ครม.ชงมาตรการแก้ภัยแล้ง หางานให้ปชช.-สร้างความสามัคคีคนในพื้นที่
ครม.ชงมาตรการแก้ภัยแล้ง สร้างงานให้ประชาชน-ฟื้นฟูช่วยเหลือเกษตรกรที่รับผลกระทบ-ส่งเสริมอาชีพเตรียมแก้ไขผลกระทบภัยธรรมชาติระยะยาว ยันให้คำนึงถึงความเป็นธรรม-สร้างความสามัคคีคนในพื้นที่-แก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติเห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อยจากภัยแล้ง ประกอบด้วย
1.การแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน ได้แก่ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปล่อยน้ำจากเขื่อน การรณรงค์เพื่อช่วยกันประหยัดน้ำ และการบริจาคและจัดหาน้ำดื่ม
2.การดำเนินโครงการตามแผนบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ การกำหนดให้ภัยแล้งเป็นวาระแห่งชาติ การจัดทำแผนงานโครงการระยะที่ 1-3 และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูก และมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอ
นอกจากนี้ยังมีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีต่อไป ดังนี้ ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้ง ควรจัดให้มี
1.มาตรการด้านการสร้างงานเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้
2.มาตรการด้านการฟื้นฟูและช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
3.มาตรการด้านการปรับโครงสร้างการผลิต การส่งเสริมอาชีพและการเตรียมการแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านภัยธรรมชาติในระยะยาว
และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันรับผิดชอบในการดำเนินการกำหนดแนวทางและวิธีการตามมาตรการดังกล่าว โดยให้คำนึงถึงความเป็นธรรมของประชาชนแต่ละกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน การสร้างความสามัคคีของประชาชนในพื้นที่ และการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบต่อไปด้วย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2558 พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกรัฐบาล แถลงต่อสื่อมวลชนกรณีภัยแล้ง ระบุว่า คณะรัฐมนตรีมีมติขยายระยะเวลาเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการสร้างรายได้และพัฒนาเกษตรแบบชุมชนบรรเทาภัยแล้งไปถึงสิ้นเดือน ส.ค. เดิมเมื่อต้นเดือน ม.ค. 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้มีโครงการสร้างรายได้ฯ เพื่อบรรเทาภัยแล้งโดยมีพื้นที่เป้าหมายจำนวน 3,052 ตำบล 58 จังหวัด ระยะเวลาในการดำเนินการตั้งแต่ ก.พ.58-มิ.ย.58 แต่ดำเนินงานไม่ทันจึงมีมติให้ขยายระยะเวลาออกไปเป็นสิ้นเดือน ส.ค. โดยมีวงเงินให้ตำบลละ 1 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการจ้างงาน จัดเตรียมแหล่งน้ำในพื้นที่ การซ่อมแซมถนน ขุดลอกคูคลองโดยให้ชุมชนเป็นผู้คิดงานโดยคำปรึกษาของกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า มีการรายงานว่าเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมาได้มีการตรวจสอบความคืบหน้าของโครงการซึ่งพบว่ามีทั้งสิ้น 6,958 โครงการ ใช้วงเงินประมาณ 3 พันล้านบาท ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 5,425 โครงการ คงเหลืออีกประมาณ 1 พันกว่าโครงการที่ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ ซึ่งความล้าช้าเกิดจากฝนตกในบางพื้นที่ การปรับรูปแบบการก่อสร้าง การขุดลอก การซ่อมแซมถนน ทำให้โครงการที่เหลือต้องยืดระยะเวลาออกไปและคงทำไม่เสร็จทันภายในสิ้นเดือนก.ค. จึงขอขยายระยะเวลาออกไป
“โครงการนี้ได้มีการเบิกจ่ายงบประมาณแล้ว 2,700 ล้านบาท ยังเหลือที่เบิกจ่ายไม่แล้วเสร็จอีกประมาณ 221 ล้านบาท ครม.จึงมีมติให้งบส่วนที่เหลือ ซึ่งคณะการบริหารโครงการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ จะต้องติดตามโครงการที่เหลือในพื้นที่เพื่อให้ดำเนินการให้ทันเวลาตามที่ขอขยายระยะเวลาออกไป และขอให้มีการรายงานไปยังคณะกรรมการบริหารโครงการในระดับกระทรวงด้วย ซึ่งประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าวนั้น มีจำนวน 9 แสนราย และจะทำให้ชุมชนเกษตรมีส่วนร่วมในพัฒนาการเกษตรเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับชุมชนได้ด้วยตัวเอง ครม.จึงมีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาโครงการฯ ออกไป” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว