อ.นิติศาสตร์ชี้สภาเกษตรฯตั้งไข่ได้ เอ็นจีโอลั่นจับตากม.เอื้อทุน-นักการเมือง
อาจารย์นิติศาสตร์ม.เชียงใหม่ชี้พ.ร.บ.สภาเกษตรกรฯยังคงเดินหน้าต่อได้ ขณะที่เอ็นจีโออีสานสั่งจับตาใกล้ชิดหวั่นกม.เอื้อประโยชน์นักการเมือง-กลุ่มทุน
สืบเนืองจากกรณีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเมื่อ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา ใจความว่าตามที่กษ.หารือมา ประเด็นที่ 1.สภาเกษตรกรจังหวัดและสภาเกษตรกรแห่งชาติในขณะนี้สามารถดำเนินงานตามบทบาทอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ไปพลางก่อนได้หรือไม่เพียงใด คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า พ.ร.บ.กำหนดให้สภาเกษตรกรจังหวัดประกอบด้วย 1.สมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้ง 16 คน (จังหวัดใดมีมากกว่า 16 อำเภอ ให้เพิ่มจำนวนสมาชิกเท่ากับจำนวนอำเภอ) และ 2.สมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน เลือกจากผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรม
กรณีสภาเกษตรกรจังหวัดชุดแรกนั้น บทเฉพาะกาลกำหนดวิธีการเลือกสมาชิกเฉพาะสมาชิกตามมาตรา 31(1) หรือประเภทผู้แทนเกษตรกร โดยให้ปลัด กษ.และเกษตรและสหกรณ์จังหวัด จัดเลือกตั้ง ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการเลือกตั้ง และให้ รมว.กษ.แต่งตั้ง และประกาศในราชกิจจานุเบกษา และภายใน 45 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้เรียกประชุมสมาชิกเพื่อเลือกประธานและรองประธานสภาเกษตรกรจังหวัด ซึ่งขณะนี้ได้มีการเลือกประธานสภาเกษตรกรจังหวัดแล้ว แต่ยังไม่มีสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดประเภทผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 31(2) เนื่องจากยังไม่มีหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขการเลือกเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิก ประเภทนี้ สภาเกษตรกรจังหวัดจึงมีองค์ประกอบสมาชิกไม่ครบ จึงไม่สามารถดำเนินงานตามอำนาจ หน้าที่ได้จนกว่าจะมีการเลือกสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ
ต่อความคืบหน้ากรณีดังกล่าว ทศพล ทรรศนกุลจันทร์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในฐานะผู้ที่ติดตามการดำเนินงานจัดตั้งสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ว่าที่ผ่านมามีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรฯ ระดับตำบล อำเภอ จังหวัดแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการฟอร์มทีมระดับชาติ แต่การดำเนินการก็เป็นไปด้วยความล่าช้า เนื่องจากรัฐบาลอ้างว่าติดขัดเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วม การเลือกตั้งสภาเกษตรแห่งชาติที่กฤษฎีกานำไปตีความอยู่ที่ประเด็นการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิให้ได้ภายในระยะเวลากำหนด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะดำเนินการไม่ได้ เพียงแต่ถ้าทำไม่ได้หรือทำไม่ทันการประกาศใช้บทเฉพาะกาลก็จะมีปัญหา ซึ่งพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ล้มแน่นอน ตนยังมองว่าหากจะให้ครอบคลุมควรต้องมีนโยบายพันธะสัญญาออกมาด้วย เพราะที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีว่าเกษตรกรตกเป็นเบี้ยล่างของกลุ่มทุนมาตลอด ซึ่งเกษตรกรก็เริ่มมองเห็นปัญหานี้เช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยากที่จะให้มี เพราะผ่านขั้นตอนการเสนอต่อสมัชชาปฏิรูป คณะกรรมการปฏิรูปไปหมดแล้ว รอเพียงแต่ให้รัฐบาลประกาศใช้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะผลักดันกฎหมายนี้หรือเปล่าในอนาคต
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มช. กล่าวอีกว่า หากมองในภาพรวม รัฐบาลไม่ได้นำกฎหมายเกษตรที่เสนอโดยภาคประชาชนมาพิจารณา ภาคประชาชนจะได้ประโยชน์น้อยมาก เพราะเป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดยพรรคการเมืองที่อิงอยู่กับกลุ่มทุน การบริหารงานก็ใช้ระบบการบริหารงานแบบกระทรวงมหาดไทยคือจากล่างสุดเสนอกันขึ้นมาเป็นทอดๆถึงระดับชาติ อำนาจหน้าที่ของประชาชนในการเสนออะไรต่างๆไม่มี
“สิ่งที่อยากเห็นก็คือเมื่อพ.ร.บ.ออกมามีหน้าตาแบบนี้ การบังคับใช้เอื้อประโยชน์ทุนและนักการเมือง ทางเครือข่ายภาคประชาชนจะต้องทำงานคู่ขนานไปด้วยเวลามีการเสนอมติเกษตรกรต้องมีการเสนอในส่วนของเกษตรกรเองเพื่อให้มีทางเลือกมากขึ้น แต่ถ้ามองไนแง่ดีเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับภาคเกษตร ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติ หรือเรื่องนโยบายต่างๆถ้ารัฐจริงใจนำปัญหามาวิเคราะห์หาทางออกและดูในรายละเอียดที่เป็นประโยชน์กับเกษตรกรก็เป็นเรื่องดีแต่ถ้าไม่นำข้อเสนอของเกษตรกรมาพิจารณา กฎหมายก็จะเป็นเพียงแค่ตรายางเท่านั้น” ทศพล ทรรศนกุลจันทร์ กล่าว
อุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ในฐานะผู้คร่ำหวอดในแวดวงองค์กรพัฒนาเอกชนและทำงานกับชาวบ้านมาเป็นเวลานาน กล่าวว่า แม้ว่าสภาเกษตรฯยังดำเนินการไม่ได้ เพราะติดอยู่ที่การคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิภาคเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนยังไม่แล้วเสร็จ แต่กฎหมายออกมาเป็นพ.ร.บ.แล้วคงไม่ล้ม คงจะมีการดำเนินการต่อไป แต่กฎหมายฉบับนี้ก็คงเหมือนฉบับอื่นๆ เช่น กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร ที่มักมีฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซง เข้าไปช่วงชิงกันเอง เจตนารมณ์ของกฎหมายเขียนมาดี แต่การบังคับใช้ไปอีกทิศทางหนึ่ง ผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับมันน้อยมาก ประเทศไทยเป็นลักษณะกลับหัวกลับหาง นโยบายเกษตรควรมาจากเกษตรกรรอยย่อย แต่กลับให้กลุ่มทุนและนักการเมืองเข้ามามีบทบาทมากเกินไป สภาเกษตรแห่งชาติเสี่ยงมากต่อการถูกแทรกแซงจากกลุ่มธุรกิจการเกษตร กลุ่มนักการเมือง เพราะดูจากการเลือกตั้งระดับตำบล อำเภอ จังหวัดก็มีการซื้อเสียงกันอึกทึกคึกโครม มีการส่งบุคคลที่มีสายสัมพันธ์กับการเมืองเข้ามาทำงาน ตรงนี้จะส่งผลไปถึงการออกนโยบาย เพราะสภาเกษตรฯตั้งขึ้นมาดูเรื่องนโยบายเกษตรระดับชาติ เมื่อมีกลุ่มทุน นักการเมืองเข้ามาแทรกแซง แน่นอนว่ามันจะต้องรวมไปถึงผลประโยชน์ที่พวกเขาจะได้รับด้วย
“ส่วนตัวมองว่ามันจะมีกลไกอะไรไหมที่จะให้เกษตรกรรายย่อยตัวจริงพึ่งได้ มีกลไกลที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่องค์กรที่ปล่อยให้นักการเมืองส่งพวกตัวเองเข้ามาควบคุม แต่ก็คิดว่าอีกไม่นานองค์กรนี้คงเป็นรูปธรรม เพราะรัฐบาลเขียนไว้ในนโยบายชัดเจนว่าจะใช้องค์กรนี้เป็นเครื่องมือเชื่อมกับภาคเกษตรกร แต่จุดอ่อนก็อยู่ที่การบังคับใช้ที่เอื้อต่อกลุ่มทุน ซึ่งภาคประชาชนก็จะมีการเฝ้าระวังและติดตามการทำงานของสภาเกษตรกรแห่งชาติต่อไป” อุบล กล่าว