ฟัง กอ.รมน.วิเคราะห์ "จุดอ่อน-จุดแข็ง" กลุ่มป่วนใต้และฝ่ายความมั่นคง
การประชุมเชิงปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบบูรณาการตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นเจ้าภาพเมื่อวันที่ 18-19 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อระดมความเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรบริหารใหม่แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ผ่านพ้นไปเรียบร้อยแล้ว แต่บางมิติของการประชุมยังมีความน่าสนใจและสมควรบันทึกเอาไว้
โดยเฉพาะการบรรยายของ พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ศปป.5 กอ.รมน.) ผู้ที่เกาะติดสถานการณ์ ศึกษา และร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ดับไฟใต้อย่างใกล้ชิด
เนื้อหาการบรรยายของ พล.ต.นักรบ มีหลายช่วง ตั้งแต่สถานการณ์ที่ผ่านมา สภาพปัญหาในปัจจุบัน และทิศทางแนวโน้มในอนาคต รวมทั้งบทวิเคราะห์ “จุดอ่อน-จุดแข็ง” ทั้งของฝ่ายก่อความไม่สงบ ฝ่ายความมั่นคง และจุดศูนย์ดุลของสงครามที่ปลายด้ามขวานด้วย
ย้ำแผนบันได 7 ขั้น – กอ.รมน.หยุดยั้งสำเร็จ
ช่วงเริ่มต้น พล.ต.นักรบ ทำความเข้าใจว่า กลุ่มที่สร้างสถานการณ์ขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ ได้ตกลงกันแล้วให้เรียกว่า “กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง” ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย หรือผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งล่าสุดได้ให้กระทรวงการต่างประเทศใช้คำนี้ให้ตรงกันในเอกสารภาษาอังกฤษที่ชี้แจงต่างประเทศด้วย
สำหรับแผนของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง พล.ต.นักรบ ให้ข้อมูลว่า คือแผนบันได 7 ขั้น (ดูเชิงอรรถ 1) ซึ่งเป็นหลักฐานที่ยึดได้และตรงกันหลายแห่ง ช่วงที่รู้ว่ามีแผนนี้ ฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงดำเนินการถึงขั้นที่ 6 แล้ว (ดูเชิงอรรถ 2) แต่หลังเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 กอ.รมน.ได้เริ่มเข้าไปแก้ไขปัญหา กระทั่งปี 2550 สามารถหยุดแผนนี้ได้ ทำให้ฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงต้องกลับไปเริ่มใหม่
สมาชิกป่วนใต้ 9 พัน – สกัดแนวร่วมรุ่นใหม่ไม่อยู่
พล.ต.นักรบ อธิบายข้อมูลต่อว่า จำนวนกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ณ ปัจจุบัน มียอดสมาชิก 9 พันคนเศษ อยู่ระหว่างเข้ากรรมวิธี 3,405 คน ยังไม่รู้ว่าเป็นสมาชิกระดับไหน ส่วนที่รู้แล้วแยกเป็นแกนนำ 1,041 คน ระดับปฏิบัติการ 2,010 คน และแนวร่วม 2,236 คน
ที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงดำเนินการ 3 เรื่องเพื่อให้กลุ่มนี้หมดไป คือ 1.ปรับเปลี่ยนความคิดความเชื่อ 2.บังคับใช้กฎหมาย และ 3.ดำเนินการทางยุทธวิธี มีการปะทะเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บไปไม่น้อย
ทั้งนี้ การดำเนินการทางยุทธวิธีที่ผ่านมาก็ได้ผลและทำให้กลุ่มคนเหล่านี้หมดไปได้ เพราะปีที่ผ่านๆ มาก็มีการปะทะกันเสียชีวิตเป็นร้อย แต่หมดจริงหรือไม่ เพราะฝ่ายความมั่นคงไม่สามารถคุมคนใหม่ๆ ที่เป็นคนบริสุทธิ์ไม่ให้เข้าเป็นแนวร่วมก่อเหตุรุนแรงได้
“จุดอ่อน-จุดแข็ง”กลุ่มป่วนใต้และฝ่ายความมั่นคง
พล.ต.นักรบ อธิบายอีกว่า การปฏิบัติของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมีอยู่ 5 ลักษณะ กล่าวคือ 1.ลอบยิงเจ้าหน้าที่ 2.ซุ่มโจมตีทหาร ตำรวจ อส.(อาสารักษาดินแดน) 3.ลอบยิงที่ตั้งฐานปฏิบัติการเพื่อลดเครดิตเจ้าหน้าที่ 4.วางระเบิดในย่านชุมชนเขตเมือง และ 5.ตอบโต้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติได้เปรียบ
ยุทธวิธีของฝ่ายก่อเหตุรุนแรงก็คือ หากอยู่ในช่วงที่ได้เปรียบก็จะใช้การก่อเหตุร้ายเป็นหลัก แต่หากเริ่มเสียเปรียบก็จะหันมาใช้การเมือง วิธีการจะสลับกันไปแบบนี้ ฉะนั้นฝ่ายความมั่นคงจึงต้องตรึงทั้ง 2 ด้าน คือทั้งการทหารและการเมือง เพื่อรุกไปพร้อมๆ กัน และชิงความได้เปรียมจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
พล.ต.นักรบ ประเมินว่า ความได้เปรียบของฝ่ายความมั่นคงในขณะนี้มีหลายเรื่อง ได้แก่ 1.ประชาชนเข้าใจเจ้าหน้าที่มากขึ้น 2.งานการข่าวดีขึ้น ประชาชนเริ่มแจ้งเบาะแส มีการปฏิเสธความรุนแรง จับกุมผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยก็ไม่เจอม็อบต่อต้าน 3.ควบคุมและแย่งชิงมวลชนได้มากขึ้น
“จุดศูนย์ดุลของสงครามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหมายถึงจุดที่จะนำไปสู่การแพ้ชนะ คือมวลชน ฉะนั้นถ้าประชาชนเป็นฝ่ายเรา ยังไงก็ชนะ” พล.ต.นักรบ กล่าว
รอง ผอ.ศปป.5 กอ.รมน. ระบุอีกว่า สถานการณ์เฉพาะที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นแนวทางที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงกำลังดำเนินการ คือ 1.ลอบยิง ส่วนใหญ่เกิดในเขตนอกเมือง และไม่มีการยิงเมื่อเจอกันซึ่งหน้า แต่จะเป็นการติดตามเฝ้าดูพฤติกรรมก่อนเกือบทุกครั้ง 2.ลอบวางระเบิดในเมือง และ 3.วางระเบิดเจ้าหน้าที่รัฐตามเส้นทาง
“แต่ในเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นก็ยังมีเรื่องส่วนตัว ความขัดแย้งทางการเมือง และปมเรื่องยาเสพติด ค้าของเถื่อนรวมอยู่ด้วย ไม่ใช่ก่อเหตุเพื่อแยกดินแดนเพียงอย่างเดียว“ รอง ผอ.ศปป.5 ระบุ
เล็งจัดระเบียบสื่อ-หยุดพาดหัวชมโจร
พล.ต.นักรบ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับท่าทีในอนาคตของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงก็คือ 1.พยายามก่อเหตุรุนแรงมากขึ้น 2.สื่อภาพความรุนแรงออกไปโดยผ่านสื่อแขนงต่างๆ 3.ตอบโต้การปราบปรามธุรกิจผิดกฎหมาย และ 4.ข่มขู่ให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐเกรงกลัว
“การนำเสนอข่าวของสื่อเป็นประเด็นที่ กอ.รมน.ต้องเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจ เช่น ไปใช้คำว่าโจรใต้เหิม เหมือนชมเขา ทำให้เจ้าหน้าที่ท้อ น่าจะใช้คำอื่นเพื่อสื่อความรู้สึกไปอีกด้านหนึ่งมากกว่า”
ส่วนแนวโน้มสถานการณ์นับจากนี้ไป พล.ต.นักรบ สรุปว่า การก่อเหตุรุนแรงจะสูงขึ้น และน่าจะยืดเยื้อไปถึงปลายเดือน พ.ย.เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนรัฐบาลและสับเปลี่ยนกำลัง ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลการข่าวยืนยันว่ามีการประชุมของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่เมืองใหญ่เมืองหนึ่งในตะวันออกกลาง
“องค์กรใหม่”เพื่อบูรณาการ
พล.ต.นักรบ ยังอธิบายถึงกลไกการปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมาแบ่งเป็น 3 แท่ง คือ
1.ส่วนราชการปกติ กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ในแผนพัฒนาพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบปัญหาคือโครงการที่จะทำในพื้นที่มีอยู่จริง แต่เจ้ากระทรวงไม่ได้อนุมัติงบลงไป จุดนี้จึงนำไปสู่การพิจารณาแนวทางบูรณาการการทำงาน เพราะงบแก้ปัญหาภาคใต้ของกระทรวง ทบวง กรมมีมากที่สุด ปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท เป็นโครงการที่วางรากฐานระยะยาวในพื้นที่ มุ่งผลเพื่อป้องกันไม่ให้คนไหลไปเป็นแนวร่วมผู้ก่อเหตุรุนแรง แต่ที่ผ่านมางบกลับไม่ลงไป จึงไม่มีงานเกิดขึ้นจริง
2.แท่งของ ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) เป็นเลขานุการในแผนพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับงบประมาณปีละ 1.2 พันล้านบาท
3.แท่ง กอ.รมน.ดูแลงานความมั่นคง โดย ศปป.5 งบประมาณเฉลี่ยปีละ 6,300 ล้านบาท แต่ในจำนวนนี้ 4 พันกว่าล้านบาทเป็นงบกำลังพล เบี้ยเลี้ยง มีเพียงพันกว่าล้านบาทเท่านั้นที่เป็นงบปฏิบัติการ
“ฉะนั้นจึงต้องมีนโยบายดูแลทั้ง 3 แท่งให้บูรณาการไปด้วยกัน โดยที่ยุทธศาสตร์ยังเหมือนเดิม และงานที่ทำก็ยังเหมือนเดิม เพียงแต่บูรณาการให้เป็นเอกภาพเท่านั้น โดยงานแยกเป็น 2 ส่วนคือ งานพัฒนา ได้แก่ การเมืองการปกครอง สังคมจิตวิทยา ศึกษา-กีฬา เศรษฐกิจสร้างรายได้ และงานต่างประเทศ ส่วนงานความมั่นคง ก็คือ งานด้านการข่าว รักษาความปลอดภัย ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารและกิจการพลเรือน ซึ่งทั้งหมดก็คือ 6 ยุทธศาสตร์ที่ดำเนินการอยู่นั่นเอง”
กำลังพล 6.4 หมื่นนาย – กลุ่มป่วนใต้เข้า ม.21 แค่ 4
พล.ต.นักรบ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ยอดอัตรากำลังพลของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าในปีงบประมาณ 2555 มีจำนวนทั้งสิ้น 64,752 นาย สำหรับทหารนั้น ก่อนส่งลงพื้นที่มีการฝึกพิเศษ 3-6 เดือน และมี “กองพันคู่ขนาน” หรือการจับคู่กันระหว่างกองพันที่อยู่ในพื้นที่ กับกองพันที่จะลงไปสับเปลี่ยน มีการส่งข้อมูลถึงกันตลอด ฉะนั้นงานจึงไม่มีปัญหาเรื่องงานชะงักหรือสะดุด
ส่วนสถานการณ์การบังคับใช้กฎหมาย มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ใน 33 อำเภอ ไม่รวม จ.สงขลา บังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ใน 32 อำเภอ ยกเว้น อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และไม่มี จ.สงขลา โดย 4 อำเภอของ จ.สงขลา บังคับใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ)
สำหรับ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ นั้น กำลังดำเนินกรรมวิธีตามมาตรา 21 (ดูเชิงอรรถ 3) คือส่งคำร้องไปที่ศาลแล้ว 4 คดี เพื่อให้สั่งว่าผู้ต้องหาหรือผู้หลงผิดเหล่านั้นควรเข้ารับการอบรมเป็นเวลา 6 เดือนเพื่อระงับความผิดทางอาญาหรือไม่
การปฏิบัติในปี 2555 กับองค์กรบริหารใหม่
ในตอนท้าย พล.ต.นักรบ ได้อธิบายถึงการปฏิบัติตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า รัฐบาลมอบหมายให้ กอ.รมน.เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักในการบูรณาการ ให้ ศอ.บต.จัดตั้ง "ศอ.บต.ส่วนหน้า" เป็นหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ ให้แม่ทัพภาคที่ 4 รับผิดชอบบูรณาการระดับพื้นที่ และให้ทุกส่วนราชการสนับสนุน
สำหรับองค์กรบริหารนั้น สรุปว่าไม่จัดตั้งเป็นองค์กร แต่ให้มีบอร์ด 2 ระดับ คือ คณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ นชต.รับผิดชอบระดับนโยบาย มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมี กอ.รมน.เป็นสำนักงานเลขาธิการ ส่วนระดับพื้นที่มีคณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กบชต.มี กอ.รมน.ภาค 4 รับผิดชอบ แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธาน
“เป้าหมายคือบูรณาการ เข้าใจสถานการณ์ร่วมกัน มีแผนงานเดียวกัน และแต่ละหน่วยรู้ว่างานของตนเองอยู่ตรงไหน อยู่ในยุทธศาสตร์ใด เพราะทุกหน่วยต้องเข้าใจตรงกันทั้งหมดก่อน งานจึงจะเดินไปได้” พล.ต.นักรบ สรุปปิดท้าย
-------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.ต.นักรบ ขณะกำลังบรรยายที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ เมื่อวันอังคารที่ 18 ต.ค.2554
เชิงอรรถ :
(1) แผนบันได 7 ขั้น หรือแผนปฏิวัติ 7 ขั้นตอน คือเอกสารที่หน่วยงานความมั่นคงอ้างว่ายึดได้จากบ้านของ นายมะแซ อุเซ็ง เมื่อปี พ.ศ.2546 ซึ่งต่อมา นายมะแซ ถูกทางการไทยออกหมายจับและตั้งรางวัลนำจับนับสิบล้านบาทในฐานะเป็นแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน และก่อเหตุปล้นอาวุธปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547
(2) แผนขั้นที่ 6 คือขั้นจุดดอกไม้ไฟ หมายถึงการก่อเหตุร้ายทุกรูปแบบในพื้นที่
(3) พ.ร.บ.ความมั่นคง มาตรา 21 บัญญัติว่า “ภายในเขตพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ กอ.รมน.ดำเนินการตามมาตรา 15 (คือการแก้ไขเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคง) หากปรากฏว่าผู้ใดต้องหาว่าได้กระทำความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด แต่กลับใจเข้ามอบตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนแล้ว ปรากฏว่าผู้นั้นได้กระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการเปิดโอกาสให้ผู้นั้นกลับตัวจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในการนี้ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนของผู้ต้องหานั้น พร้อมทั้งความเห็นของพนักงานสอบสวนไปให้ผู้อำนวยการ (หมายถึงผู้อำนวยการ กอ.รมน. ในที่นี้ได้แก่ ผอ.รมน.ภาค 4 หรือแม่ทัพภาคที่ 4)
ในกรณีที่ผู้อำนวยการเห็นด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวน ให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นของผู้อำนวยการให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องต่อศาล หากเห็นสมควรศาลอาจสั่งให้ส่งผู้ต้องหานั้นให้ผู้อำนวยการเพื่อเข้ารับการอบรม ณ สถานที่ที่กำหนดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือนและปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นที่ศาลกำหนดด้วยก็ได้
การดำเนินการตามวรรคสองให้ศาลสั่งได้ต่อเมื่อผู้ต้องหานั้นยินยอมเข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว
เมื่อผู้ต้องหาได้เข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดดังกล่าวแล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องผู้ต้องหานั้นเป็นอันระงับไป”