“วิทยาลัยชุมชน” เร่งร่าง พ.ร.บ.เข้าสภาฯ พ.ย.นี้ ปรับสอนสูงกว่าอนุปริญญา
คกก.วิทยาลัยชุมชนเร่งผลักร่าง พ.ร.บ.วชช.เข้าสภาฯ ภายใน พ.ย. หลังปรับแก้เรื่องการกระจายอำนาจ และเปิดสอนสูงกว่าอนุปริญญาตามแนวทางวรวัจน์
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานคณะกรรมการวิทยาลัยชุมชน(วชช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวิทยาลัยชุมชน ได้พิจารณาถึงร่าง พ.ร.บ.วิทยาลัยชุมชน ที่รอการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรว่าแม้ร่างดังกล่าวจะเคยผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ไปแล้ว แต่เนื่องจากมีการประกาศยุบสภา จึงต้องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ใหม่อีกครั้ง
แต่ปรากฏว่า นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ไม่ได้ยืนยันที่จะส่งร่างฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภา ดังนั้นก่อนหน้านี้คณะกรรมการวิทยาลัยชุมชนจึงเข้าพบเพื่อหารือ ซึ่ง รมว.ศธ.ได้ให้แนวคิด 2 เรื่อง คือ เรื่องการกระจายอำนาจ และเรื่องการเปิดสอนให้มากกว่าอนุปริญญา ซึ่งคณะทำงานได้นำกลับมาพิจารณาและทบทวนร่างเดิม จากนั้นจะเสนอ รมว.ศธ.พิจารณาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามการเสนอร่าง พ.ร.บ.ทำได้หลายช่องทาง และที่ผ่านมาก็มีการยกร่าง พ.ร.บ.วิทยาลัยชุมชนขึ้นหลายฉบับ ทั้งที่ดำเนินการจากฝ่ายรัฐบาลเองคือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และที่จัดร่างจากภาคประชาชนซึ่งเข้าใจว่าจะมีการเสนอร่างผ่านสมาคมวิทยาลัยชุมชน ที่มีการประสานงานผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านโดยตรง เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯคู่ขนานไปกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับภาครัฐ ทั้งนี้คาดว่าการปรับร่าง พ.ร.บ.วิทยาลัยชุมชน จะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน และผลักดันบรรจุเป็นวาระประชุมของสภาได้ในเดือน พ.ย.นี้
ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวอีกว่า คณะทำงานกรณีวิทยาลัยชุมชนกรุงเทพ ได้รายงานว่าคณะทำงานได้หารือเรื่องปรับโครงสร้าง วชช.กรุงเทพ โดยสรุปให้มีสภาวิทยาลัยกรุงเทพรูปแบบใหม่ตามกฎ ศธ. จากนั้นให้สรรหาผู้อำนวยการ วชช.กทม.ที่สามารถทำงานได้เต็มเวลา ซึ่งปีการศึกษา 2555 ยังคงใช้งบประมาณจากกรุงเทพ และปีการศึกษา 2556 จะใช้งบจากกรุงเทพ 40% และ สกอ. 60% โดยแผนการดำเนินงานระยะ 1 ปี หลังจากนี้ 6 เดือนแรกจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องโครงสร้าง การสรรหาบุคลากรและอื่นๆ ส่วน 6 เดือนหลังเน้นเรื่องวิชาการ นอกจากนี้ที่ประชุมยังเสนอให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เข้ามาประเมินภายนอก วชช.ที่ได้มีการปรับใหม่ โดยเน้นในเรื่องตัวชี้วัดเฉพาะที่เหมาะสม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แนวคิดของ “วิทยาลัยชุมชน” คือต้องการจัดการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี จัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น รวมทั้งให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษา โดยเป็นองค์กรที่มีอำนาจ มีความอิสระคล่องตัวในการดำเนินงาน หรืออาจยกฐานะเป็นนิติบุคคล.
ที่มาภาพ : http://nfeprasat.tripod.com/about/cr1.html