พล.อ.อักษรา: 2ความสำเร็จพูดคุยดับไฟใต้ กับ 3ประเด็นใหม่ที่เล็งสานต่อ
วิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อกันมาก และก็ถูกหน่วยงานรัฐผู้รับผิดชอบชี้แจงตอบโต้กันมาเป็นระยะ สำหรับความคืบหน้าในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
เสียงบ่นที่มีให้ได้ยินบ่อยๆ คือ ไม่เห็นมีการเปิดโต๊ะพูดคุยกันเสียที, เมื่อไหร่จะฤกษ์เปิดตัว, ความรุนแรงยังไม่เห็นยุติ, กองกำลังในพื้นที่ไม่เอาด้วย, ที่มีข่าวไปคุยอยู่นอกประเทศนั่นไม่ใช่ตัวจริง ฯลฯ
เป็นหลากหลายความเห็น หลากหลายทัศนะ จากหลากหลายแหล่งที่มาและประสบการณ์ของแต่ละคน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเสียงวิจารณ์ต่างๆ กลายเป็นแรงกดดันที่พุ่งเข้าใส่คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข นำโดย พลเอกอักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก มากพอสมควร
ล่าสุด พลเอกอักษรา พร้อมด้วยทีมงานคณะพูดคุย จึงเชิญสื่อมวลชนที่เกาะติดปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ศูนย์ข่าวอิศรา (ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา) สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ หรือ ดีพเซาท์วอทช์ เข้าร่วมรับฟังทิศทางการทำงานของคณะพูดคุยฯ พร้อมแลกเปลี่ยนความเห็น ที่ห้องประชุมศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
คืบหน้า...แต่อย่าโชว์
พลเอกอักษรา กล่าวในลักษณะเปิดใจระหว่างการพบปะพูดคุยซึ่งใช้เวลาร่วม 3 ชั่วโมง ว่า การพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความคืบหน้าอย่างมาก แต่ที่ผ่านมาพูดอะไรไม่ได้ เพราะถ้าพูดไปจะส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ทันที เนื่องจากมีคนรอทำให้เกิดเรื่องอยู่ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าฝ่ายไหนทำ แต่ไม่ได้ทำให้เกิดความปรองดองแน่นอน
ที่สำคัญคณะพูดคุยไม่ได้มีผมคนเดียว แต่มีผู้แทนหน่วยงานความมั่นคงของประเทศทั้งหมดมาร่วม เป็นทีมระดับชาติ
ปัญหาภาคใต้ไม่ได้มีมิติเดียว แต่มีทั้งเรื่องอุดมการณ์ การเมืองท้องถิ่น ผลประโยชน์ ความขัดแย้งต่างๆ ขบวนการที่ผิดกฎหมาย กลุ่มค้ายาเสพติด ผู้มีอิทธิพล และอาชญากรรมเยอะมาก
ผมทำในมิติอุดมการณ์ เมื่อก่อนมีบางเสียงบอกว่าไม่มีทางสำเร็จหรอก เพราะคนสั่งอยู่ข้างนอก แต่พอผมมาไปคุยกับข้างนอก กลับมีคนบอกว่าคนสั่งอยู่ข้างใน คุยข้างนอกไม่จบหรอก คนวิจารณ์ก็เป็นคนเดิม ที่บอกข้างนอกไม่ได้ผล แต่คนที่พูดก็เคยบินไปคุยมาแล้ว
สำหรับคณะพูดคุยที่มีผมเป็นประธาน ใกล้ๆ รอมฎอนก็ไปคุย ทางผู้เห็นต่างฯก็ร่วมมือ เราก็บอกให้เขายุติความรุนแรง เขาก็บอกว่าคุณนั่นแหละหยุด คุณนั่นแหละรุนแรง ผมก็ต้องเหลียวดูข้างหลังด้วย ก็ต้องยอมรับว่าเรามีทั้งสายเหยี่ยว สายพิราบ เขาเองก็มี
แต่ผลจากการพูดคุย ช่วงรอมฎอนก็มีเหตุการณ์บางพื้นที่ แต่เหมือนเป็นพื้นที่ที่มีมิติเกี่ยวกับขบวนการผิดกฎหมายมากกว่า
2 ปัจจัยหนุนป่วน
พลเอกอักษรา กล่าวต่อว่า การทำงานของคณะพูดคุยคือแทร็ค 1 หน้าที่ของผมคือปิดวาวล์ตัวใหญ่นอกประเทศ ส่วนในพื้นที่แม่ทัพภาคที่ 4 รับผิดชอบอยู่ มีความก้าวหน้า แต่ปัญหาหนักและเกิดมานานกว่า 10 ปี จึงมีความซับซ้อนสูง
เขายังวิเคราะห์ถึงผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ว่า การก่อเหตุรุนแรงมีปัจจัยเกื้อหนุน 2 อย่าง คือ 1.ขีดความสามารถ (capability) และ 2.ความตั้งใจที่จะทำ (intention) ข้อ 1 เป็นหน้าที่ของแม่ทัพภาคที่ 4 และของหน่วยในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาก็พยายามจำกัดการเคลื่อนไหว แต่อาจจะยังไม่ได้ผลทั้งหมด เพราะฝ่ายผู้ก่อการเป็นฝ่ายริเริ่ม ส่วนผมรับผิดชอบงานทำลายความตั้งใจ เป็นหน้าที่ของคณะพูดคุยเพื่อลดหรือกำจัดความตั้งใจของเขา
ย้อนกลับไปเหตุรุนแรงช่วงรอมฎอนที่ยังก่อเหตุรุนแรงได้ โดยเฉพาะช่วง 10 วันสุดท้ายนั้น พลเอกอักษรา บอกว่า จริงๆ แล้วขีดความสามารถของฝ่ายผู้ก่อการมีจำกัดลงมากแล้ว แต่ก็พยายามใช้ทุกอย่างที่มีเพื่อมาก่อเหตุให้ได้ โดยเน้นวันหยุดราชการ ยึดโยงกับสัปดาห์สุดท้ายของช่วงรอมฎอน หวังว่าเมื่อเปิดมาวันจันทร์ หนังสือพิมพ์จะพากันลงข่าว ลงภาพพร้อมๆ กัน แต่เอาเข้าจริงๆ สื่อก็ช่วยที่จะไม่โฆษณาผลงาน ทำให้ฝ่ายที่ก่อเหตุไม่บรรลุเป้าประสงค์ ก็เบิกเงินต่อไม่ได้ ยิ่งผู้ใหญ่ในส่วนกลางไม่ได้ลงพื้นที่ ซึ่งเราก็พยายามบอกว่าไม่ต้องลงไป เพราะถ้าลง ฝ่ายโน้นก็เตรียมการรอไว้อีก เมื่อไม่ลงก็ไม่มีอะไร
ฉะนั้นสถิติความรุนแรงในห้วง 10 วันสุดท้าย ก็เลยออกมาว่า มีเหตุการณ์ม้วนเดียวแล้วหายไป ซึ่งคณะพูดคุยบนโต๊ะ(ฝ่ายผู้เห็นต่าง) ก็ยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้ทำ ก็ต้องค้นหากันต่อไปว่าใครทำ และจับกุมดำเนินคดีตามขั้นตอน
2 ความสำเร็จของทีมพูดคุย
พลเอกอักษรา กล่าวต่อว่า เรื่องการพูดคุย คนที่เฝ้าดูอยู่ก็อยากให้เป็นทางการ เป็นระดับชาติ อยากบอกว่าการพูดคุยครั้งนี้เป็นความร่วมมือระดับชาติอยู่แล้ว เพราะเป็นความตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซีย มีช่องทางเดียวในการติดต่อสื่อสาร คือผ่าน สมช. (สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ) ไม่มีการเล่นบท 2 หน้า ฉะนั้นไม่ว่าใครจะเคยคุยกันมาตั้งแต่ครั้งไหนก็ว่ากันไป แต่ไม่ใช่ตอนนี้
การพูดคุยในอดีตนั้น ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปรวบรวมข้อมูลมาแล้ว ทั้งรายชื่อ โครงสร้าง และการพูดคุยกับฝ่ายเรา มีใครเคยไปคุยบ้าง สรุปคือไม่เคยมีใครคุยได้ถึงระดับบนๆ ของฝ่ายผู้เห็นต่างเลยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
สำหรับ "กลุ่มมาราปาตานี" (องค์กรกลางที่ฝ่ายผู้เห็นต่าง 6 กลุ่มตั้งขึ้นเป็นตัวแทนการพูดคุย) ฝ่ายผู้เห็นต่างก็ไปรวมกันมา เพราะเห็นว่านายกฯประยุทธ์อยากให้มาคุยทุกกลุ่มและตกลงกันให้ได้ก่อน ต่อมาก็มีข่าวว่าฝ่ายเราไม่ยอมรับชื่อนี้ จริงๆ แล้วผมไม่สนใจชื่อ แต่สนใจวิธีการต่อสู้ของเขามากกว่าว่าใช้แนวทางสันติวิธีหรือไม่
ความสำเร็จของการพูดคุยภายใต้การทำงานของคณะพูดคุยชุดนี้ มีอย่างน้อย 2 ประการ คือ
1.ผู้เห็นต่างจากหลากหลายกลุ่มมานั่งรวมกันครบ อาจจะขาดบางคนไปบ้าง แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะจริงๆ แล้วมากันครบหมด ดึงมาทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย คนที่ไม่มาก็ส่งข้อความฝากมาบอกว่าขอโทษ ติดภารกิจจริงๆ แม้แต่แกนนำบางคนที่ไม่เคยไปร่วมที่ไหนมาก่อนเลย แต่ครั้งนี้ก็มาร่วม ฝ่ายกองกำลังที่พูดกันว่าไม่มาร่วม ครั้งแรกเขามาเป็นผู้สังเกตการณ์ (observer) แต่ครั้งต่อมาก็เข้ามาร่วม
2.ให้ร่วมกันเปลี่ยนความรุนแรงเป็นสันติวิธี ซึ่งเดือนรอมฎอนก็มีการพูดกันให้ลดความรุนแรง ก็มีการทำงานร่วมกัน ฝ่ายเราก็รักษาพื้นที่เต็มที่ตามปกติ ฝ่ายโน้นก็หยุด คืออยู่เฉยๆ นี่คือสิ่งที่ทำ และสถิติที่ออกมาก็ชัดเจนว่าเหตุรุนแรงและความสูญเสียลดลง แต่เรื่องแบบนี้เราไปพูดก่อนไม่ได้ เพราะไม่อยากให้เป็นการท้าทาย เนื่องจากคนที่ไม่เห็นด้วย ไม่อยากให้สันติสุขเกิดมันมีอยู่แล้ว
จากการพูดคุยที่ผ่านมา ผู้เห็นต่างกังวลหลายเรื่อง แต่เรายืนยันว่าเราจะแก้ให้ทั้งหมด ขอให้เน้นสันติวิธี ซึ่งผู้เห็นต่างก็ยืนยันว่าเชื่อในสันติวิธีและการพูดคุยว่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่าแท้จริง แต่การแก้ไขเรื่องความแตกต่างเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา
3 ประเด็นต้องสานต่อ
สำหรับสิ่งที่จะทำต่อไป ซึ่งเป็นในระดับรายละเอียดนอกเหนือจากขั้นตอนการพูดคุยตามโรดแมพที่เริ่มจากสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ มีข้อตกลงร่วมกันในแต่ละเรื่อง และทำโรดแมพสู่สันติสุขนั้น พลเอกอักษรา บอกว่า มีเรื่องที่ต้องทำอย่างน้อย 3 ข้อ คือ
1.การพัฒนาที่ตรงตามความต้องการของพี่น้องประชาชน
2.การสร้างพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งทั้งสองฝ่าย คือ รัฐกับผู้เห็นต่างต้องร่วมกันทำอย่างเต็มที่
3.เรื่องความยุติธรรม ต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ที่ผ่านมาช่องทางตามมาตรา 21 (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) อาจจะยังมีปัญหาเรื่องขั้นตอนพอสมควร
3 เรื่องใหญ่ๆ นี้ยังเป็นความคิดของผมด้านเดียว คงต้องรอฟังฝ่ายผู้เห็นต่างด้วย แต่เรื่องทั้งหมดนี้ต้องมีคนทำต่อไป และดึงเข้ามาในสำนักเลขานุการร่วมของคณะพูดคุย เพื่อนำไปสู่การร่างสัตยาบันและกำหนดโรดแมพร่วมกัน
ประชาชนต้องสนับสนุน
พลเอกอักษรา กล่าวด้วยว่ร ยุทธศาสตร์การทำงานของผมมีอย่างเดียว คือ ประชาชนต้องอยู่ข้างผม ประชาชนต้องเห็นด้วยและให้ผมเป็นผู้แทนไปพูดคุย ผมคิดว่าต้องประสบความสำเร็จ
ผมก็บอกเขา (ผู้เห็นต่าง) ไปด้วยตั้งแต่เริ่มการพูดคุยว่า ผมเป็นตัวแทนประชาชน ผมมีข้อสังเกตช่วงกล่าวเปิดการพูดคุยครั้งแรก (open remark) ทั้งหมด 10 ข้อ ยืนยันว่าเราต้องการสันติวิธี แต่หากจะไม่สันติวิธีกับเราก็ได้ สถานการณ์ก็จะเหมือนกับที่ผ่านมา ก็จะมีสภาพอย่างที่เป็นอยู่
ยืนยันว่าเราไปคุย ไม่ได้ไปยิง ไปปาระเบิด หรือฆ่าใคร ถ้ามาเลเซียกับอินโดนีเซียเห็นด้วยกับแนวทางนี้ ทุกอย่างต้องจบแน่นอน แนวคิดเรื่องมาเลเซียไม่จริงใจ จะเอาไทยเป็น Buffer State หรือรัฐกันชนนั้น เป็นเรื่องเก่า วันนี้ไม่มีแล้ว เพราะมีภัยคุกคามที่น่ากลัวกว่าคือ ไอเอส (กลุ่มรัฐอิสลาม) ทุกประเทศในภูมิภาคนี้ต้องร่วมมือกัน
ยันคุยทางลับ-เปิดเมื่อพร้อม
ด้าน พลตรี นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (รองผอ.ศปป.5) หนึ่งในคณะพูดคุยฯ กล่าวเสริมว่า หลักการทำงานของคณะพูดคุย คือ ต้องพูดคุยทางลับไม่ใช่ทางเปิด เพราะเปิดไปมีแต่เสีย ไม่มีได้ ต้องรอให้มีข้อตกลงก่อนแล้วถึงจะเปิดได้ ตอนนี้กระบวนการยังอยู่ขั้นที่ 1 คือขั้นของการสร้งความไว้เนื้อเชื่อใจ
เราให้เกียรติเขา (หมายถึงฝ่ายผู้เห็นต่างที่ร่วมโต๊ะพูดคุย) เราไม่มีการพูดถึงชื่อของเขา และรอให้พร้อมถึงจะเปิดพร้อมกัน ถ้าไม่ทำแบบนี้แล้วเขาไปออกยูทูบ เราก็ตาย
สื่อมวลชนต้องเป็นแทร็ค 2 ต้องช่วยกันสร้างบรรยากาศให้เกิดการปรองดองและสันติให้ได้ ไม่ใช่พอคณะพูดคุยไปคุยมา ก็มาบอกตัวจริงอยู่ในพื้นที่ เสนอข่าวแบบนี้แล้วคนที่นั่งคุยอยู่กับเรารู้สึกอย่างไร
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พลเอกอักษรา เกิดผล ขณะนั่งหัวโต๊ะพูดคุยพบปะกับสื่อมวลชนที่เกาะติดปัญหาชายแดนใต้