึงยอมแพ้เรื่องเหล่านี้ ทั้งๆที่หลักการดีมาก
อดีต คปก.กล่าวด้วยว่า เรากำลังมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเงินการคลังการงบประมาณโดยเฉพาะ ทำไมไม่ไปเขียนหลักการบางอย่างไว้ในนั้น ไม่ใช่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 3องค์กรที่ได้เงินจากภาษี Earmarked tax เป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยมาก ไม่ได้เป็นเรื่องท้าทายแต่อย่างใดเลย เรื่องที่ท้าทายคือ การจัดสรรงบประมาณอย่างไรให้เป็นธรรม นอกจากการจัดสรรงบประมาณตามภารกิจแล้ว ต้องจัดสรรงบประมาณตามพื้นที่ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้วย ถือเป็นเรื่องถูกต้องกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
"ผมเข้าใจสังคมห่วงใยเรื่องธรรมาภิบาล เรื่องการตรวจสอบ ปัจจุบันเราก็มีระบบตรวจสอบอยู่ หากห่วงเรื่องการตรวจสอบก็แก้เรื่องการตรวจสอบ แต่ไม่ใช่มาแก้ไม่ให้องค์กรเหล่านั้นทำภารกิจเฉพาะ ไม่ให้งบประมาณ สังคมสมัยใหม่รัฐไม่ควรทำภารกิจบางอย่าง รัฐมีหน้าที่ให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะทางวิชาการ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างให้พลเมืองเป็นใหญ่ ให้ภาคส่วนอื่นๆสามารถเข้ามามีบทบาทในงานสาธารณะได้"
ขณะที่นายศรีสุวรรณ ควรขจร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวถึงกมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ควรสับสนและตายตอนจบด้วยมาตรา 190 วรรคสี่ พร้มกับชี้ว่า หากต้องการสร้างธรรมาภิบาลต้องดูเป็นกรณีๆไป แต่ไม่ใช่บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อทำลายองค์กรเหล่านี้โดยตรง
"กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ หยิบยกกรณีที่สหรัฐห้ามมิให้ใช้ Earmarked taxนั้น เป็น Earmarked tax งบส.ส. ที่นำไปสู่คอรัปขั่น ดังนั้นไม่ควรเหมารวมทั้งหมด"