สธ.แนะสมุนไพรฝาดรักษาน้ำกัดเท้า-กรมป้องกันภัยฯ ชี้วิธีเอาตัวรอดจากสัตว์พิษ
กรมแพทย์แผนไทย แนะใช้สมุนไพรรสฝาดที่หาง่ายในครัวเรือน เช่น ขมิ้นชัน เปลือกมังคุดแห้ง กระเทียม ใบบัวบก รักษาน้ำกัดเท้าโรคฮิตช่วงน้ำท่วม ปภ.เตือนภัยสัตว์มีพิษหลบน้ำ แนะจัดข้าวของในบ้านให้เป็นระเบียบ โรยปูนขาว แต่งกายมิดชิด
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ น้ำเริ่มเน่าเหม็นมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นที่มาของโรคน้ำกัดเท้า ซึ่งเป็นโรคที่พบมากอันดับ 1 ในทุกจังหวัด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งจะเกิดแผลเปื่อยได้ง่าย ทั้งนี้มีสมุนไพรหลายชนิดในครัวเรือนที่อาจนำมาใช้ดูแลรักษาตนเองเบื้องต้นได้ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรช่วงน้ำท่วม
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า โรคน้ำกัดเท้าระยะแรกนั้นยังไม่มีการติดเชื้อรา ผู้ป่วยจะมีอาการระคายเคือง คัน แสบบริเวณง่ามนิ้ว จึงควรใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านอักเสบ เช่น ขมิ้นชัน ไพล ใบพญายอ หรือใบว่านมหากาฬ โดยล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด พอกแผล เพื่อบรรเทาอาการ สมุนไพรที่นิยมใช้รักษาโรคน้ำกัดเท้ามักเป็นสมุนไพรที่มีรสฝาด เนื่องจากมีสารแทนนินมาก มีฤทธิ์ช่วยรักษาแผลน้ำกัดเท้าได้ เช่น เปลือกมังคุดแห้ง โดยนำมาฝนกับน้ำหรือน้ำปูนใสให้ข้นพอควร ทาแผลน้ำกัดเท้าวันละ 2-3 ครั้ง หรือใช้สารส้มสะตุที่ได้จากการนำสารส้มไปตั้งไฟให้ร้อนจนกลายเป็นผงขาวฟู ทาบริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้ง อาจใช้เดี่ยวๆหรือผสมกับดินสอพองสะตุครึ่งต่อครึ่งก่อนทา
นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อว่า กรณีที่เกิดการติดเชื้อราที่ง่ามเท้า แนะให้ใช้สมุนไพรท้องถิ่นที่มีสรรพคุณต้านเชื้อรา เช่น ใบต้นเทียนบ้าน ใบชุมเห็ดเทศ ใบทองพันชั่ง ข่า 1 กำมือ นำมาตำพอกหรือทาบริเวณที่เป็นวันละ 3-4 ครั้ง ติดต่อกันทุกวัน หรือใช้กระเทียม ซึ่งมีฤทธิ์ดีในการฆ่าเชื้อรา ทั้งนี้ในการรักษาโรคผิวหนังจากเชื้อรานั้น แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้ว แต่แผลจะยังมีเชื้อราอยู่ จึงต้องทาหรือพอกยาต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อกำจัดเชื้อราให้หมดไป และต้องระวังอย่าให้เท้าอับชื้นหรือโดนน้ำสกปรกอีกในระหว่างการรักษา
สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ต้องระวังไม่ให้เป็นแผลที่เท้า เพราะรักษาให้หายยาก แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้ใช้สมุนไพรข้างต้นรักษาโรคน้ำกัดเท้า หรืออาจใช้ขมิ้นชันผง หรือขมิ้นชันแคปซูลโรยที่แผล เพื่อให้หายเร็วขึ้น และขอแนะนำให้ดื่มน้ำใบบัวบกคั้นร่วมด้วย โดยดื่มต่างน้ำวันละ 4-5 แก้ว โดยงานวิจัยของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่าเมื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้า รับประทานสารสกัดบัวบกจะช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น เพราะสารสำคัญในบัวบก ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดสะดวกในการใช้มากกว่าการตำพอก และลดความเสี่ยงในการนำเชื้อโรคเข้าแผลหากล้างไม่สะอาด แต่ถ้ามีครีมบัวบกที่เป็นยาใช้ภายนอกตามบัญชียาหลักแห่งชาติ จะใช้ครีมบัวบกทาแผลร่วมด้วยก็ได้
ด้าน นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่าผู้ประสบอุทกภัยมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากสัตว์มีพิษที่มากับน้ำ เช่น งู ตะขาบ ปลิง แมงป่อง ซึ่งมักหนีน้ำท่วมขึ้นมาอาศัยตามบ้านเรือนหรือในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยจึงควรจัดเก็บสิ่งของและเครื่องใช้ภายในบ้านให้เป็นระเบียบ โดยเฉพาะบริเวณใต้ตู้ รองเท้า เสื่อ ที่สัตว์มีพิษมักหลบซ่อนอยู่ นอกจากนี้ควรอุดรูหรือช่องทางต่างๆที่สัตว์สามารถเข้ามาได้ เช่น ท่อน้ำทิ้งอ่างล้างจาน ท่อระบายน้ำในห้องน้ำ ขอบประตูหน้าต่าง
ส่วนบ้านใดที่น้ำยังท่วมไม่ถึงควรโรยปูนขาวล้อมรอบบ้าน จะช่วยป้องกันสัตว์มีพิษไม่ให้เข้ามาในบ้านได้ แต่กรณีที่น้ำเข้าท่วมบ้านแล้ว ให้ใช้น้ำมันก๊าดราดบริเวณรอบ จะทำให้สัตว์ไม่เข้ามาอาศัยอยู่ พร้อมเตรียมยาฆ่าแมลงไว้ฉีดพ่นไว้ด้วย
กรณีเดินลุยน้ำท่วม ควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่มิดชิด สวมใส่เสื้อแขนยาว และกางเกงขายาว พร้อมนำถุงพลาสติกหุ้มเท้าทับปลายขากางเกงแล้วรัดด้วยเชือกหรือยาง เพื่อป้องกันปลิงเข้าในกางเกงขณะอยู่ในน้ำ นอกจากนี้ในขณะเดินลุยน้ำควรใช้ไม้เขี่ยหรือกระทุ้งน้ำให้น้ำกระจาย เพื่อช่วยให้สัตว์ตกใจและหนีไปได้
“หากโดนปลิงดูด ห้ามใช้มือหรืออุปกรณ์ต่างๆ มาคีบหรือดึงปลิงออก เพราะจะทำให้แผลฉีกขาดและเลือดหยุดยาก แต่ควรใช้น้ำมะนาว น้ำมะกรูด น้ำเกลือเข้มข้น น้ำแช่ยาฉุนหรือยาเส้นไส้บุหรี่ราดลงบนตัวปลิง จะทำให้ปลิงหลุดออกโดยง่าย จากนั้นให้รีบล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ แอลกอฮอล์ หรือน้ำต้มสุก พร้อมพบแพทย์ทันที” อธิบดี ปภ. กล่าว
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th