คำวินิจฉัยของกฤษฎีกาไม่ผูกพันพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาล
ตามที่สำนักข่าวอิศรา ลงบทความว่า “ตร.” ชนะ “อดีตผู้พิพากษา” เมื่อกฤษฎีกาชี้ขาดใช้มือถือขณะรถติดไฟแดงผิดกฎหมาย เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๘ ซึ่งลงข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าตกใจมากในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
กระผมขอชี้แจ้งโตแย้งความเห็นของสำนักงานกฤษฎีกา ดังนี้
๑. เรื่อง อำนาจหน้าที่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีหน้าที่และอำนาจ ให้ความเห็นทางกฎหมายในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาหรือไม่
ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๕๒๒
มาตรา ๗ คณะกรรมการกฤษฎีกามีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) จัดทำร่างกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีหรือมติของคณะรัฐมนตรี
(๒) รับปรึกษาให้ความเห็นทางกฎหมายแก่หน่วยงานของรัฐหรือตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีหือมติของคณะรัฐมนตรี
(๓) เสนอความเห็นและข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการให้มีกฎหมาย หรือแก้ไขปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย
ซึ่งตามกฎหมายมาตรา ๗ นี้ หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงเป็นการให้ความเห็นเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น มิได้มีหน้าที่ให้ความเห็นในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาแต่ประการใด ซึ่งความเห็นของกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้นเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นต้นซึ่งบุคคลที่มีหน้าที่ในกระบวนยุติธรรมทางอาญา มีอยู่ ๓ ส่วน คือ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาล ดังนั้น หน่วยงานอื่นจะให้ความเห็นในทางคดีอาญาไม่ได้
สำนักงานอัยการสูงสุด มีหน้าที่และอำนาจในการ ให้คำปรึกษา และตรวจร่างสัญญาให้แก่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา ๒๓ (๒) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓ แต่ไม่รวมถึงการให้คำปรึกษาในคดีอาญา ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (กรมตำรวจ) กระทรวงมหาดไทย และพนักงานอัยการ เคยขอหารือข้อกฎหมายในการดำเนินคดีอาญามายังสำนักงานอัยการสูงสุด (กรมอัยการ) อยู่เนืองๆ แต่สำนักงานอัยการสูงสุดปฏิเสธการให้ความเห็นดังกล่าว เพราะจะเป็นการก้าวล่วงดุลพินิจของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ คงปล่อยให้เป็นไปตามหน้าที่และอำนาจของพนักงานสอบสนและพนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา
สำหรับประเด็นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้หารือไปยังสำนักงานกฤษฎีกา เนื่องจากอดีตผู้พิพากษาท่านหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นในสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะรถจอดติดสัญญาณไฟแดง โดยเห็นว่าไม่เป็นความผิด ตามมาตรา ๔๓ แห่ง พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ เนื่องจากความหมายตามพจนานุกรม คำว่า “การขับขี่” หมายความว่า สามารถังคับเครื่องยนต์ให้ยานพาหนะเคลื่อนที่ไปได้ โดยอ้างว่าขณะรถติดสัญญาณไฟแดงรถไม่ได้เคลื่อนที่ จึงก่อให้เกิดปัญหาความเคลือบแคลงในทางกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เห็นว่า ผู้ขับขี่รถ ถือว่าเป็นบุคคลผู้ใช้ทางเดินรถ มีหน้าทีต้องปฏิบัติตามกฎหมายทั้งที่เป็นข้อห้ามและข้อปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ มิใช่ตีความตามพจนานุกรม กรณีการจอดรถในขณะติดสัญญาณไฟแดง ยังถือว่าผู้ขับขี่ ต้องควบคุมรถอยู่ตามกฎหมายจราจร และพร้อมที่จะขับเคลื่อนต่อไปเมื่อมีสัญญาณไฟเขียว ผู้ขับขี่จำเป็นต้องมีสติและสมาธิตลอดเวลาในการใช้มือทั้งสองข้างควบคุมรถ จึงหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๔) พิจารณา ดังนี้
๑. ประเด็นแรก ความหมายของการขับรถและการหยุดรถตามสัญญาณจราจรไฟสีแดง อยู่ในความหมายของการขับรถหรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.จราจร ทางบกฯ กำหนดให้ผู้ขับขี่ซึ่งขวบคุมรถรถอยู่ในทางเดินรถจะต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจร ซึ่งรวมถึงการหยุดรถเพื่อรอสัญญาณไฟจราจรด้วย ดังนั้น การหยุดรถเพื่อรอสัญญาณไฟจราจร จึงเป็นเพียงการปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจรเท่านั้น โดยผู้ขับขี่ยังต้องควบคุมรถและปฏิบัติตามสัญญาณจราจรไฟสีแดงดังกล่าว จึงยังอยู่ในความหมาของการขับรถ
๒. ข้อยกเว้นในการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับรถ ตามที่บัญญัติไว้ใน (๙) ของมาตรา ๔๓
มาตรา ๔๓ พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ บัญญัติห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถในกรณีต่างๆ เช่น ขับรถในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ ขับรถในขณะเมาสุรา ขับรถในลักษณะกีดขวางการจราจร ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว ฯลฯ รวมทั้งในมาตรา ๔๓ (๙) กำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่ในขณะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องใช้มือถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งหากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อห้ามดังกล่าว ก็จะต้องได้รับโทษโดนปรับตั้งแต่ ๔๐๐ บาท ถึง ๑,๐๐๐ บาท ทั้งนี้ เนื่องจากการที่ผู้ขับขี่ถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะขับรถทำให้ผู้ขับขี่ต้องควบคุมการจับพวงมาลัยด้วยมือเพียงข้างเดียว ซึ่งมีโอกาสที่ผู้ขับขี่จะเสียการควบคมและการบังคับรถได้ อันส่งผลให้ประสิทธิภาพในการขับรถลดลง และอาจทำให้เกิดการกีดขวางทางจราจร หรือทำให้การจราจรติดขัด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาการจราจร และยังอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้รถ จึงกำหนดห้ามผู้ขับขี่ ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะขับรถ โดยกำหนดข้อยกเว้นไว้กรณีเดียว คือ กรณีการใช้งานโดยผ่านอุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น ฉะนั้น การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะหยุดรถตามสัญญาณจราจรไฟสีแดง โดยไม่ใช้อุปกรณ์เสริมตามข้อยกเว้นดังกล่าว จึงเป็นการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในระหว่างการขับรถ และเป็นความผิดตามมาตรา ๔๓ (๙) ซึ่งมีโทษตามมาตรา ๑๕๗ แห่ง พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒
หลักการตีความกฎหมายอาญาและการรับโทษทางอาญา คือ ต้องมีกฎหมายกำหนดให้การกระทำนั้นเป็นความผิด และการกระทำนั้นต้องมีเจตนาหรือกรณีที่กฎหมายกำหนดแม้การกระทำโดยประมาทก็ให้รับโทษ และการตีความอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัดจะขยายความมิได้
กฎหมาย พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
(๒๘) ผู้ขับขี่ หมายความว่า ผู้ขับรถ ผู้ประจำเครื่องอุปกรณ์การขนส่งตามกฎหมาย ว่าด้วยการขนส่ง ผู้ลากเข็นยานพาหนะ
จาก พ.ร.บ. จราจรทางบก มิได้ให้คำจำกัดความว่า ผู้ขับขี่ คือ ผู้ใด กรณีจึงตีความได้ตามปกติว่า ผู้ขับขี่ ก็คือ ผู้ขับรถนั่นเอง ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้โดยสามัญชนไม่ต้องตีความโดยนักกฎหมายแต่ประการใด ทั้งการที่ พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๙) ก็เนื่องจากผู้ขับขี่รถใช้โทรศัพท์เลื่อนที่ในขณะขับรถทำให้เกิดอุบัติเหตุทำให้ผู้ขับขี่เอง หรือผู้ใช้รถใช้ถนน หรือผู้อื่นแม้มิได้ใช้ทาง ไดรับความเดือดร้อนถึงแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก รัฐจึงออกกฎหมายห้ามผู้ขับขี่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะที่ขับขี่รถ เว้นแต่จะใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่ ดังการขับขี่จึงหมายถึงการขับเคลื่อนรถนั่นเอง คงมิได้หมายความถึงการหยุดรถเพื่อสัญญาณไฟแดง เพราะสัญญาณไฟแดงนั้นเป็นการบ่งบอกมิให้ผู้ที่ขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดงออกไปในทางแยก และมิได้หมายความว่ารถที่อยู่หลังทางแยกแม้สัญญาณไฟแดงหากรถยังสามารถเคลื่อนตัวได้ รถที่ได้สัญญาณไฟแดงก็สามารถขับเคลื่อนรถไปได้มิไดมีความผิดฐานฝ่าสัญญาณไฟแดงแต่ประการใด และแม้รถที่อยู่หลักทางแยกจะไดรับสัญญาณไฟเขียวแต่รถไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ผู้ขับขี่ก็ไม่ขับรถออกไปทางแยกได้ และไม่เป็นการฝ่าฝืนสัญญาณแต่ประการใด
ดังนั้น การกระทำผิด พ.ร.บ. จราจรจึงต้องดูเจตนาด้วยเช่นกัน ตามเจตนาของกฎหมายที่ออกมาห้ามมิให้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะขับรถเพราะเห็นว่าขณะขับขี่ผู้ขับขี่ต้องบังคับพวงมาลัยให้อยู่ในลักษณะที่ปลอดภัย ดังนั้น ในขณะที่จอดรถติดสัญญาณไฟแดง หรือรถจอดติดแม้จะได้ไฟเขียว ผู้ขับรถมิได้บังคับพ่วงมาลัยให้อยู่อย่างปลอดภัย การใช้โทรศัพท์มือถือขณะจอดรถรอสัญญาณไฟแดงหรือรถจอดแม้ได้รับสัญญาณไฟเขียวแต่รถไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ การใช้โทรศัพท์ดังกล่าวมิอาจก่อให้เกิดอันตรายหรืออาจก่อให้เกิดอันตรายแต่ประการใด ไมว่ากับผู้ขับขี่และผู้ร่วมใช้รถใช้ถนนแต่ประการใด การกระทำเช่นนี้ก็ไม่อาจเป็นความผิดได้ และกรณีเช่นนี้ กฎหมายจึงไม่จำเป็นต้องบัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้แต่ประการใด และจะเห็นได้ว่าเมื่อผู้ขับขี่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะที่รถจอดอยู่ และเมื่อเห็นรถข้างหน้าเคลื่อนที่ผู้ขับขี่จึงเลิกใช้โทรศัพท์และเตรียมพร้อมที่จะขับขี่รถออกไป การกระทำของผู้ขับขี่ก็ไมได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายแต่ประการใด แต่ในทางตรงกันข้ามหากรถพร้อมเคลื่อนที่แต่ผู้ขับขี่ยังคงใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ กรณีเช่นนี้จึงเป็นกาฝ่าฝืนกฎหมายแม้จะไม่เกิดอุบัติเหตุก็ตาม
ดังนั้น ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการป้องกันกันมิให้ผู้ขับขี่ขณะที่ขับขี่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อให้การควบคุมพวงมาลัยอยู่ในสภาพที่ปลอดภัย ตามลักษณะกายภาพมิต้องตีความทางกฎหมายแต่ประการใด เพราะหากกฎหมายไม่ต้องการตามลักษณะกายภาพจะต้อมีการให้คำกำจัดความไว้ให้แตกต่างจากปกติ การตีความกฎหมายจึงมิได้ใช้พจนานุกรมหรือขยายความออกไปจากที่กฎหมายกำหนด เพราะหลักการตีความกฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด และผู้ที่มิใช่พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล ซึ่งมิใช่ผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนั้นๆ ไม่อาจตีความให้คำหารือทางอาญาอันเป็นผลกระทบต่อดุลพินิจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้
อ่านประกอบ : "ตร." ชนะ "อดีตผู้พิพากษา" เมื่อกฤษฎีกาชี้ขาดใช้มือถือขณะรถติดไฟแดงผิดกม.