สหพันธ์องค์กรชุมชนตั้งกองทุนช่วยเหลือคนจนประสบภัยน้ำท่วม
ระดมชาวบ้านมั่นคงทั่วประเทศ ร่วมบริจาคช่วยเหลือคนจนเมือง-ชนบท พอช.ตั้งวอร์รูมเยียวยาฟื้นฟูเร่งด่วน สู่การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ
นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เปิดเผยศูนย์เพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ถึงวิกฤตน้ำท่วมที่เกิดขึ้นและแนวทางการเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบว่า พอช.เตรียมการรับมือทั้งในปัญหาเฉพาะหน้า และระยะยาว เป็นการทำงานร่วมกับเครือข่ายองค์กรชุมชน โดยจัดตั้งศูนย์ผู้ประสบภัย เปิดรับบริจาค สำรวจความต้องการ จัดหาและนำส่ง จัดทำเสื้อชูชีพ ฯลฯ การร่วมมือกับหน่วยงานอื่น เช่น ไทยพีบีเอส โดยประสานข้อมูลความต้องการของผู้ประสบภัย เปิดให้สถาบันฯเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวสามารถรองรับได้ประมาณ 200 คน ทั้งในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ปทุมธานี และพื้นที่ใกล้เคียง สำหรับแผนระยะยาวจัดให้มีการทำแผนการจัดการน้ำโดยชุมชนและการฟื้นฟูชุมชนหลังประสบภัยพิบัติ
“พอช.ยังสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ 5,000 ตำบล มีผู้ได้รับความเดือดร้อน 200 ตำบล เราให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาของชุมชน ซึ่งดูความต้องการเป็น 2 ระยะคือระยะเร่งด่วนเพื่อการยังชีพ ระยะที่ 2 หลังน้ำลดจะสำรวจความต้องการ จัดทีมงานข้อมูล จัดระบบข้อมูล ความต้องการ เรียงลำดับความสำคัญ การจัดหาของช่วยผู้ประสบภัย การจัดส่งของถึงผู้ประสบภัย และสรุปรายงาน อัพเดทสถานการณ์ และเรื่องงบประมาณ ในทิศจัดการภัยพิบัติน้ำโดยขบวนองค์กรชุมชนทั้งหมด” ผอ.พอช.กล่าว
นายสุเมธ นพคุณ ผู้นำชุมชนในคณะประสานงานองค์กรชุมชน จ.ลพบุรี กล่าวว่า น้ำท่วมปีนี้น้ำมากกว่าปี 38 ในจังหวัดลพบุรีมีพื้นที่เสียหายมากกว่า 2 เท่า ปริมาณน้ำยังไม่ลดลงและยังมีน้ำเพิ่มเข้ามาอีก รถจีเอ็มซีทหารเริ่มวิ่งเข้าพื้นที่ไม่ได้ หลายพื้นที่ชาวบ้านมาอาศัยบนถนนตามวัด สภาองค์กรชุมชนตำบลป่าตาลร่วมกับอบต. บ้านกุดตาดได้จัดทำศูนย์ช่วยเหลือผู้เดือดร้อนตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมาที่วิทยาลัยอาชีวะป่าหวาย เมื่อมีผู้เดือดร้อนต้องการอาหารมากขึ้น จึงย้ายมาที่มาตั้งศูนย์และทำครัวที่ม.รามคำแหงมีสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลป่าตาล และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนใน อ.ลำสนธิ อสม.และ องถิ่นสนับสนุนการทำครัว ต้องทำอาหารวันละประมาณ 2,000 กล่องมีการประสานเครือข่ายและชุมชนที่ไม่ได้รับความเสียหายเข้ามาช่วยทั้งข้าวสาร อาหารสด สิ่งที่ต้องการมากที่สุดในเวลานี้คืออาหารสด คาดว่าประมาณ 3 เดือนน้ำจึงจะลดเป็นปกติ
นายไพโรจน์ สุวรรณหงษ์ ผู้ประสานงานสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุสอช. ได้ลงเยี่ยมเยียนและช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้นในพื้นที่กว่า 30 พื้นที่ โดยได้จัดทีมงานเป็น 3 ทีมคือทีมข้อมูล ทีมปฏิบัติการที่พร้อมลงพื้นที่จำนวน 500 คน และทีมช่างจำนวน 31 ทีม การลงพื้นที่ในรอบแรกได้เห็นความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยทั้งในเมืองและชนบทเยอะมาก จึงได้จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยขอรับการสมทบจากสมาชิกบ้านมั่นคงซึ่งมีอยู่กว่า 90,000 ครัวเรือนทั่วประเทศครัวเรือนละ 30 บาท เพื่อช่วยพี่น้องทั้งเมืองชนบท นอกจากนี้สอช. ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานทรัพย์สินฯ โดยได้สนับสนุนศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่อ.ลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี ศูนย์ประสบภัยที่ จ.นครสวรรค์และจ.อุตรดิตถ์ และยังได้จัดชุดช่างอาสาลงไปช่วยซ่อมสร้างบ้านที่จ.สระบุรี นครปฐมด้วย.