ถ่านหินศิวิไลซ์ ที่ไม่สะอาด
‘โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด’ กลายเป็นวาทกรรมใหม่ ที่กล่อมคนไทย ดังภาพฝันที่ถูกเนรมิตขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงของประเทศ จนชวนให้เคลิบเคลิ้มไปกับรสคำเหล่านั้น โดยลืมตื่นตระหนักว่า ความจริงแล้วเทคโนโลยีถ่านหินเป็นบ่อเกิดของมลพิษ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลกลับพยายามผลักดันก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ก็ถูกคัดค้านมาโดยตลอด เนื่องจากมีบทเรียนที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง ได้ทิ้งรอยแผล และสร้างความบอบช้ำทั้งด้านร่างกายและจิตใจแก่คนในพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ สังคมไทยจึงเกิดความไม่มั่นใจกับคำว่า โรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มากน้อยเพียงใดก็ตาม
‘สารคดีศิวิไลซ์ ไม่สะอาด’ โดย Black Sheeps ถูกถ่ายทอดออกสู่สังคม เพื่อตีแผ่ปัญหามลพิษและความทุกข์ของชาวบ้านที่เปื้อนคราบน้ำตาจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
โดยในช่วงสุดท้ายของสารคดี ได้ทิ้งคำถามอันหนักอึ้งเอาไว้ว่า สุดท้ายโรงไฟฟ้าถ่านหินควรตั้งอยู่ที่ไหน?
‘สันติ โชคชัยชำนาญกิจ’ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มจับตาพลังงาน เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงสถานการณ์การขับเคลื่อนนโยบายโรงไฟฟ้าถ่านหินปัจจุบัน โดยเฉพาะกรณีโครงการก่อสร้างใน จ.กระบี่ ว่า แม้จะมีการตั้งกรรมการเพื่อหาทางออกร่วมกันระหว่างชาวบ้านและรัฐบาล อันเป็นกรอบการพูดคุยเฉพาะในส่วนของตัวโครงการ แต่สถานการณ์ตอนนี้ เราควรกลับไปพิจารณาแผนแม่บทอย่าง ‘แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า’ (Power Development Plan : PDP) มากกว่า
เขาค้นพบว่า ประเทศไทยมีแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นมากมาย และเกินความจำเป็นอย่างเท่าตัว ดังนั้นควรพิจารณาในอนาคตข้างหน้าว่า จะมีโครงการอะไรเกิดขึ้น แล้วจำเป็นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม
ทั้งๆ ที่ ขณะนี้ไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพียงพอในช่วง 10 ปี โดยไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน!!
พร้อมกับตั้งข้อสังเกตุว่า เหตุใดโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงถูกผลักดันอย่างเร่งรีบใน จ.กระบี่ ฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก ขณะที่พื้นที่โครงการได้รับความสนใจจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เดิมนั้น ตั้งอยู่ฝั่งทะเลอ่าวไทยมาตลอด 10 ปี
...นี่คือคำถามสำคัญที่ต้องตอบมาก่อนว่า ทำไมต้องเป็นที่กระบี่ ไม่ใช่ไปเถียงกันหาทางออกเรื่องการป้องผลกระทบ
เบื้องหน้า เห็นรัฐบาลเป็นตัวผลักดันนโยบาย แต่เบื้องหลังมีมากกว่านั้น
สันติ ให้ความเห็นว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วมีความตระหนักในเรื่องเชื้อเพลิงถ่านหินมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาเรื่องโลกร้อน ปรากฏการณ์ของกลุ่มทุนที่เริ่มถอนการลงทุนในเชื้อเพลิงสกปรก ทำธุรกิจถ่านหินมีแนวโน้มถูกโยกย้ายมาประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย และอินโดนีเซีย อันเป็นช่องทางการลงทุนในกลุ่มธุรกิจของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นธุรกิจเบื้องหลัง
“อาจมีกลุ่มทุนพลังงานขนาดใหญ่ที่เป็นตัวกำหนดนโยบายให้รัฐบาลเดินตาม เพราะก่อนหน้านี้ไม่ว่าพรรคไหนๆ ก็ทำตามนโยบายแบบเดิมๆ ไม่ใช่เฉพาะด้านพลังงานเท่านั้น แต่การพัฒนาด้านอื่นๆ ก็เช่นกัน”
ส่วนผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน เขายืนยันเสียงหนักแน่นว่า เกิดขึ้นแน่ ๆ ดูจากโครงการอุตสาหกรรมในประเทศไทย การวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment:EIA) ที่ระบุว่า สามารถจัดการได้ แต่ในความจริงกลับไม่ได้เป็นอย่างที่อ้าง และปัญหาก็ไม่ถูกแก้ไข
กฟผ.จึงใช้โรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นตัวโฆษณาคำว่า “ถ่านหินสะอาด” แต่ถ่านหินลิกไนต์นั้นไม่ได้เข้าหลักเกณฑ์ของคำว่า ‘เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด’ เลยแม้แต่น้อย ประชาชนจึงมีความชอบธรรมที่จะพูดได้เต็มปากว่า “เราไม่เชื่อคุณ!”
สมาชิกกลุ่มจับตาพลังงาน ยังเปิดเผยว่า คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ [The Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC)] ซึ่งเป็นคณะนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกภายใต้สหประชาชาติ [United Nations (UN)] ออกรายงานระบุถึงปัญหาสภาวะโลกร้อนในปัจจุบันว่า เข้าขั้นวิกฤตแล้ว และทั่วโลกต้องช่วยกันลดการใช้ฟอสซิลตั้งแต่ตอนนี้
“ตัวเลขระบุมนุษย์สามารถนำเชื้อเพลิงฟอสซิลขึ้นมาใช้อีก 20 % ส่วนอีก 80 % ห้ามนำมาใช้ ไม่เช่นนั้นแล้วจะเป็นเรื่องยากเกินกว่าที่เราจะฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาได้” สันติ กล่าว และชี้ชัดว่า สิ่งที่ถ่านหินสะอาดไม่ได้ถูกกล่าวถึง คือ เป็นสาเหตุของสภาวะโลกร้อน สร้างคาร์บอนไดออกไซด์และกลายมาเป็นปัญหาของโลก และในอนาคต
ส่วนแนวทางที่ประเทศไทยมองข้าม สันติ ระบุว่า ประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกหันไปใช้พลังงานหมุนเวียน แม้ไทยจะอ้างมีมูลค่าสูงและไม่เสถียร แต่ในเยอรมันได้มีนโยบายระดับชาติจะใช้พลังงานหมุนเวียน 100 % ในอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่ใช้เรื่องเพ้อฝัน จึงการันตีอย่างหนึ่งว่า เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนกำลังพัฒนาไปรวดเร็ว ขณะที่เชื้อเพลิงแบบเดิมอย่าง ‘ถ่านหิน’ หรือ ‘พลังนิวเคลียร์’ กลับมีแนวโน้มมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ เราต้องลงทุนให้มีการใช้พลังงานลดลง ขณะที่ได้ประโยชน์เท่าเดิม ซึ่งเป็นการลงทุนที่ถูกกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่หลายเท่าตัว
“เรื่องดังกล่าวมีความซับซ้อนในตัว การเข้าใจปัญหาจริงๆ จึงเป็นเรื่องยาก ข้อมูลที่คนส่วนใหญ่ในประเทศได้รับ มักจะมาจากฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มธุรกิจพลังงานที่สามารถลงทุนเพื่อป้อนข้อมูลอันไม่เป็นความจริง และนำไปสู่การครอบงำคนทั้งประเทศ” เขาทิ้งท้าย
หลากพลังร่วมกันนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง ยังไม่สายที่เราจะเริ่มต้น เริ่มด้วยการตั้งคำถาม ถามถึงวิถีชีวิตรอบตัวเรา ในอนาคตเราต้องการให้ประเทศของเราเป็นแบบใด? ขณะที่ความเป็นเมืองกำลังเติบโตขึ้นด้วยการสูบพลังงานมาจากทุกจังหวัดศ เราต้องการอะไร ? ต้องการความศิวิไลซ์ หรือต้องการรักษาไว้ซึ่งชีวิตและลมหายใจของทุกสรรพสิ่ง
ตั้งคำถาม อันเป็นสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนทุกคนสมควรได้รับการรับฟัง ได้รับคำตอบ ได้รับการช่วยเหลือ และได้รับ...ความจริง .
ภาพประกอบจาก : www.greenpeace.org