นักกฎหมาย ชี้มาตรการไล่ปิดเว็บโป๊ ไม่ทำให้ปัญหาอาชญากรรมลด
นักวิชาการด้านกฎหมาย-เพศวิถีศึกษา เผย การสั่งปิดเว็บไซต์ลามกไม่แก้ปัญหาเรื่องท้องไม่พร้อม หรือการมีเพศสัมพันธ์ที่เร็วเกินไป อีกทั้งไม่ลดปริมาณคดีข่มขืน แนะต้องสอนเพศวิถีศึกษาในโรงเรียนตั้งแต่เด็กอย่าปิดกั้น เข้มบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
เมื่อเร็วๆนี้ ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาในหัวข้อ "Cyber sex : เมื่อเรื่องเพศก้าวข้ามพรมแดน" ในงานเวทีระดับชาติว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ตของไทย โดยเป็นการร่วมมือของภาคีเครือข่ายกว่า 16 องค์กร
ดร.จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงไซเบอร์เซ็กส์ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นเรื่องที่มีมานานแล้วตั้งแต่เริ่มมีเทคโนโลยีเข้ามา ในอดีตเรื่องของเซ็กส์อาจจะเป็นเพียงรูปภาพในหนังสือ แต่เมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามามนุษย์ก็นำเทคโนโลยีมาใช้ในการเข้าถึงและเพื่อตอบสนองเรื่องทางเพศ
ทั้งนี้การใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงเรื่องเซ็กส์นั้นมีปัจจัยอยู่ 4 ประการ คือ 1.การเข้าถึงมีราคาถูกบางเว็บไซต์เข้าฟรี 2.กำหนดการสื่อสารได้ง่ายขึ้นเพียงใช้แค่กล้องโทรศัพท์มือถือก็สามารถสื่อสารกันได้แล้ว 3.พื้นที่บนอินเทอร์เน็ตคือพื้นที่เสมือนจริงที่มีเนื้อหาทุกอย่าง ซึ่งสามารถค้นหาได้ในกูเกิ้ล 4.สามารถใช้อินเทอร์เน็ตในการสร้างจินตนาการทางเพศที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ อยากจะเป็นอะไรในโลกอินเทอร์เน็ตก็ได้ ดังนั้นมนุษย์จึงนำเทคโนโลยีมาใช้ในการขับเคลื่อนให้มีเสรีภาพในการจินตนาการที่อาจจะอยู่นอกกรอบบรรทัดฐานของสังคม เนื่องจากในโลกอินเทอร์เน็ตให้เสรีภาพและให้พื้นที่ที่เปิดกว้างกว่าที่สังคมจะยอมรับได้
ด้านผศ.ดร.โทมัส กวาดามูซ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (เพศภาวะและเพศวิถี) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในสังคมมักมองว่าคนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ใช่คนที่มีเพศสภาวะ ทั้งที่เด็กอายุ 12-13 ปี มีความอยากรู้อยากเห็น บางคนมีการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง แต่ทั้งผู้ปกครองและโรงเรียนมักจะไม่สนับสนุนการอยากรู้อยากเห็นนั้นของเด็กและไม่อยากพูดถึง
"เคยทำวิจัยในประเทศไทยและเวียดนามพบว่า พ่อแม่ปฏิเสธที่คุยกับลูกเรื่องเซ็กส์ ทำให้เด็กเหล่านี้ไปที่พื้นที่ของโลกอินเทอร์เน็ต เพราะความอยากรู้อยากเห็นและนั่นไม่ใช่เรื่องผิด เด็กๆไม่รู้จะคุยกับใคร เขาก็ต้องหาพื้นที่ที่เขาจะพูดคุยในสิ่งที่อยากรู้ ส่วนงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช พบว่าในโรงเรียนห้ามสอนเพศวิถีศึกษา ห้ามมีการแจกถุงยางอนามัยในโรงเรียน และทำได้เพียงแค่บอกเด็กๆว่าอย่ามีเพศสัมพันธ์ จึงนำข้อมูลเหล่านี้มาศึกษาและพบว่า ข้อห้ามดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้การมีเพศสัมพันธ์ลดลง มิหนำซ้ำยังทำให้เพิ่มขึ้น ทั้งในเรื่องการท้องไม่พร้อม การติดเชื้อเอชไอวี"
ดร.โทมัส กล่าวด้วยว่า ม.มหิดลได้ทำวิจัยในเรื่องการคุกคามทางเพศในกรณีที่เด็กยิ่งใช้อินเทอร์เน็ตจะยิ่งมีเซ็กส์ โดยทำการสุ่มในเด็กที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี จากโรงเรียนต่างๆ ทั้งกศน. สายอาชีพ และระดับมหาวิทยาลัย ผลการวิจัยพบว่า เด็กที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตมาก จะไม่มีความเกี่ยวข้องเลยกับประสบการณ์ทางเพศ แต่สำหรับผู้ใช้มือถือตั้งแต่6ชั่วโมงขึ้นไป หรือมีSMSเกิน 21 ข้อความต่อวันจะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ และสำหรับน้องๆที่มีประสบการณ์ทางเพศมาก่อนและยิ่งใช้อินเทอร์เน็ตจะมีการใช้ถุงยางอนามัยในการปกป้องตัวเอง ดังนั้นการเล่นอินเทอร์เน็ตจึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ทางเพศ
ส่วนการจะสอนให้เด็กรู้ทันจากการไม่ถูกลวนลามทางเพศนั้น ดร.โทมัส กล่าวว่า ฝ่ายการศึกษาหรือโรงเรียนจะต้องพูดตรงๆไปเลยว่า เพศเป็นแบบนี้ เพราะจากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ประเทศที่มีนโยบายสอนเรื่องเพศศึกษาตั้งแต่เด็กตัวเล็กๆ มีแนวโน้มที่จะไม่มีเพศสัมพันธ์ หรือหากมีก็จะรู้จักป้องกันตนเอง
"การแก้ปัญหาด้วยการสั่งปิดเว็บไซต์สื่อลามกอย่างเดียวไม่พอ หรือจัดกิจกรรมพาเด็กเข้าวัดเพื่อแก้ปัญหาความจริงเรื่องเหล่านี้ทำแล้วก็ดี แต่เคยประเมินหรือไม่ว่า โรงเรียนที่พาเด็กไปวัดกับไม่ได้ไปมีความแตกต่างกันตรงไหน โรงเรียนที่ไปวัดลดการมีเพศสัมพันธ์ หรือช่วยลดปัญหาท้องไม่พร้อมได้มากกว่าหรือไม่ ไม่เคยมีการประเมินผลที่ถูกต้องเลย"
ขณะที่นายกฤษฎา แสงเจริญทรัพย์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี กล่าวถึงความพยายามที่จะให้มีการปกป้องเด็กจากสื่อลามกเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ก็มีคำถามว่า แล้วสื่อลามกที่เป็นของผู้ใหญ่นั้นจำเป็นที่จะต้องถูกปิดกั้นไปด้วยหรือไม่ กฎหมายอาญาเดิมไม่มีการแยกระหว่างสื่อลามกของเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่ล่าสุดมีกฎหมายเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าว ซึ่งล่าสุดได้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติเรียบร้อยแล้วและรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยเป็นการเพิ่มเติมนิยามเรื่องสื่อลามกเด็กเข้าไปในกฎหมายอาญา ถือเป็นครั้งแรกที่มีบทบัญญัติในเรื่องนิยามสื่อลามกในมาตรา 287 อย่างไรก็ตามเมื่อมีกฎหมายเพิ่มเติมแล้วสื่อลามกผู้ใหญ่ควรจะถูกห้ามนำเสนอ หรือจำหน่ายจ่ายแจกหรือไม่เมื่อเรื่องเซ็กส์ได้ยกระดับมาสู่โลกไซเบอร์ที่มีการปิดกั้นยาก
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.กรุงเทพธนบุรี กล่าวด้วยว่า หากมีการเปิดสังคมสื่อลามกภายใต้เงื่อนไขบางอย่างแบบเปิดเผย ให้คนเข้าดูจะมีการถกเถียงเรื่องอาชญากรรมว่าสื่อลามกส่งผลให้เกิดอาชญากรรมการข่มขืนหรือไม่ตามมา ดังนั้นหากย้อนกลับไปตอนไม่มีสื่อลามกนั้นคือไม่มีเรื่องข่มขืนเกิดขึ้นใช่หรือไม่ และก็มองสื่อประเภทนี้ว่า ไม่ดีใครดูเป็นคนเลวทราม ทั้งๆที่ไม่มีสื่อลามกอาชญากรรมข่มขืนก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ดูหนังโป๊ ภาพโป๊แล้วอยากจะข่มขืนใครทุกครั้ง ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์
นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า ปัญหาที่ผ่านมาเกิดจากคนไม่มีสำนึกยั้งคิดไม่มีการควบคุม เกิดจากการไร้จิตสำนึกและการไร้ศีลธรรม ไม่ใช่การจากการเผยแพร่สื่อลามก การจะแก้ปัญหาอาชญากรรมการข่มขืนไม่ใช่การมาตามสั่งปิดเว็บไซต์ หรือแบน แต่ต้องมีการลงโทษแบบเจ็บปวดว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่กระทำการข่มขืนไม่ต้องถึงขั้นประหารชีวิต แต่ให้ติดคุกตลอดชีวิตติดแบบจริงๆไม่มีการยกโทษสั่งจำคุกตลอดชีวิตแล้วสุดท้ายปล่อยคนเหล่านี้ให้ออกมาอีก
"ดังนั้นปัญหาการข่มขืนจะน้อยลงหรือไม่ ไม่ได้เกี่ยวกับสื่อลามกในโลกออนไลน์ แต่เป็นเพราะการไม่เกรงกลัวกฎหมายต่างหากถึงมีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่จึงจำเป็นที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง"