พณ.เล็งตั้งสถาบันพัฒนาการพาณิชย์ข้าว เป็นคลังสมองอิสระอุตฯข้าวไทย
ก.พาณิชย์จ้างทีดีอาร์ไอวิจัยความเป็นไปได้ตั้งสถาบันพัฒนาการพาณิชย์ข้าว ยึดแม่แบบมูลนิธิมันสำปะหลังฯ หวังเป็นมันสมองอิสระอุตฯ ข้าวไทย เชื่อก่อประโยชน์ระยะกลางไม่ต่ำกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท เทียบเงินทุน 2 พันล้านบาท
วันที่ 6 สิงหาคม 2558 กรมการค้าภายใน ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนา ความพร้อมและความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสถาบันพัฒนาการพาณิชย์ข้าว ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมข้าวไทยมีมายาวนาน ซึ่งเจริญเติบโตได้ด้วยฝีมือของเกษตรกรเป็นหลัก แสดงให้เห็นว่าเกษตรกรในอดีตมีความสามารถปลูกข้าวได้คุณภาพดี ต่อมามีการพัฒนาผู้ประกอบการดูแลการค้าข้าว อย่างไรก็ตาม ไทยยังไม่ให้ความสำคัญเรื่องตลาดมากนัก โดยเฉพาะการศึกษาวิจัย วิเคราะห์อย่างเป็นระบบเรื่องการพัฒนาตลาดข้าวให้สามารถแข่งขันได้
“ปลายปี 2558 ไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คาดว่าจะมีคู่แข่งในตลาดข้าวมากขึ้น นอกเหนือจากเวียดนามแล้ว อยากให้จับตากัมพูชา ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา มีการคิดค้นสายพันธุ์เนียงมะลิ ด้วยคุณภาพดินของพระตะบอง ศรีโสภณ เหมือนกับทุ่งกุลาร้องไห้ สุรินทร์ และบุรีรัมย์” อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าว และว่า ไทยจะดำเนินการแบบเดิมไม่ได้ จึงมีแนวคิดจะพัฒนาศึกษาวิเคราะห์ระบบตลาดของข้าว เพื่อสร้างความเข้มแข็งของข้าวไทยในตลาดโลก และได้ว่าจ้าง ทีดีอาร์ไอเป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้และแนวทางในการจัดตั้งสถาบันพัฒนาการพาณิชย์ข้าว
ด้านดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ในฐานะผู้วิจัย กล่าวถึงเหตุผลสำคัญในการการก่อตั้งสถาบันพัฒนาการพาณิชย์ข้าวว่า เป็นสถาบันมันสมองอิสระของอุตสาหกรรมข้าวไทย โดยปกป้องส่วนแบ่งของข้าวในตลาดโลก และเพิ่มส่วนบางของตลาดข้าวคุณภาพสูง และผลิตภัณฑ์ข้าวไทย ซึ่งจะเพิ่มรายได้ให้ชาวนา และผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง
ทั้งนี้ จากการศึกษาสรุปว่า การก่อตั้งสถาบันพัฒนาพาณิชย์ข้าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะกลางเป็นมูลค่าอย่างต่ำ 16,830 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเงินลงทุนจำนวน 2,000 ล้านบาท ใน 6 ปี ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายปีละ 60 ล้านบาท และยืนได้ในขาตัวเองเหมือนมูลนิธิมันสำปะหลังแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ข้อมูลข่าวสารและการวิจัยของสถาบันฯ ยังจะก่อประโยชน์อื่น ๆ ที่วัดเป็นตัวเงินไม่ได้ เช่น การลดความเสี่ยงจากการตัดสินใจของชาวนาและผู้ประกอบการข้าวขนาดเล็กและขนาดกลาง ฯลฯ ผู้จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินการของสถาบันฯ คือ กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจข้าวขนาดกลางและขนาดเล็กในอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำ
“การก่อตั้งสถาบันพัฒนาพาณิชย์ข้าวมีความคุ้มค่าต่ออุตสาหกรรมข้าวไทยและประเทศไทย ภายใต้เงื่อนไขว่า สถาบันมีโครงสร้างที่มีอิสระในการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิผล ทำงานแบบรับผิดชอบ (accountable) ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมข้าวอย่างโปร่งใสและน่าเชื่อถือ”
สำหรับองค์ประกอบหลักของโครงสร้างสถาบันมี 6 ข้อ 2 เงื่อนไข นักวิชาการเกียรติคุณ ระบุจำเป็นต่อการเป็นสถาบันมันสมองของอุตสาหกรรมข้าวไทย กล่าวคือ
1.มูลนิธิเป็นรูปแบบเหมาะสมที่สุด เพราะอิสระและคล่องตัว
2. มีแนวทางดำเนินงานตามพันธกิจหลัก โดยต้องติดตามรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ตลาดข้าวและข่าวกรองตลาดข้าวที่ทันเหตุการณ์ให้สมาชิก วิจัยด้านตลาดข้าว สร้างเครือข่ายกับผู้เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ ริเริ่มและเป็นแกนหลักร่วมกับภาคส่วนต่างผลักดันยุทธศาสตร์และนโยบายเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน กำหนดมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวสังเคราะห์และเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาของผู้เกี่ยวข้อง และจัดฝึกอบรม
3.องค์ประกอบของกรรมการต้องสมดุลทุกฝ่าย แต่ละฝ่ายคัดเลือกกันเอง โดยมองว่าประธานสถาบันฯ และผอ.สถาบันฯ คนแรกเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดต่อความสำเร็จของสถาบันฯ โดยมีทุนทางสังคมสูง ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจ มีวิสัยทัศน์ และเก่งด้านบริหาร
4.บุคลากรมีเพียง 4 ฝ่าย รวม 16 คน ให้มีประสบการณ์ตรงตามหน้าที่ เป็น Flat Organization เงินเดือนใกล้เคียงองค์กรมหาชนอิสระ
5.แหล่งเงินใน 6 ปีแรก คือ เงินค่าธรรมเนียมพิเศษจากโควตาข้าวของกลุ่มสหภาพยุโรป หรือเงินที่รัฐจัดสรรให้รวม 2,000 ล้านบาท และนำเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากผู้ส่งออกข้าวมาทำวิจัยการตลาด โดยหลังจาก 6 ปี สถาบันฯ ต้องยืนบนขาตนเองได้ ทั้งจากดอกผล และกิจกรรมหารายได้ต่าง ๆ ซึ่งรายได้ 6 ปีแรกเฉลี่ยปีละ 60 ล้านบาท
6.ธรรมาภิบาล โดยต้องรับผิดต่อสมาชิก โดยให้สมาชิกเป็นผู้ประเมิน ทำงานแบบโปร่งใส และมีผลงานน่าเชื่อถือ เพราะมีกระบวนการตรวจสอบเข้มข้น และมีกำแพงจีน (Chinese Wall) ป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน
ขณะที่ดร.อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ บุญญะศิริ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ในฐานะนักวิจัย กล่าวเพิ่มเติมถึงประโยชน์ที่ไม่สามารถคิดเป็นตัวเงินว่า ทำให้มีข้อมูลข่าวสารน่าเชื่อถือ ส่งผลต่อชาวนาให้ตัดสินใจผลิตข้าวตรงตามความต้องการตลาดมากขึ้น และผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางยังลดความเสี่ยงทางการค้า เข้าถึงตลาดได้ดี และกำหนดยุทธศาสตร์ข้าวได้ทันที
นอกจากนี้ข้อมูลข่าวกรองนโยบายของรัฐบาลในและต่างประเทศยังทำให้ผู้ประกอบการลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ เพิ่มโอกาสทางการค้า รัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบายตอบสนองได้ทันที โดยชาวนาและผู้ประกอบการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายและตลาดได้
“เมื่อเปรียบเทียบเงินงบประมาณ 6 ปี 2,000 ล้านบาท กับประโยชน์ที่ได้รับเป็นตัวเงิน 16,830 ล้านบาท และประโยชน์ที่ไม่เป็นตัวเงินแล้ว การจัดตั้งสถาบันพัฒนาการพาณิชย์ข้าวจึงคุ้มค่ามาก ถ้าสถาบันฯ มีโครงสร้างและความสามารถในการดำเนินงาน” นักวิจัย ระบุ
นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีข้อมูลในตลาดเพียงพอต่อการตัดสินใจซื้อขาย แต่ปัญหาคือนโยบายของรัฐบาลทุกสมัยขัดขวางการส่งออกข้าวไทย จากเดิมไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลก 3-4 ปี เพิ่มขึ้นทุก 1 ล้านตัน แต่โครงการรับจำนำข้าวกลับทำให้ยอดการส่งออกตกลง ซึ่งน่าเศร้าที่อุตสาหกรรมข้าวไทยไม่เคยมีนโยบายที่ยั่งยืนรองรับ
“ไทยมีเฉพาะข้าวนึ่งและข้าวหอมมะลิ ไม่มีการปรับปรุงสายพันธุ์ข้าว เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน คิดว่าข้าวไทยเป็นพรีเมียม โดยลืมคำนึงถึงกลุ่มคนข้างล่างที่เป็นตลาดหลัก ซึ่งไทยไม่สามารถตอบสนองผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้” นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าว และเปรียบเทียบกับเวียดนามที่มีนโยบายแน่นอนและต่อเนื่อง ทำให้มีพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ สามารถเข้าถึงได้ทุกตลาด และเจาะตลาดสหรัฐฯ ได้แล้ว เพราะคนที่ซื้อข้าวเวียดนามมักเป็นคนเม็กซิกัน ซึ่งมีรายได้น้อย แต่ต้องการบริโภคข้าว
นายเจริญ ยังกล่าวว่า ถ้าไม่สามารถกำหนดทิศทางนโยบายของรัฐบาลได้ การจัดตั้งสถาบันฯ ก็เสียเปล่า ดังนั้นผู้ประกอบการจึงเรียกร้องให้จัดตั้งสภาข้าวมาตลอด เพื่อกำหนดนโยบายของกลุ่มเราเองได้จะดำเนินทิศทางอุตสาหกรรมข้าวไทยอย่างไร และรัฐบาลต้องดำเนินงานตาม ยืนยันว่า การจัดตั้งสถาบันฯ ไม่สำคัญเท่ากับการกำหนดนโยบายของรัฐ .