ฟ้อง104ผู้ต้องหาค้ามนุษย์ไม่ช่วย สหรัฐคงไทยเทียร์ 3 ปัดโยงการเมือง
ประเทศไทยถูกจัดอันดับในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2558 ของสหรัฐอเมริกา ให้อยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 หรือ เทียร์ 3 (Tier 3) เหมือนเดิม ตามการเปิดเผยของทางการสหรัฐ เมื่อค่ำวันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม 2558 ตามเวลาในประเทศไทย
มะกันปัดโยงการเมือง
สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ออกคำแถลงเรื่องนี้ว่า รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2558 ซึ่งประเทศไทยยังคงอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 นั้น ครอบคลุมความพยายามต่อต้านการค้ามนุษย์ของรัฐบาลประเทศต่างๆ ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2557 ถึง 31 มีนาคม 2558 แม้ไทยได้ดำเนินมาตรการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์และการประสานงานระหว่างหน่วยงานการปราบปรามการค้ามนุษย์ แต่ในช่วงเวลาของการทำรายงาน ไทยไม่ได้ดำเนินการที่จำเป็นอย่างเพียงพอที่จะบรรลุผลความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ยากลำบากนี้ การจัดระดับประเทศในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์พิจารณาจากการประเมินบันทึกการดำเนินการปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยไม่ได้คำนึงถึงบริบททางการเมืองของประเทศนั้นๆ
แต่สหรัฐยังคงสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่รัฐของไทยดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นในการปราบปรามการค้ามนุษย์ตลอดช่วงการทำรายงานฉบับปี 2559 และตลอดไป เราขอสนับสนุนให้รัฐบาลไทยใช้กรอบกฎหมายที่ปรับปรุงแก้ไข ตลอดจนแนวทางการแก้ปัญหาโดยรวมของรัฐบาลเพื่อขยายความพยายามเชิงรุกอย่างต่อเนื่องในการระบุตัวเหยื่อการค้ามนุษย์ที่ถูกบังคับใช้แรงงานและเพื่อธุรกิจทางเพศออกจากกลุ่มประชากรที่อ่อนแอทั้งหลาย รวมทั้งให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม
นอกจากนี้ เราขอให้รัฐบาลไทยเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนรู้เห็นในการค้ามนุษย์ โดยดำเนินการสืบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด รวมถึงผู้บังคับใช้แรงงานในเรือประมงหรือผู้ก่ออาชญากรรมการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ
ทั้งนี้ เราชื่นชมที่นับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2558 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยได้ยกระดับความพยายามในการปราบปรามการค้ามนุษย์ และพยายามในการสร้างหน่วยงานพิเศษภายใต้การกำกับดูแลของศาลอาญาเพื่อพิจารณาคดีค้ามนุษย์และจับกุมบุคคลจำนวนมากที่อาจมีส่วนร่วมก่ออาชญากรรมการค้ามนุษย์และละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ กับแรงงานข้ามชาติในภาคใต้ของไทย
รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของปีหน้าจะครอบคลุมการดำเนินการหลังวันที่ 31 มีนาคม 2558 ตลอดปีหน้านี้ สหรัฐคาดว่าจะดำเนินความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐกับไทย ทั้งในประเทศไทยและบนเวทีระหว่างประเทศว่าด้วยประเด็นสำคัญนี้ สหรัฐยังคงมอบความช่วยเหลือทางวิชาการเฉพาะด้านตามที่รัฐบาลไทยร้องขอในด้านการสืบสวนและดำเนินคดีปราบปรามการค้ามนุษย์ อีกทั้งให้การสนับสนุนเพื่อสร้างเสริมศักยภาพของสถาบันด้านการบังคับใช้กฎหมายและหลักนิติธรรม ซึ่งรวมถึงโครงการฝึกอบรมร่วมระดับภูมิภาคผ่านสถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่กรุงเทพมหานคร และสหรัฐยังคงร่วมมือกับฝ่ายบังคับใช้กฎหมายของไทยจัดการคดีการค้าเด็กเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศเหมือนเช่นปีที่ผ่านมา ตลอดจนสนับสนุนองค์กรในท้องถิ่นและองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยและทางการท้องถิ่นเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์และช่วยเหลือเหยื่อ
สั่งฟ้อง "พลโทมนัส" พร้อมพวก 104 คน...ไม่ช่วย
ปลายสัปดาห์ที่แล้วมีความคืบหน้าคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นข่าวครึกโครมช่วง 2 เดือนก่อน โดยอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้อง พลโทมนัส คงแป้น และพวกรวม104 คน ในข้อหาค้ามนุษย์ และข้อหาอื่นรวม 16 ข้อหา พร้อมส่งตัวผู้ต้องหาชุดแรก 72 รายยื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดนาทวีแล้ว โดยทั้งหมดไม่ได้รับการประกันตัว
ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมคณะ ได้ร่วมกันแถลงข่าวการสั่งคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา
นายวันชัย กล่าวว่า ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินคดีผู้กระทำความผิดในคดีค้ามนุษย์ โดยมีผู้ต้องหาทั้งหมด 120 คน เสียชีวิตไป 1 คน เหลือ 119 คนนั้น อัยการสูงสุดได้ออกคำสั่งฟ้อง 104 คน โดยพนักงานอัยการสำนักงานอัยการจังหวัดนาทวี จังหวัดสงขลา ได้ยื่นฟ้อง พลโทมนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก และพวกรวม 72 รายไปก่อน โดยไม่มีใครได้ประกันตัว ส่วนอีก 47 คนยังตามตัวไม่ได้ มีทั้งคนไทย คนเมียนมาร์ คนบังคลาเทศ
สำหรับในกลุ่ม 47 คนนี้ อัยการออกคำสั่งฟ้องไป 32 คน แต่ทั้งหมดยังหลบหนีอยู่ จึงได้ให้อัยการเจ้าของสำนวนสั่งตำรวจไปเอาตัวมาฟ้อง ถ้าหนีไปต่างประเทศก็ให้ขอตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนมา ที่เหลืออีก 15 คน อัยการเห็นว่าการสอบสวนยังไม่สามารถสั่งคดีได้ จึงให้ตำรวจไปสอบสวนเพิ่มเติม
พลโทมนัส กับพวกรวม 72 คน อัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนาทวี เป็นจำเลยในความผิดตาม พระราชบัญญํติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 และความผิดอื่นรวม 16 ข้อหา เช่น ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์การอาชญากรรมข้ามชาติ ตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 เป็นต้น
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : แผนที่จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2015 ของสหรัฐ ในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกฝั่งตะวันออก สีเขียว หมายถึง เทียร์ 1 สีเหลือง หมายถึง เทียร์ 2 สีส้ม หมายถึง เทียร์ 2 วอทช์ลิสต์ และสีแดง หมายถึง เทียร์ 3 จะเห็นได้ว่าประเทศในภูมิภาคนี้มีเพียงไทยกับเกาหลีเหนือเท่านั้นที่ติดอยู่ใน เทียร์ 3