วิจัยชี้ 82% เกษตรกรเมินปลูกพืชอื่นทดแทนใบยาสูบ เหตุรายได้ดี รัฐประกันราคา
วิจัยชี้เกษตรกรเกินครึ่งปลูกใบยาสูบต่อ แม้รัฐดันมาตรการคุมบุหรี่สำเร็จ ชงเป็นวาระเเห่งชาติ หนุนปลูกพืชทดเเทน สร้างรายได้มากกว่า เชื่อเเนวโน้มเป็นไปได้
เร็ว ๆ นี้ ในการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ ดร.พัชนา ใจดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.บูรพา เปิดเผยถึงผลการวิจัยความเป็นไปได้และผลกระทบการปลูกพืชทดแทนของเกษตรกรใบยาสูบภาคเหนือ โดยระบุ แหล่งผลิตใบยาสูบสำคัญของไทย มีอยู่ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์เวอร์จิเนีย และพันธุ์เบอร์เล่ย์ โดยเกษตรกรอายุเฉลี่ย 46-60 ปี มีเพียงร้อยละ 1 ที่มีอายุไม่เกิน 30 ปี และส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญในการปลูกมานานแล้ว
สำหรับเหตุผลที่เลือกปลูกใบยาสูบนั้น เกษตรกรมองว่า เป็นพืชเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลมีการประกันราคาและให้โควตา ที่สำคัญรายได้ดีกว่าการปลูกพืชชนิดอื่น ดังนั้นจึงมองว่า เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว ขณะที่มุมมองทางวิจัยเห็นว่า ใบยาสูบคือวิถีชีวิตของเกษตรกร แม้จะช่วยสร้างรายได้ แต่ก็เป็นสิ่งทำร้าย และเป็นต้นกำเนิดอบายมุข
ผู้วิจัย กล่าวอีกว่า เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบจะได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ประจำสถานีใบยาสูบเกี่ยวกับการส่งเสริมการปลูก ขณะที่โรงงานยาสูบจะช่วยสร้างเครดิตในเรื่องการซื้อสารเคมี ส่วนผลกระทบต่อเกษตรกรจะได้รับสารนิโคตินระหว่างเก็บเกี่ยว ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แต่มักมองอาการเหล่านี้เป็นเพียงเบื้องต้น และส่วนใหญ่มั่นใจว่าสุขภาพของตนเองยังแข็งแรงอยู่
สำหรับมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ เกษตรกรร้อยละ 82 ยืนยันจะปลูกใบยาสูบต่อไป เพราะรัฐบาลยังส่งเสริมผ่านคำแนะนำและประกันราคา และเป็นไปได้ยากที่จะปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน ยกเว้นสร้างรายได้เทียบเท่า แต่การจะเลิกปลูกใบยาสูบนั้นกลับมาจากเกษตรกรมีอายุมากขึ้น และสุขภาพย่ำแย่ ถึงร้อยละ 18
“เกษตรกรยังกังวลว่า ถ้ามาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบบังคับใช้ได้ผล จะส่งผลกระทบต่อต้นน้ำ ในแง่โควต้าการเพาะปลูกลดลง ปริมาณการผลิตลดลง และเกษตรกรจะลดลงไป” ดร.พัชนา กล่าว และผู้วิจัยเห็นว่า สาเหตุทำให้การปลูกใบยาสูบลงลงไม่ใช่มาจากการบังคับใช้กฎหมาย แต่มาจากไร้ผู้สืบทอดอาชีพ ซึ่งอาจเป็นแนวทางในการจำกัดพื้นที่เพาะปลูกใบยาสูบได้
ผู้วิจัยกล่าวถึงทางออกด้วยว่า ต้องอาศัย 3 ประสาน มาเป็น 3 เหลี่ยมเขยื้อนภูเขา และนักวิจัยต้องทำงานศึกษาในพื้นที่ เพื่อสุขภาพของเกษตรกรเป็นหลัก ขณะที่ภาคประชาชนต้องร่วมกันรณรงค์ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และจับมือกับภาคประชาสังคมเกื้อหนุนให้รัฐผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ สนับสนุนเกษตรกรปลูกพืชทดแทน ซึ่งเชื่อว่าจะมีแนวโน้มเป็นไปได้ แต่ต้องช่วยกันต่อไป
ด้านนางอัจฉรา อุทโยภาศ สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่า การปลูกพืชทดแทนต้องศึกษาวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ถึงความเหมาะสมของพืชที่ส่งเสริมการปลูก ทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งสำนักงานฯ มิได้ศึกษากรณีใบยาสูบ แต่จะยกกรณีข้าวขึ้นมาแทน โดยยุทธศาสตร์ข้าว ปี 2569 จะต้องลดผลผลิตจาก 37 ล้านตันข้าวเปลือก เหลือ 31 ล้านตันข้าวเปลือก หรือพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดประมาณ 77 ล้านไร่ ให้เหลือ 70 ล้านไร่
สำหรับพืชปลูกทดแทน รัฐได้ส่งเสริมการปลูกอ้อย ซึ่งเป็นพืชที่ตลาดมีความต้องการถึง 200 ล้านตัน ในปี 2569 จากปัจจุบันผลิตได้เพียง 100 ตัน หลังจากนั้นต้องศึกษาเรื่องดิน ระดับความต้องการปัจจัย การผลิตความเจริญเติบโต ความเข้ม อุณหภูมิ เพื่อจะกำหนดเขตความเหมาะสม ซึ่งกรณีข้าวจะลดต้นทุนการผลิตได้
นักวิชาการกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงยาสูบด้วยว่า ต้องศึกษาความต้องการตลาดเช่นกันว่า มีความต้องการด่างกรด น้ำ และฤดูแล้วต้องเปรียบเทียบกับพืชในตระกูลเดียวกันอย่าง มันฝรั่ง และข้าวโพด ซึ่งพบมีความใกล้เคียงกันค่อนข้างมาก อีกทั้งเป็นที่ต้องการของตลาด น่าจะเป็นพืชเป้าหมายคร่าว ๆ ก่อนที่จะมีการส่งเสริมจริงจัง แต่โดยภาพรวมต้องวิเคราะห์ข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจเลือกพืชปลูกทดแทน .
ภาพประกอบ:www.technologychaoban.com