‘รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล’ นิยายวิทยาศาสตร์ ยังไม่ตายไปจากสังคมไทย
“กระแสของการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ในยุคนี้ นักเขียนหลายคนบ่น เพราะคนอ่าน อ่านอะไรที่เร็ว สั้น มีแอคชั่น ดราม่า ทำให้เรื่องวรรณศิลป์ถูกลดทอนลง เขียนนิยายก็เพื่อให้คนอ่าน ถ้าไม่มีคนอ่านเลยคงถือว่าล้มเหลว”
โลกอนาคต ฐานรบอวกาศ สงครามดวงดาว พิภพวานร จักรกลอัฉริยะ หุ่นรบสังหาร ไวรัสอันตราย สายพันธุ์มฤตยู สิ่งมีชีวิตต่างดาว มิติคู่ขนาน รถไฟสายทางช้างเผือก เครื่องย้อนเวลา กายาล่องหน พลังเหนือมนุษย์ …
จินตนาการเหล่านี้ เป็นเรื่องราวเพียงส่วนหนึ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนทุกยุคสมัย ถูกร้อยเรียงผ่านอักษรบันเทิงที่รู้จักกันในชื่อ “นิยายวิทยาศาสตร์”
ในยุคเทคโนโลยีก้าวกระโดดในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจหนังสือประเภทนี้ซบเซาตามไปด้วย เมื่อนักอ่านหันไปบริโภคเสพสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีโอกาสร่วมสนทนากับผู้คร่ำหวอดในวงการนิยายวิทยาศาสตร์อย่าง ‘รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล’ นักคิด นักเขียน นักแปลอาวุโส เจ้าของนามปากกา ‘ชัยคุปต์’ มีรางวัลการันตีความฉมังอย่างรางวัลสุรินทราชา พ.ศ.2552 และรางวัลนักสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ดีเด่น พ.ศ.2538
อีกทั้ง รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ยังมีผลงานโดดเด่นทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ชีวิตอมตะ, มนุษย์สองร้อยปี, มิติคู่ขนาน, แอนโดนมีดา, สู่อนาคต 14 ล้านองศา, จากใจกลางกาแล็กซี่สู่โลก ล้วนสร้างจินตนาการเหนือความคาดหมายให้ผู้อ่านมาแล้วจากรุ่นสู่รุ่น
แม้วัยย่างเข้าสู่ 78 ปี รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ยังไม่ละทิ้งการทำงานในวงการด้วยเพราะใจรัก เขายังจดจำเรื่องราวของนิยายวิทยาศาสตร์ในยุคแรก ๆ ได้อย่างแม่นยำ
‘ชัยคุปต์’ เล่าวว่า ในสังคมไทย เริ่มต้นจากนิตยสารประเภทแผ่วิทยาศาสตร์ ลักษณ์วิทยา เป็นนิตยสารเก่าแก่ที่ตีพิมพ์เรื่องแปลนิยายวิทยาศาสตร์ และเรื่องคลาสสิคถูกแปลงเป็นท้องเรื่องแบบไทย ๆ ใช้ตัวละครแบบไทย
ส่วนยุคที่ถือว่า เป็นยุคทองของนิยายวิทยาศาสตร์แบบไทยเลยจริงๆ นั่นคือยุคของ จันตรี ศิริบุญรอด บิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ไทย ท่านเขียนงานด้วยตนเองมาแล้วมากมาย ทั้งนิตยสารวิทยาศาสตร์อัศจรรย์ อันเป็นเวทีใหญ่ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่ชื่นชอบศาสตร์แขนงนี้ อย่างไรก็ตามหลังจากคุณจันตรีจากไป วงการนิยายวิทยาศาสตร์ไทยก็ซบเซา แต่ก็ยังไม่ถึงกับตาย!!
และหากให้มองภาพกว้าง เขาบอกว่า วงการนิยายวิทยาศาสตร์ไทยปัจจุบันยังไม่เด่นเท่ากับยุคแรกๆ ที่ถึงแม้จะมีเวทีไม่มาก แต่ก็เป็นเวทีระดับใหญ่
"เดิมทีมีนิตยสารไม่กี่ฉบับที่ต้อนรับนิยายแนวนี้ แต่ยุคนี้นิตยสารแทบทุกฉบับยินดีต้อนรับ ผู้อ่านในยุคแรกจะเป็นผู้อ่านเฉพาะกลุ่ม ทั้งเยาวชน ผู้ใหญ่ และคนที่ชอบอ่านหนังสือ ปัจจุบันฐานผู้อ่านก็เปิดกว้างขึ้นมาก"
เมื่อถามว่า ทำอย่างไรจะให้นิยายวิทยาศาสตร์กลับมาคึกคักอีกครั้ง ชัยคุปต์ เห็นว่า ต้องอาศัยปัจจัยสองอย่างที่สัมพันธ์กัน นั่นคือ นักเขียน กับ สนาม อย่างบรรณาธิการ นักเขียนยุคนี้แม้จะมีผลงานได้รางวัล แต่ก็ยังทะลุเรื่องราวต่อไปไม่ได้ นิยายวิทยาศาสตร์ที่ดีต้องไม่นิ่งเรื่องความคิดแปลกใหม่ ต้องเกิดความแปลกใหม่สูง และบางทีในความคิดของบรรณาธิการอาจไม่รู้สึกถึงสิ่งนั้น
"นิยายวิทยาศาสตร์เรื่องแรก ๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่แปลกเกินไปจนคนไม่กล้าลงตีพิมพ์ พอต่อมาตอนหลังมาการเขียนแนวนี้จึงทะลุไปอีกขั้นได้"
“อยากให้เปิดโอกาสตรงนี้ให้มากๆ จะทำให้คนเขียนไม่เกร็งที่จะทำให้นิยายวิทยาศาสตร์มันแปลกไปอีกขั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงต้องยิ่งมีเวทีที่ใหญ่ๆ มีนิตยสารวิทยาศาสตร์ มีรางวัลนิยายวิทยาศาสตร์ดีเด่น”
จริงหรือไม่ นิยายแนววิทยาศาสตร์ เข้าถึงผู้อ่านได้ยากกว่านิยายทั่วๆไป ?
รศ.ดร.ชัยวัฒน์ อธิบายว่า นิยายวิทยาศาสตร์คนอาจเข้าใจว่าต้องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี อวกาศ ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นเลย เพราะเรื่องอะไรก็สามารถเป็นได้ ทั้งสืบสวนสอบสวน ลี้ลับ เวทมนตร์ แฟนตาซี เพียงแต่ต้องใส่ความเป็นวิทยาศาสตร์ ความเป็นเหตุเป็นผลเข้าไป แต่แท้จริงแล้วขึ้นอยู่กับการเขียนและการจับประเด็นว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้าถึงมากกว่า
นิยายวิทยาศาสตร์มีทั้งที่อ่านยากและอ่านสนุกตั้งแต่แรกเริ่ม เขายกตัวอย่าง หนังสือของ อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก (Sir Arthur Charles Clarke) มีจุดเด่น คือ ต้องค่อย ๆ อ่าน แรก ๆ อาจไม่ค่อยสนุก แต่พออ่านไปได้สักพักใหญ่ก็จะเริ่มติด เพราะพอจบเรื่องแล้ว ผู้อ่านมีเรื่องให้ต้องคิดต่อ
และเมื่อเปรียบเทียบก็ต่างจากหนังสือของ ไอแซค อาซิมอฟ (Isaac Asimov) ที่อ่านสนุกตั้งแต่บรรทัดแรก ภาษารวดเร็ว และงดงามเหมือนกับบทกวี
“กระแสของการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ในยุคนี้นักเขียนหลายคนบ่น เพราะคนอ่าน อ่านอะไรที่เร็ว สั้น และมีแอคชั่น ดราม่า อันเป็นเหตุทำให้เรื่องวรรณศิลป์ถูกลดทอนลง เขียนนิยายก็เพื่อให้คนอ่าน ถ้าไม่มีคนอ่านเลยคงถือว่าล้มเหลว แต่ในขณะดียวกันคนเขียนก็ควรจะมีสิ่งที่ตัวเองตั้งใจตั้งมั่นด้วยเช่นกัน” เขากล่าว
(นิตยสารวิทยาศาสตร์ Amazing Universe จักรวาลมหัศจรรย์ ฉบับที่ 3 ปี 2549 ปิดตัวลงเนื่องจากปัญหาทางการเงิน)
นักเขียนนิยายแนววิทยาศาสตร์ คาดหวังว่า ปกติแล้วสื่อสิ่งพิมพ์จะเป็นสนามใหญ่และต่อเนื่องของวงการนี้ แต่ในอนาคตน่าจะมีสื่อแขนงอื่นมาสนับสนุน อาจจะเริ่มต่อยอดไปถึงสื่อโทรทัศน์ หรือภาพยนตร์ และสื่อดิจิตอลก็เป็นอีกแรงหนึ่งในการเผยแพร่ ซึ่งขึ้นอยู่ที่ความพร้อม ความเข้าใจ และความต้องการที่จะทำ อีกทั้งปัจจัยที่จะนำไปสู่ความความสำเร็จต้องอาศัยเรื่องที่ดี พอที่จะดึงดูดคนไทยได้ มีผู้ผลิตที่อยากจะผลิตสื่อแนวนี้จริงๆ และสามารถที่จะเผยแพร่ต่อในระดับสากลได้ เพียงแต่ใครจะมาทำ และมองในส่วนตรงนี้เท่านั้นเอง
(รศ.ดร.ชัยวัฒน์ กับ เรื่องสั้น จากใจกลางกาแล็กซี่สู่โลก รวมอยู่ในเล่ม SCIENCE FICTION STORY-READER, VOL.20, HEYNE-BUCH, ค.ศ.1983 )
รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงบทบาทของนิยายวิทยาศาสตร์ คือ คำเตือน เตือนล่วงหน้าว่าอะไรอาจจะเกิดขึ้น ถ้าหากเรามีสังคมเช่นนี้ ถ้าชีวิตถูกดำเนินไปอย่างนี้ ถ้าความคิดแบบนี้ ในอนาคตโลกของเราจะเป็นอย่างไรถูกทำนายได้ด้วยเรื่องราวมากมาย
“การเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ก็เหมือนเรื่องราวของชีวิต คนเรามีชีวิตเดียวและสั้นนัก หากจะทำอะไรก็ตามต้องเริ่มจากความเข้มแข็งในตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจ ชีวิตก็มิใช่มีเพียงแค่การเขียน แต่เรื่องของสุทรีย์ก็สำคัญ ทุกอย่างล้วนแล้วเกี่ยวพันกัน ทำสิ่งที่ดีแม้จะพบกับความเหนื่อยยาก แต่ผมคิดว่า คนเราไม่มีวันตาย เพราะทำงานหนักหรอก แต่จะตายเพราะว่าทำในสิ่งที่ผิดต่างหาก “
เป็นความจริงที่ปัจจุบัน สื่อต่าง ๆ ล้วนแล้วเปิดกว้างมากกว่าครั้งเก่าก่อน ความสนใจในศาสตร์ยิ่งแตกแขนงออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่บันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์มี แต่บันเทิงคดีแนวอื่นไม่มี คือการดำรงไว้ซึ่งต้นแบบแนวความคิด และวิทยาทาน อันจุดเริ่มต้นต่อยอดสู่ความรู้ที่สามารถสร้างให้เป็นจริงได้ หลายจินตนาการในอดีตเกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน และจินตนาการในปัจจุบันอาจเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะในระยะเวลาอันไกล หรือไกลโพ้น แต่จินตนาการที่ถูกนำมาพัฒนาไม่เคยถึงจุดสิ้นสุด
นั่นคงเป็นอีกเหตุผลที่นิยายวิทยาศาสตร์ไม่เคยตายหายไปจากสังคมไทย เพราะสิ่งเหล่านี้ถูกปลูกฝั่งในความคิด ความเชื่อ และความทรงจำของทุกคนสังคมโดยที่ไม่ทันรู้ตัว ไม่ว่าต่อไปสังคมจะเกิดความเปลี่ยนแปลงเช่นไร
แต่นิยายวิทยาศาสตร์...ไม่มีวันตาย ...