นักประวัติศาสตร์คาดอนาคตบุหรี่จะหายจากโลก เหตุมนุษย์ฉลาดขึ้น
เวทีอภิปรายเผยจำเป็นดัน กม.ยาสูบฉบับใหม่ หวังคุ้มครองเด็กตัดจากวงจรธุรกิจบุหรี่ ‘นพ.ประกิต’ ยอมรับไทยลดจำนวนผู้สูบช้า อีก 30 ปี ไม่มีทางได้ 5% เหมือนประเทศอื่น ระบุนักประวัติศาสตร์คาดอนาคตบุหรี่จะหายไปจากโลก
วันที่ 28 กรกฎาคม 2558 ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ จัดเวทีอภิปราย เรื่อง สถานการณ์ความสูญเสียต่อสุขภาพของยาสูบ...ความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายยาสูบฉบับใหม่ ในงานการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 27-29 กรกฎาคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ
นายจิรวัฒน์ อยู่สบาย กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการจัดทำร่างกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบ ระบุถึงเหตุผลต้องยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ...เพื่อมุ่งเน้นความสำคัญของเยาวชน ซึ่งเป็นต้นทุนในอนาคตของประเทศ ไม่ให้กลับมาอยู่ในวงจรลูกค้าธุรกิจเหล่านี้ และปกป้องคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชนที่ไม่สูบบุหรี่จากควัน รวมถึงปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับปัญหาสังคม ภายใต้กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก
“การปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาดังกล่าวไม่ถือสุดโต่ง เพราะไทยยึดตามมาตรฐานภาคีสมาชิก 180 ประเทศทั่วโลก โดยเนื้อหาร้อยละ 80 เป็นเรื่องเดิม มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ที่มีการเปลี่ยนแปลง” กรรมการและเลขานุการ คกก.จัดทำร่างฯ กล่าว และว่าร่างกฎหมายอาจเป็นกลายเป็นมาตรการหรือยาแรงไปกระตุกกลไกต่าง ๆ ภาคธุรกิจถูกลดทอนกำไร ทำให้ต้องออกมาวิ่งเต้นหรือคัดค้าน
ทั้งนี้ สิ่งที่มีการปรับแก้ นายจิรวัฒน์ ยกตัวอย่าง มีการขยายนิยามผลิตภัณฑ์ยาสูบ จากเดิมใบยาสูบ ให้ครอบคลุมสินค้าที่มีส่วนผสมของสารนิโคตินอย่างบารากู่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้มีกรอบในการควบคุมกว้างขึ้น กำหนดให้ผู้ซื้อบุหรี่ได้ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี จากเดิมไม่ต่ำกว่า 18 ปี และห้ามจำหน่ายหรือสูบในสถานศึกษา สถานพยาบาล ศาสนสถาน หรือพื้นที่พักผ่อนของคนทั่วไป เช่น สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวนสนุก เป็นต้น
ประเด็นสำคัญ คือ มาตรการคุ้มครองเด็ก กรณีแบ่งซองขายบุหรี่ ซึ่งมักมีคำถามว่า สธ.กำลังออกกฎหมายขัดกับนโยบายหรือไม่ ในแง่การแบ่งซองเล็ก ๆ ช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ได้ ซึ่งความจริงเด็กอายุ 15-18 ปี ที่สูบบุหรี่ พบร้อยละ 88.3 เข้าถึงได้ด้วยการแบ่งซองขาย ดังนั้นการเพิ่มมาตรการจะช่วยป้องกันทางหนึ่ง ที่สำคัญ 97 ประเทศทั่วโลกบังคับใช้กฎหมายนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น เมียนมาร์ ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคอาเซียน
“การดำเนินงานควบคุมยาสูบจะสำเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะแม้มีมาตรการควบคุมสวยหรูแค่ไหน หากไม่มีการบังคับใช้อย่างเต็มที่ก็จะเป็นปัญหา ดังนั้นการเพิ่มกลไกคณะกรรมการระดับจังหวัด จะช่วยขับเคลื่อนภายใต้กลไกที่สอดรับกับสิ่งที่มีอยู่ได้ภายใต้กรอบนโยบายได้” กรรมการและเลขานุการ คกก.จัดทำร่างฯ
ด้านศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า หลายประเทศมีอัตราการสูบบุหรี่ของเพศชายต่ำกว่าร้อยละ 5 แต่ไทยอยู่ที่ร้อยละ 40.5 และลดอัตราการสูบได้เพียงร้อยละ 0.7 ต่อปี ดังนั้น อีก 30 ปี ข้างหน้า ไทยก็ไม่มีทางไปถึงร้อยละ 5 แน่นอน เพราะมีสัดส่วนการลดช้ามาก ประกอบกับ 5 ปี หลังสุด ไม่มีการลดลงเลย
ทั้งนี้ นักประวัติศาสตร์ต่างคาดการณ์ว่า ในอนาคตบุหรี่จะหายไปจากโลก เพราะมนุษย์ฉลาดขึ้น โดยอังกฤษพบคนจบปริญญาตรีมีเพียง 1 ใน 10 คน สูบบุหรี่ แต่คนขายแรงงานกลับมี 1 ใน 3 คน สูบบุหรี่ เพราะฉะนั้นความรู้เป็นสิ่งสำคัญ และจะว่าไปบุหรี่นับเป็นสินค้าถูกกฎหมายชนิดเดียวที่ฆ่าผู้บริโภคตามที่ผู้ผลิตแนะนำ ยืนยันไม่เคยมีสินค้าใดเป็นแบบนี้ เเละเชื่อว่ารุ่นหลานหลังจากนี้อาจจะมีการผลักดันกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในประเทศก็ได้
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ยังอ้างถึงบทให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่โต้ตอบสมาคมการค้ายาสูบไทย ที่ระบุว่า เด็กเสพติดบุหรี่ เพราะเพื่อนและพ่อแม่ ทั้งที่บริษัทบุหรี่ไม่เคยใส่ใจผู้บริโภค และยังโยนความผิดให้อีก หากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องผลิตขึ้นเพื่อเสพติดจริง เหตุใดต้องเติมสารต่าง ๆ เข้าไปเพิ่ม เช่น เมทอลเพิ่มความเย็น น้ำตาลเพิ่มความหอม ลดการระคายเคือง แอมโมเนีย สูดเข้าไปขึ้นสมองเร็วขึ้น แต่งกลิ่นรส เพิ่มความหอม เป็นต้น หากไม่มีการออกแบบลักษณะนี้ เด็กคงไม่เสพติด
นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวเสริมถึงแนวทางปฏิบัติลดอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2568 ค่อนข้างตอบยาก แต่สิ่งที่ไทยทำได้ดีตอนนี้ คือ การพัฒนาแคมเปญ โดยเฉพาะในโรงเรียน หรือโรงพยาบาล หากพบผู้สูบบุหรี่มักจะโดนประณาม หยามเหยียด ดังนั้นมาตรฐานจึงเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนกฎหมายที่มีการผลักดันนั้นเป็นเชิงเทคนิค และยอมรับว่า หลายคนยังไม่เข้าใจถึงประโยชน์จะได้รับ
ขณะที่นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ แกนนำเครือข่ายยุวทัศน์ กรุงเทพฯ ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฉบับใหม่เป็นกลไกหนึ่งทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงบุหรี่น้อยลง แต่ต้องมีการควบคุมอย่างจริงจัง เนื่องจากปัจจุบันยังพบเห็นร้านสะดวกซื้อหลายแห่งจำหน่ายบุหรี่ให้เด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยไม่มีการตรวจบัตรประชาชน ดังนั้นมาตรการที่จริงจังยังไม่เกิดขึ้น .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:ร่าง กม.บุหรี่ใหม่ อยู่ขั้นกฤษฎีกา ‘นพ.รัชตะ’ มั่นใจบังคับใช้ทันรัฐบาลประยุทธ์