นักผังเมืองชี้อีก 17 ปีข้างหน้า จะมี 4 ย่านใหม่เกิดขึ้นในกทม.
นักผังเมืองเผยกรุงเทพฯ 2575 ผุด 4 ย่านใหม่ ย่านสร้างสรรค์ ย่านนานาชาติ ย่านการผลิตใหม่ และย่านอัจฉริยะ ชี้สถิติปี 52 จำนวนอาคารชุดในเขตเมืองมีปริมาณมากกว่าบ้านจัดสรรในเขตชานเมือง ชี้สถานการณ์คนกลับเข้าสู่เมือง ถึงเวลาต้องเร่งฟื้นฟูและส่งเสริมเศรษฐกิจที่มากับระบบราง
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร ร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Uddc) จัดงานนำเสนอสาธารณะกรุงเทพฯ 250:อนาคต ความหลากหลาย โอกาสของทุกคน ณ โรงละครเคแบงค์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 อาคารสยามสแควร์วัน
ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง กล่าวถึงการที่ หลายคนอาจจะจินตนาการว่า ในปี 2575 หรืออีก 17 ปีข้างหน้านี้ กรุงเทพฯจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือ กรุงเทพฯจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน และการฟื้นฟูเมืองก็ต้องเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะการฟื้นฟูเมืองคืองานแห่งศตวรรษนี้
"กรุงเทพในอดีตพัฒนาจากระบบเรือ มาสู่ราง และมาสู่ล้อ โดยระบบรางเป็นระบบที่มีการลงทุนด้านงบประมาณสูงถึง 1 ล้านล้านบาท มีสถานี 246 สถานี เป็นระยะทาง 330 กิโลเมตร ซึ่งระบบรางเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโดยมีข้อมูลสถิติในปี 2552 ว่า จำนวนยูนิตของอาคารชุดมีจำนวนแซงหน้าโครงการหมู่บ้านจัดสรรในเขตชานเมือง"ผศ.ดร.นิรมล กล่าว และว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงทำให้เมืองต้องฟื้นฟูเนื้อเมืองให้ส่งเสริมเศรษฐกิจที่มากับระบบราง เพื่อเอื้อต่อการลงทุนทางด้านสาธารณะให้กับคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง
ผศ.ดร.นิรมล กล่าวถึงกรุงเทพฯ 250 คือปีที่มีความสำคัญของการวางแผนเฉลิมฉลองกรุงเทพฯครบ 250 ปี และครบรอบ100 ปี ประชาธิปไตย ดังนั้นจึงเกิดการวางแผน 2 ระดับ คือผังแม่บทการฟื้นฟูเขตเมืองชั้นใน และการทำผังแม่บทของพื้นที่นำร่อง โดยใช้ยุทธศาสตร์สำคัญในการดำเนินโครงการด้วยการวางแผนแบบร่วมหารือ และมีการทำผลการศึกษากับชุมชน
ทั้งนี้ ในอีก 17 ปีข้างหน้า เทรนด์ของคนเมืองจะมี 3 ด้าน คือ ด้านเทคโนโลยี ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมและประชากร ที่สำคัญมีสัญญาอ่อนๆบอกว่า ในปี 2575 นั้นจะเกิดย่านใหม่ 4 ย่าน ได้แก่
1.ย่านสร้างสรรค์ที่จะได้รับการขับเคลื่อนจากกลุ่มคนในพื้นที่ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และจะเป็นพื้นที่ที่มีค่าเช่าไม่แพง
2.ย่านนานาชาติโดยจะเป็นการขับเคลื่อนใหม่และการรวมตัวของประชากรต่างด้าว
3.ย่านการผลิตใหม่ หรืออุตสาหกรรมเขียว ที่จะผสานตัวเองให้เข้ากับย่านเมืองเก่า
และ4.ย่านอัจฉริยะที่หลายรัฐบาลพยายามจะทำเพื่อเป็นการสนับสนุนทางดิจิตอล
“จุดแข็งของกรุงเทพฯ ก็คือความหลากหลาย แต่ความหลากหลายที่ผ่านมาไม่ได้มีการเชื่อมโยงจึงยังไม่เกิดพลัง ดังนั้นแนวคิดของการฟื้นฟูย่านเมืองเก่าจึงเน้นที่จะผสานความหลากหลายของเมืองให้เกิดขึ้นให้ได้ และสิ่งสำคัญของแผ่นแม่บทที่ทำขึ้นในวันนี้ต้องการจะเติมมิติที่ขาดหายของการเชื่อมโยงระหว่างย่านให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างเมืองสู่ชีวิตใหม่”
ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง กล่าวด้วยว่า แผนยุทธศาสตร์ทั้งหมดไม่ใช่ความฝันแต่เป็นสิ่งที่สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ และโครงการพัฒนากรุงเทพฯในครั้งนี้จะเป็นการพัฒนาครั้งใหญ่ของระบบผังเมือง ที่ผ่านมาผังเมืองรวมจะเป็นเรื่องของนโยบายแต่ไม่ได้กำหนดหน้าตาของพื้นที่ และนี่จะเป็นครั้งแรกของการถ่ายทอดวิสัยทัศน์มาสู่ผังยุทธศาสตร์ มีลักษณะบทบาทฟังก์ชันที่คล้ายกันและเป็นระบบ และยืนยันว่า ฝันนี้เป็นจริงได้ แม้เราจะเริ่มช้าแต่ก็ยังทัน