เครือข่ายสุขภาวะผนึกต้าน'รธน.ม.190' ล้มสสส.-ไทยพีบีเอส เข้าทางพ่อค้าเหล้าบุหรี่
หมายเหตุ - เครือข่ายภาคประชาชนด้านส่งเสริมสุขภาวะหลายร้อยองค์กร อาทิ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายด้านเด็กและเยาวชน เครือข่ายองค์กรรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ฯลฯ กว่า 800 องค์กร จะเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 5 สิงหาคม 2558 คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่ห้ามและยกเลิกกฎหมายจัดเก็บและจัดสรรภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ(earmarked tax) โดยมีรายละเอียดดังนี้
ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังพิจารณาในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในช่วงสุดท้ายก่อนสรุปส่งให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) พิจารณารับรอง และเปิดให้มีการลงประชามติต่อไปนั้น ได้มีการเพิ่มเติมเนื้อหาที่ไม่เคยเปิดเผยกับสาธารณะมาก่อน ในมาตรา 190 เกี่ยวกับการห้ามตรากฎหมายเพื่อจัดเก็บและจัดสรรภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (earmarked tax) ซึ่งเสนอเข้ามาจากรัฐบาลและมีบทเฉพาะกาลให้หน่วยงานที่มีกฎหมายอยู่แล้วให้บังคับใช้ต่อไปอีกไม่เกินสี่ปี จึงเกิดมีการหารือของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องและเห็นพ้องที่จะคัดค้านมาตรา 190 ในร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว
โดยมีเหตุผลในการคัดค้าน ดังนี้
1.การห้ามตรากฎหมายเพื่อจัดเก็บและจัดสรรภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (earmarked tax) นี้ เป็นประเด็นสาธารณะที่ไม่เคยถูกเปิดเผยต่อสาธารณะมาก่อนเลย ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ รัฐบาลโดยรองนายกรัฐมนตรี มรว. ปรีดิยาธร เทวกุล เพิ่งจะส่งหนังสือลงวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ถึงประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอปรับปรุงแก้ไข และประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้เห็นชอบนำเข้าที่ประชุมช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการฯได้เห็นชอบให้แก้ไขมาตรา 190 วรรค 4 ให้ห้ามตรากฎหมายเพื่อจัดเก็บและจัดสรรภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ โดยมีบทเฉพาะกาลในมาตรา 281 ให้หน่วยงานที่มีกฎหมายอยู่แล้ว ให้บังคับใช้ต่อไปอีกไม่เกินสี่ปี(แก้จากสามปีที่รัฐบาลเสนอ) และเตรียมจะสรุปเสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติภายในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ โดยกระบวนการทั้งหมด สาธารณชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ได้รับทราบหรือมีส่วนให้ข้อมูลหรือความคิดเห็นเลยแม้แต่น้อย ด้วยเป็นร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญประเด็นใหม่ที่เขียนเติมจากส่วนราชการตามลำพังอย่างเงียบๆ โดยไม่ได้อยู่ในร่างที่เคยประชาพิจารณ์ในเวทีต่างๆ มาก่อน
นอกจากนั้นกระบวนการสื่อสารชี้แจงในการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ก็เป็นไปอย่างจำกัดและรวบรัด จนทำให้กรรมาธิการหลายท่านเข้าใจผิดว่า ผลจากมาตรานี้แค่เพียงเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บเงิน ให้ไปจัดเก็บไว้ที่คลังก่อน แล้วจึงส่งมาให้หน่วยงานตามกฎหมายเดิมเท่านั้น
2. ภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (earmarked or dedicated tax) เป็นวิธีการหรือเครื่องมือทางงบประมาณที่ประเทศต่างๆในโลกใช้ในการจัดสรรภาษีหรือรายได้ในสัดส่วนจำกัด ไปยังภารกิจหรือเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง ในทางทฤษฎีและประสบการณ์ของประเทศต่างๆ เครื่องมือทางงบประมาณนี้สร้างทางเลือกที่เป็นประโยชน์มากมาย จากการลดข้อจำกัดของระบบงบประมาณปกติในเรื่องที่รัฐบาลเห็นว่าจำเป็น แม้จะมีข้อพึงระวังของเครื่องมือที่รัฐบาลและรัฐสภาต้องดูแลให้มีการใช้ให้พอเหมาะสมอยู่ตามปกติ
แต่การที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างถาวรว่า ประเทศไทยจะใช้เครื่องมืองบประมาณชนิดนี้ไม่ได้เลย นับเป็นเรื่องที่ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสจากการจำกัดตัวเอง ให้อยู่แต่กับวิธีทางงบประมาณกระแสหลักดั้งเดิมเท่านั้น และนับเป็นเรื่องล้าหลังเมื่อเทียบกับกระแสสากลของโลก ที่หลายประเทศอาทิ อังกฤษ สหรัฐฯ แคนาดา บราซิล ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน ฯลฯ ต่างก็ใช้ระบบภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะในการพัฒนาประเทศ
3. ในบริบทการออกกฎหมายภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะในประเทศไทยที่ผ่านมา มีการใช้หลักกับ พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และ พ.ร.บ. การกีฬาแห่งประเทศไทย ที่มีวงเงินจากภาษีสรรพสามิตยาสูบและสุรา ที่เรียกเก็บเพิ่มจากภาษีที่เข้าคลังตามปกติ คิดรวมกันเพียงประมาณร้อยละ 0.3 - 0.4 ของงบประมาณแผ่นดินเท่านั้น
การยกเลิกกฎหมายที่มีอยู่และห้ามไม่ให้มีอีกในอนาคต โดยไม่ระบุเหตุผล หรือจะให้เหตุผลเกี่ยวกับการไม่เพียงพอของงบประมาณปกติ ก็นับว่าไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง หรือหากอ้างเหตุผลเรื่องประสิทธิภาพประสิทธิผล (ซึ่งไม่มีข้อมูลใดใดระบุไว้ และมีกลไกตามกฎหมายประเมินอยู่แล้ว) ก็อาจดำเนินการได้ในระดับการบริหารของรัฐบาลหรือการออกกฎหมายของรัฐสภา โดยไม่มีเหตุผลความจำเป็นต้องตราเป็นการห้ามออกกฎหมายแบบนี้ และยกเลิกกฎหมายที่มีอยู่เดิมทั้งหมดไว้ในรัฐธรรมนูญ
4. แหล่งภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะที่ประเทศไทยเก็บอยู่คือการจัดเก็บเพิ่มจากภาษีสรรพสามิตสุราและยาสูบเป็นหลัก (ไม่ได้แบ่งจากภาษีที่รัฐบาลยังคงเก็บเข้าคลังเต็มจำนวนอยู่แล้ว แต่เก็บเพิ่มเข้าหน่วยงาน) ที่นอกจากมีผลให้เพิ่มกลไกราคาให้การบริโภคสินค้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสังคมทั้งสองชนิดในประชาชนไทยลดลง (โดยเม็ดเงินภาษีที่รัฐบาลได้รับไม่ลดลง) แล้ว องค์กรอย่าง สสส. ยังใช้เงินดังกล่าวมาดำเนินงานต่างๆ เพื่อการควบคุมการบริโภคสุรา ยาสูบ และการสร้างเสริมสุขภาพอีกด้วย
การยกเลิกกลไกภาษีเฉพาะนี้ จึงเป็นมาตรการที่อุตสาหกรรมทั้งสองได้ประโยชน์เรียกร้องต่อภาคการเมืองมาตลอด เพราะภาษีเฉพาะที่จัดเก็บเพิ่มนี้ จะกลับไปบวกเป็นผลกำไรของธุรกิจยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แล้วยังได้กำจัดองค์กรที่มาขัดขวางการทำกำไรของธุรกิจ อาจมีเพียงโรงงานยาสูบที่จะแบ่งกำไรบางส่วน ซึ่งเป็นส่วนน้อยมาก จากเงินส่วนนี้คืนรัฐบาลในฐานะรัฐวิสาหกิจ แต่ธุรกิจเอกชนหรือธุรกิจต่างชาติจะได้เงินคืนกลับไปเต็มๆ
และถ้าหากจะแก้กฎหมายใหม่กำหนดให้สามหน่วยงานต้องกลับไปของบประมาณแผ่นดิน ก็จะต้องไปขอแบ่งเอางบประมาณแผ่นดินที่จำกัดอยู่แล้วมาใช้แทนภาษีเพิ่มในส่วนนี้ งานควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพและการสร้างเสริมสุขภาพย่อมถดถอยลง ซึ่งเป็นแนวโน้มในทำนองเดียวกับที่หลายประเทศที่หน่วยงานที่จัดตั้งโดยภาษีเฉพาะ ถูกแทรกแซงจากอุตสาหกรรมที่เสียประโยชน์ ต่อนโยบายทางการเมืองมาก่อน น่าเสียใจความหวังของอุตสาหกรรมที่เสียประโยชน์ กำลังจะประสบความสำเร็จในรัฐบาลนี้ และในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญคณะนี้
5. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้ประกาศตัวในการร่างและประชาพิจารณ์ว่ายึดถือหลักการ “พลเมืองเป็นใหญ่” เป็นหนึ่งในหลักสำคัญ แต่มาตรานี้กลับมีแนวโน้มทำลายกลไกทางสังคม ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้พลเมืองไทย ทั้งด้านการสื่อสารสาธารณะ การพัฒนาสังคม สุขภาพและการกีฬา ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ไปจนถึงเครือข่ายระดับประเทศที่ทำงานร่วมกับรัฐบาล เกิดผลงานที่เป็นประโยชน์มากมาย
การจำกัดระบบงบประมาณให้ใช้ผ่านระบบราชการเป็นหลักเท่านั้น ทำให้น่าจะเป็นอุปสรรคสำหรับอนาคตของประเทศไทย ที่มุ่งหวังว่าจะเกิดการปฏิรูปเชิงระบบจากทุกภาคส่วน แต่ทว่ากลไกสังคมที่จะสนับสนุนภาคพลเมืองกลับต้องอยู่ภายใต้การควบคุมเต็มที่จากรัฐบาลในอนาคตทั้งหมด จึงเป็นการกระทำที่ไม่เพียงจะไม่สนับสนุนการทำให้ “พลเมืองเป็นใหญ่” ตามที่ประกาศไว้เท่านั้น แต่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังเดินไปในทางตรงข้าม ด้วยการทำลายความเข้มแข็งของพลเมืองเท่าที่พอมีอยู่แล้วลงไปอีกด้วย
ดังนั้น องค์กรทั้งหมดตามรายชื่อท้ายจดหมายนี้ จึงขอแสดงการคัดค้านเนื้อหาในมาตรา 190 วรรคสี่ ด้วยเหตุผลที่ได้แสดงข้างต้น และขอให้ตัดวรรคดังกล่าวออกจากร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ด้วย
อ่านประกอบ :
เบื้องหลังแก้รธน.ใหม่ ไม่จ่าย"ภาษีบาป"โดยตรงใส่ทุน "ไทยพีบีเอส-สสส."